xs
xsm
sm
md
lg

ปรมาจารย์การ์ตูนญี่ปุ่น กับ ภาพร่าง “โฮะกุไซมังงะ”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ญี่ปุ่นเป็นเจ้าแห่ง “มังงะ” หรือ “การ์ตูน” ซึ่งแพร่หลายไปทั่วโลก ปัจจุบันภาษาญี่ปุ่นคำว่า “มังงะ” เป็นที่เข้าใจตามนั้นมากขึ้นโดยไม่ต้องแปลแล้ว ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยก็ใช้ทับศัพท์อยู่บ่อย ๆ นัยร่วมสมัยของ “มังงะ” คือ การ์ตูนที่นำเสนอเรื่องราว คำเดียวกันนี้ปรากฏในชื่อผลงาน “โฮะกุไซมังงะ” ซึ่งเป็นงานศิลป์ที่รู้จักกันในระดับโลกมาไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีความหมายเหมือน “มังงะ” ที่มีเนื้อหาต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวอย่างในขณะนี้

“โฮะกุไซมังงะ” (北斎漫画;Hokusai-manga) เป็นชื่อหนังสือชุดซึ่งแปลว่า “ภาพร่างต้นแบบของโฮะกุไซ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เอะเดะฮง” (絵手本;E-dehon) หรือพูดง่าย ๆ คือ “ภาพสเกตช์” เป็นหนังสือรวมภาพที่ไม่ได้มีคำบรรยายโดยละเอียดหรือบทสนทนาใด ๆ คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นผลงานทรงคุณค่าระดับตำนาน และบางส่วนได้ส่งอิทธิพลมาสู่การวาดการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน ผู้สร้างสรรค์คือ คะสึชิกะ โฮะกุไซ (葛飾北斎; Katsushika Hokusai; 1760-1849) ผลงานชุดนี้จึงได้ชื่อตามนั้น โฮะกุไซเกิดที่เอะโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ในย่านซุมิดะ อายุยืนยาวถึง 90 ปี เป็นคนที่มีอุปนิสัยแปลก ๆ อารมณ์ร้อน ชอบสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้อื่น ซึ่งสะท้อนออกมาในผลงานหลายชิ้น
Katsushika Hokusai
ครั้งแรกที่ผมเห็นโฮะกุไซมังงะคือเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนตอนไปเดินในย่านจิมโบโช ซึ่งเป็นแหล่งขายหนังสือเก่าใจกลางกรุงโตเกียว ตอนนั้นไม่รู้ว่าโฮะกุไซวาดผลงานแบบนี้ไว้ด้วย พอเห็นทีแรกก็สะดุดตาทันที แม้เป็นลายเส้นโบราณ แต่ดูมีเสน่ห์มาก ทั้งรูปสัตว์ พืชพรรณ บ้านเรือน และโดยเฉพาะรูปคน การแสดงท่าทางกับสีหน้านั้นทำให้ผู้ดูยิ้มออกได้ง่าย ๆ และชวนให้เก็บสะสม แต่น่าเสียดาย ตอนนั้นได้แต่ดูเพราะไม่มีเงินพอจะซื้อ มาวันนี้เมื่อซื้อหามาได้สำเร็จ ก็ไม่อยากจะเก็บไว้ดูหรือรู้อยู่คนเดียว จึงอยากจะนำมาบางส่วนแบ่งปันกัน อีกทั้งปีนี้ที่เมืองไทยก็มีนิทรรศการเกี่ยวกับโฮะกุไซโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น ถือว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ชื่นชอบศิลปะที่จะได้สัมผัสผลงานของโฮะกุไซมากขึ้น

โฮะกุไซเป็นจิตรกรญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงเป็นอมตะ เป็นศิลปินดังสมัยเอะโดะด้วยงานที่สร้างสรรค์ไว้มากมายโดยเฉพาะภาพพิมพ์แกะไม้ ผลงานมีความหลากหลายมาก ทั้งภาพทิวทัศน์ ภาพคน ภาพผี หรือภาพตลก ๆ ก็มีไม่น้อย ในระดับนานาชาติโฮะกุไซคือศิลปินญี่ปุ่นที่คนต่างชาติรู้จักมากที่สุด มีผลงานเด่น ๆ แพร่หลายอยู่ไม่น้อย รวมทั้งโฮะกุไซมังงะ และภาพพิมพ์แกะไม้ที่ชื่อ “หลังคลื่นที่เงื้อมทะเลคะนะงะวะ” ภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Great Wave off Kanagawa (มหาคลื่นนอกคะนะงะวะ) (https://mgronline.com/japan/detail/9580000116705)
ภาพ The Great Wave off Kanagawa
โฮะกุไซมังงะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างระหว่างการเดินทางของโฮะกุไซ ตอนอายุ 53 ปี โฮะกุไซไปภูมิภาคคันไซ (แถบนครเกียวโต โอซะกะ) โดยแวะที่นะโงะยะ และได้รู้จักกับจิตรกรคนหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นลูกศิษย์ โฮะกุไซพักที่บ้านของลูกศิษย์ผู้นี้ระยะหนึ่ง และร่างภาพไว้ 300 กว่าภาพ ในนั้นมีภาพร่างเบื้องต้น ตลอดจนภาพหน้าคนหลายอารมณ์หลากอากัปกิริยา อันนับว่าเป็นต้นแบบให้แก่ศิลปินยุคต่อมาและเป็นต้นกำเนิดของมังงะสมัยใหม่

หลังจากนั้น 2 ปี สำนักพิมพ์ในนะโงะยะได้รวบรวมภาพเหล่านั้นตีพิมพ์ออกมาเป็น “โฮะกุไซมังงะ” เมื่อ พ.ศ. 2357 ภาพส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ประมาณ 3-4 เซนติเมตร แต่ก็มีบางภาพที่กินพื้นที่เต็มหน้าเดี่ยวหรือหน้าคู่ โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ หนังสือสูง 23 ซม. กว้าง 16 ซม.

