ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
เย็นวันศุกร์ ร้านสหกรณ์ใกล้จะปิด ผมวิ่งลงจากชั้น 5 เพราะลิฟต์ที่มหาวิทยาลัยช้ามาก วิ่งค่อนข้างเร็วทีเดียว แต่พอจะสวนกับนักศึกษา ก็ชะลอลงนิด สงวนท่าสุขุมไว้หน่อย รีบเพราะกลัวจะไปไม่ทันซื้อแฟ้มกับสมุดเพื่อเตรียมตัวไปประชุมวิชาการที่เกาหลีใต้ ด้วยตระหนักว่าไปงานแบบนี้ควรหาอุปกรณ์ไปจัดระเบียบเอกสารและจดอะไรเสียหน่อย
พอก้าวเข้าร้านก็นึกได้ว่า อืม...ไม่ได้ซื้อสมุดมาหลายปีแล้ว ระยะหลังๆ นี่จะจดอะไรก็ใช้แต่กระดาษ A4 เข้าร้านวันนี้ได้ของดีที่เมื่อหลายปีก่อนไม่เคยรู้ว่ามันมีความลุ่มลึกซ่อนอยู่ ตอนนี้คว้าขึ้นมาทันทีที่เห็นเพราะรู้แล้วว่ามีที่มาอย่างไร แฟ้มกับสมุดที่อยู่ในมือทำให้เกิดความรู้สึกที่ชวนให้นึกถึงเมื่อสมัยที่ซื้อเทปคริสติน่า อากีล่าร์อัลบั้มนินจาเมื่อ 20 กว่าปีก่อน คือตื่นเต้นอยากรีบแกะออกมาดูและเปิดฟัง ต่างกันตรงที่ว่าแฟ้มกับสมุดนี่ไม่มีเสียงและควรจะปิดมันไว้ เพราะลายมันอยู่ที่หน้าปก
ได้มาแล้ว แต่ถ้าเล่าให้ใครฟัง คนฟังอาจนึกว่าแค่สมุดกับแฟ้ม...จะอะไรกันนักหนา?
ถ้าเป็นสมุดทั่วไป ผมก็คงไม่นักไม่หนาอะไร สิ่งที่เป็นจุดขายมากกว่าเนื้อในคือลายบนปกนั่นเอง จำได้ว่าเมื่อนานมาแล้วเคยซื้อแฟ้มลายนี้มาใช้โดยที่ไม่ได้รู้ภูมิหลังใดๆ เกี่ยวกับลาย เห็นรูปคลื่นสีฟ้าสีน้ำเงินสะดุดตา ไปไหนๆ ก็ได้เห็นภาพนี้ปรากฏบนสินค้าบ้าง บนป้ายโฆษณาบ้าง จนเจนตา ตอนนั้นเข้าใจว่าคงเป็นสัญลักษณ์อะไรอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น จึงซื้อแฟ้มลายนี้มาใช้ เมื่อเวลาผ่านไป แฟ้มก็ยับและเยิน จึงได้เวลาโยนทิ้ง พอแฟ้มจากไป ถึงได้มารู้ในภายหลังว่าลายค
คลื่นโดดเด่นบนแฟ้มคือภาพของญี่ปุ่นที่ดังระดับโลก ภาษาอังกฤษตั้งชื่อเรียกว่า The Great Wave off Kanagawa (แปลว่า “มหาคลื่นนอกคะนะงะวะ”)
แฟ้มเก่าไม่อยู่แล้ว คราวนี้ได้แฟ้มใหม่ลายเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือสมุดและความรู้เกี่ยวกับลาย ความรู้สึกในฐานะผู้ใช้ตอนนี้คือภูมิใจ เพราะมันคือความคลาสสิก ความน่าสนใจ ความแพร่หลาย ตลอดจนประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น เมื่อรู้แล้วทำให้ใช้อย่างทะนุถนอมและพร้อมที่จะเล่าให้ใคร ๆ ฟังว่าภาพนี้มีความหมาย
ชื่อภาษาญี่ปุ่นของภาพนี้ คือ “คะนะงะวะโอะกิ นะมิ อุระ” (神奈川沖浪裏; Kanagawa oki nami ura) แปลว่า “หลังคลื่นที่เงื้อมทะเลคะนะงะวะ” นี่ไม่ใช่ภาพเขียน แต่เป็นภาพพิมพ์ และเป็นภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น เรียกว่า “อุกิโยะเอะ” (浮世絵;ukiyo-e) ซึ่งเป็นศิลปะที่นิยมผลิตกันมากในสมัยเอะโดะ (江戸;Edo; พ.ศ. 2143 - 2411) ผู้สร้างสรรค์คือคะสึชิกะ โฮะกุไซ (Katsushika Hokusai; 葛飾北斎 ; พ.ศ. 2303 - 2392) ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น คำว่า “คะนะงะวะโอะกิ” หมายถึง พื้นที่ทะเลที่ห่างจากริมชายฝั่งของจังหวัดคะนะงะวะออกไปลิบ ๆ (ผมเรียกสั้น ๆ ว่าเงื้อมทะเลคะนะงะวะ) ส่วน “นะมิอุระ” คือ หลังคลื่น หลายคนเข้าใจผิดคิดว่านี่คือภาพคลื่นสึนามิ สาเหตุอาจมาจากชื่อภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า The Great Wave ซึ่งจริงๆ แล้วในชื่อภาษาญี่ปุ่นระบุไว้แค่ “นะมิ” หรือ “คลื่น” ไม่มีคำว่า “คลื่นสึนามิ” ภาพมีขนาดประมาณ 26 x 38 เซนติเมตร
