เอเอฟพี/MGR Online - พิพิธภัณฑ์อังกฤษเปิดให้ชมฟรีภาพวาดจำนวน 103 ภาพ ของ "คะสึชิกะ โฮะกุไซ" ศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่เคยสูญหายไป ผ่านช่องทางออนไลน์ ระบุเป็นภาพที่วาดประกอบหนังสือตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แต่ไม่ถูกตีพิมพ์ ชี้มีความสำคัญเพราะถูกรังสรรค์ขึ้นในช่วงบั้นปลาย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์บริติช หรือ บริติช มิวเซียม หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมนุษยที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า ทางพิพิธภัณฑ์ได้ครอบครองภาพวาดที่เคยสูญหายไปของ คะสึชิกะ โฮะกุไซ (葛飾北斎; 1760-1849) ศิลปินระดับปรมาจารย์ของญี่ปุ่น จำนวน 103 ภาพ ซึ่งวาดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19
โฮะกุไซ เป็นศิลปินดังสมัยเอะโดะและถือเป็นศิลปินชาวญี่ปุ่นที่มีชาวต่างชาติรู้จักกว้างขวางญี่ปุ่น โดยผลงานที่โด่งดังระดับโลกคือ ภาพพิมพ์แกะไม้ที่ชื่อ “หลังคลื่นที่เงื้อมทะเลคะนะงะวะ” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Great Wave off Kanagawa
ภาพวาดขาวดำซึ่งถูกวาดขึ้นในปี 2372 (ค.ศ.1829) ขณะที่โฮะกุไซอายุได้ 70 ปี ถูกเขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นภาพประกอบหนังสือแต่กลับไม่ได้ถูกตีพิมพ์ โดยในปีที่แล้ว (2562) ภาพวาดชุดดังกล่าวปรากฎขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่ถูกประมูลซื้อไปโดยนักสะสมเมื่อปี 2491 (ค.ศ.1948)
สำหรับพิพิธภัณฑ์บริติชซึ่งถือว่าเป็นสถาบันแห่งหนึ่งที่สะสมงานของโฮะกุไซไว้มากที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า งานชุดนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะถูกผลิตมาในช่วงที่ศิลปินอย่างโฮะกุไซค่อนข้างผลิตผลงานใหม่ ๆ ออกมาน้อย อันเนื่องมาจากผลกระทบเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว
ภาพวาดในชุดนี้เกี่ยวพันกับเรื่องราวทางศาสนา ประวัติศาสตร์ และตำนานของญี่ปุ่น รวมไปถึงผลงานเก่า ๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของโฮะกุไซ เช่น การครุ่นคิดถึงต้นกำเนิดของวัฒนธรรมมนุษย์ในมุมมองโบราณของชาวจีน
"งานเหลานี้ถือเป็นการค้นพบใหม่อีกครั้ง ที่ช่วยขยายความเข้าใจของเราต่อกิจกรรมของศิลปินในห้วงเวลาสำคัญของชีวิต และการผลิตผลงาน" ทิม คลาก นักวิจัยกิตติมศักดิ์ของพิพิธภัณฑ์บริติชระบุ "ทั้ง 103 ชิ้น ล้วนผนวกจินตนาการ เข้ากับนวัตกรรม และฝีแปรงของโฮะกุไซในช่วงบั้นปลาย ถือว่าเป็นเรื่องน่าดีใจที่ภาพเหล่านี้สามารถสร้างความสุขให้กับผู้ที่รักงานของโฮะกุไซทั่วโลกได้"
อนึ่งพิพิธภัณฑ์บริติชเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถชมงานทั้ง 103 ชิ้น ของศิลปินระดับปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่น ได้ผ่านช่องทางโลกออนไลน์ >> คลิก < โดยภาพเหล่านี้จะถูกนำมาจัดแสดงให้ชมฟรีอีกครั้งในอนาคต