ทีแรกไม่มีใครคาดคิดว่าจะโด่งดังขายดี แผนการผลิตจึงมีแค่เล่มเดียว แต่ปรากฏว่าเป็นที่นิยมมาก ดังนั้น จากนะโงะยะจึงเริ่มมีการเผยแพร่ในเอะโดะด้วย แล้วก็ติดตลาดเช่นกัน จึงตีพิมพ์ออกมาอีกรวมทั้งสิ้น 15 เล่มระหว่าง พ.ศ. 2357-2421 โดยมีลำดับการพิมพ์ดังนี้คือ หลังจากพิมพ์เล่มแรกในนะโงะยะแล้ว 9 เล่มถัดมาพิมพ์ในเอะโดะอย่างต่อเนื่อง เล่ม 2-3 ออกในปี 2358, เล่ม 4-5 ปี 2359, เล่ม 6-7 ปี 2360, เล่ม 8-10 ปี 2361-2362 จากนั้นเว้นไปประมาณ 10 ปี แต่ด้วยกระแสเรียกร้องจากผู้ตีพิมพ์ จึงมีออกมาอีก 5 เล่ม ในจำนวนนี้ 3 เล่มสุดท้ายเป็นการตีพิมพ์หลังการถึงแก่กรรมของโฮะกุไซ รวมแล้วกลายเป็นสารานุกรมภาพชั้นดี มีเกือบ 4,000 ภาพ
โฮะกุไซมังงะ 15 เล่ม
โฮะกุไซมังงะเป็นที่รู้จักในยุโรปมานานแล้ว ตอนนั้นคงด้วยความบังเอิญ ประมาณกลางทศวรรษ 1850 เฟลีซ บราเคอมงด์ (Félix Bracquemond) ศิลปินชาวฝรั่งเศส พบกระดาษที่ใช้ห่อสินค้าเครื่องปั้นดินเผาส่งออกจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกระดาษตีพิมพ์โฮะกุไซมังงะ เมื่อได้เห็นภาพก็รู้สึกสะดุดตากับผลงานและเกิดความประทับใจ ต่อมาจึงเกิด “กระแสนิยมศิลปะญี่ปุ่น” ในยุโรป ซึ่งทำให้ชื่อของโฮะกุไซแพร่หลายในยุโรป จนมีศิลปินชื่อดังของโลกหลายคนได้รับอิทธิพลจากผลงานของโฮะกุไซ รวมทั้งโกลด มอแน และฟินเซนต์ ฟัน โคค (แวน โก๊ะ) ซีบ็อลท์แพทย์ชาวเยอรมันที่นำการแพทย์แผนใหม่มาสู่ญี่ปุ่นในสมัยเอะโดะ ก็นำภาพของโฮะกุไซมังงะไปใช้เป็นภาพประกอบในหนังสือ NIPPON (ญี่ปุ่น) ของตนเพื่อแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่นด้วย
หนังสือ Nippon
ภาพที่ได้รับอิทธิจากโฮะกุไซมังงะ
ลักษณะเด่นของโฮะกุไซมังงะ คือ เป็นภาพร่างเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและวัตถุใกล้ตัว เช่น คนในท่าทางต่าง ๆ สัตว์สารพัดชนิดรวมทั้งงูและแมลง เครื่องมือเครื่องใช้อย่างจาน ถังน้ำ หรือหาบ ภาพธรรมชาติ เช่น ภูเขา ทะเล และภาพการดำเนินชีวิตชนิดที่เรียกได้ว่า ‘บ้าน ๆ’ อย่างการหาบของขาย การเดินทาง การทำอาหาร มีบ้างที่เป็นภาพในจินตนาการ เช่น ภาพภูตผีปีศาจ

ผลงานของโฮะกุไซไม่เพียงแต่เป็นมรดกของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่กลายเป็นมรดกของโลกด้วย ในพิพิธภัณฑ์ดัง ๆ ของโลกหลายแห่งก็มีผลงานของโฮะกุไซจัดแสดง อันที่จริงศิลปะอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำคัญชีวิตคน แต่ชีวิตมนุษย์ที่ขนาดศิลปะย่อมขาดชีวิตชีวา การหาความจรรโลงใจคือคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ในแง่นี้ถือว่าโฮะกุไซได้สร้างคุณูปการแก่ทั้งศิลปินด้วยกันและผู้ชื่นชอบงานศิลปะตะวันออกทุกคน

และเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้รักงานศิลปะ คือ พิพิธภัณฑ์โฮะกุไซซุมิดะ (The Sumida Hokusai Museum) เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2559 ที่เขตซุมิดะในกรุงโตเกียว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปชมได้โดยสะดวก อยู่ใกล้สถานีเรียวโงะกุ (領国;Ryōgoku) แน่นอนว่า นอกจากผลงานโฮะกุไซมังงะแล้ว ก็ยังมีงานศิลป์ชิ้นอื่น ๆ ของโฮะกุไซให้ชมอีกมากมาย








**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com

กำลังโหลดความคิดเห็น