สิ่งที่สะดุดตาที่สุดในภาพคงเป็นคลื่นที่ม้วนตัว ผมก็มองเห็นแต่คลื่นม้วนๆ ลูกนั้นมาหลายปี ไม่ได้สังเกตอย่างอื่น จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อนั่งเพลินๆ แล้วกวาดตามองจนทั่ว ถึงได้เห็นว่ามีภูเขาทางด้านหลังด้วย นั่นคือภูเขาฟุจิ เมื่อมองละเอียดลงไปอีก จะเห็นว่ามีเรืออยู่ 3 ลำ และมีคนอยู่ในเรือ ภาพนี้พิมพ์เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1830 – 1833 เป็นภาพหนึ่งในชุด “สามสิบหกทัศนียภาพภูเขาฟุจิ” หรือ “ฟุงะกุ ซันจู รกเก” (富嶽三十六景; Fugaku sanjūrokkei) คำว่า “ฟุงะกุ” คือชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของ “ฟุจิซัง” หรือ “ภูเขาฟุจิ”
กล่าวได้ว่านี่คือผลงานของโฮะกุไซที่แพร่หลายที่สุดในโลก และเป็นภาพจากญี่ปุ่นที่รู้จักกันกว้างขวางที่สุดในโลกตะวันตกมาตั้งแต่อดีต นอกจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียวแล้ว ภาพนี้ก็มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ดัง ๆ หลายแห่งของโลกด้วย ทั้งในอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส
ทาง BBC ได้ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum) ผลิตรายการด้านประวัติศาสตร์โดยใช้ชื่อว่า A History of the World in 100 Objects จำนวน 100 ตอน ออกอากาศเมื่อปี 2553 ได้รับความนิยมและคำชื่นชมอย่างสูง หนึ่งในตอนที่นำเสนอคือ Hokusai’s The Great Wave ซึ่งเป็นการหยิบยกผลงานนี้ขึ้นมาอธิบายเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
(รายการตอนนี้ยังสามารถรับฟังได้ http://www.bbc.co.uk/radio/player/b00v72n6 [ภาษาอังกฤษ] )
คนฝั่งตะวันตกมองว่าผลงานนี้สะท้อนภาพของญี่ปุ่นในยุคนั้นได้ดี โดยตีความว่าคลื่นที่กำลังปั่นป่วนบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับญี่ปุ่น เรือลำน้อยกับผู้คนบนนั้นกำลังเผชิญความผันผวน และ พยายามจะฝ่าฟันไปให้ได้
จากเนื้อหาภาษาอังกฤษในรายการของ BBC สรุปการตีความโดยสังเขปได้ดังนี้ คือ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเคยปิดประเทศราว 200 ปี อันที่จริงก็ปิดไม่ทั้งหมด แต่เปิดให้ชาวดัตช์และจีนค้าขายกับญี่ปุ่นได้บ้าง โดยจำกัดสถานที่ไว้ที่นางาซากิ ให้เข้าออกผ่านทางเดะจิมะซึ่งเป็นเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้น โลกตะวันตกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น ประเทศที่แข็งแกร่งในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอังกฤษและอเมริกา พยายามแสวงหาตลาดและวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ การแผ่อิทธิพลลามมาถึงญี่ปุ่น จนในที่สุดญี่ปุ่นจำต้องเปิดประเทศ โฮะกุไซเองก็คงรู้สึกได้ถึงบรรยากาศช่วงนั้น และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพพิมพ์
เมื่อมองในภาพที่มีขนาดเล็กกว่ากระดาษ A3 นี้ จะเห็นเฉดสีอ่อนจางเป็นสีเหลือง เทา และชมพู แต่โดยรวมแล้วสีที่ทรงพลังที่สุดคือสีน้ำเงิน ดูเด่นสะดุดตากว่าปกติ นี่ไม่ใช่สีน้ำเงินแบบญี่ปุ่น แต่เป็นสีน้ำเงินเปอร์เซียหรือน้ำเงินเบอร์ลิน ซึ่งได้รับการนำเข้ามายังญี่ปุ่น อาจจะโดยตรงผ่านทางพ่อค้าดัตช์ หรือผ่านจีน ศิลปะการถ่ายทอดมุมมองในภาพนี้ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก สันนิษฐานได้ว่าโฮะกุไซศึกษาศิลปะของตะวันตกและนำมาบรรจุลงในผลงานของตน ซึ่งได้แก่การทำให้ภาพภูเขาฟุจิอยู่ในระยะไกล จึงถือว่าเป็นงานที่มีการผสมผสานองค์ประกอบของญี่ปุ่นกับของตะวันตกเข้าด้วยกัน BBC แสดงทัศนะว่า “จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพนี้เป็นที่ชื่นชอบอย่างยิ่งในยุโรป เพราะนี่คือผลงานจากแดนอื่นในเชิงเทียบเคียง ไม่ใช่ผลงานแปลกหน้าไปเสียทั้งหมด” และตีความต่อไปอีกว่า นัยของภาพนี้คือ ญี่ปุ่นไร้ที่ยืนอันมั่นคง แต่กำลังถูกกระแสโลกซัดสาดอย่างหนัก ตกอยู่ในคลื่นใหญ่ ตกอยู่ในอันตราย
ปี ค.ศ.1853 และ 1854 พลเรือจัตวาแมตทิว เพร์รี (Commodore Matthew Perry) จากสหรัฐอเมริกาคุมเรือมาบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ญี่ปุ่นจึงเข้าสู่กลไกของกระแสโลก ภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นแพร่ออกไปสู่โลกตะวันตก และเป็นที่ชื่นชอบของศิลปินหลายคน รวมทั้ง ฟินเซนต์ วิลเลิม ฟัน โคค (แวนโก๊ะ; ดัตช์) และโกลด มอแน (ฝรั่งเศส) บัดนี้ศิลปินญี่ปุ่นผู้ได้รับอิทธิพลจากภาพของยุโรปกลับกลายเป็นผู้ส่งอิทธิพลต่องานของศิลปินยุโรป
ผมฟังรายการของ BBC จนจบแล้ว จึงได้รู้ที่มาของภาพนี้หลังจากที่คุ้นตามานานหลายปี และคราวนี้ได้ซื้อแฟ้มกับสมุดลายคลื่นมาไว้ในครอบครองด้วยความรู้สึกที่ต่างไปจากครั้งแรก
ต่อมาก็ได้ฟังอีกรายการหนึ่งเกี่ยวกับภาพนี้เป็นภาษาไทย เป็นที่น่ายินดีที่ผู้ผลิตรายการทางญี่ปุ่นได้เลือกงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมานำเสนอเช่นกัน NHK World Radio Japan ภาคภาษาไทย (ซึ่งผมเป็นผู้ดำเนินรายการคนหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำรายการตอนนี้) จัดทำรายการโดยใช้ชื่อตอนว่า “คลื่นมหึมานอกชายฝั่งคะนะงะวะโดยคะสึชิกะ โฮะคุไซ” และออกอากาศเมื่อต้นปี 2558 จากเนื้อหารายการ พบว่ามุมมองทางฝั่งญี่ปุ่นคล้ายคลึงกับฝั่งตะวันตก แต่นำเสนอรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการลงลึกว่าด้วยภูมิหลังของผลงานและทัศนะของคนทั่วไปที่ได้ชม
(รายการตอนนี้ยังสามารถรับฟังได้ http://www.nhk.or.jp/japan-art/th/archives/150122/ [ภาษาไทย] )
แล้วผมก็จะถือแฟ้มกับสมุดลายคลื่นญี่ปุ่นไปเกาหลีใต้ด้วยความทะนุถนอม พร้อมกับความอิ่มใจและภูมิใจว่านี่ไม่ใช่ ‘ภาพงั้นๆ’ แต่เป็นภาพเชื่อมโลกสองฝั่งที่โด่งดังและมีความเป็นอินเตอร์มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว
สำหรับท่านที่คิดว่าเพิ่งเคยเห็นภาพนี้ ลองนึกดูดีๆ และดูภาพเหล่านี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่ง แล้วจะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนได้อิทธิพลจากภาพ “หลังคลื่นที่เงื้อมทะเลคะนะงะวะ” ทั้งสิ้น
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th