รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะสร้างแบบอย่างการรับมือโรคโควิด โดยไม่ต้องชัตดาวน์เมือง ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ พร้อมประคับประคองการระบาดไม่ให้มีผู้เสียชีวิตมาก แต่ “เจแปนโมเดล” กำลังถูกท้าทายจากการจู่โจมของโควิดระลอก 2
ตั้งแต่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการชัตดาวน์ปิดเมืองเหมือนในต่างประเทศ เพียงแต่จะขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการเดินทางและออกนอกบ้านที่ไม่จำเป็น หลังจากบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีมาตรการลงโทษนานกว่า 1 เดือน ญี่ปุ่นก็ยกเลิกภาวะฉุกเฉินเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาก รองนายกฯ ทาโร อาโซ ถึงกับประกาศว่า นี่คือความสำเร็จของ “เจแปนโมเดล”
ถึงแม้ขณะนี้ ญี่ปุ่นจะเผชิญการระบาดระลอก 2 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงยิ่งกว่าช่วงประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่หันหลังกลับไปใช้มาตรการคุมเข้ม แถมยังเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลระบุว่า นี่เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นตามวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของประชาชนชาวญี่ปุ่น
“เจแปนโมเดล” ใช้มาตรการหลัก 3 ด้าน คือ ลดการติดเชื้อแบบกลุ่ม, พิทักษ์ระบบสาธารณสุข และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน
การลดการติดเชื้อแบบกลุ่ม หน่วยด้านสาธารณสุขพบว่าไวรัสโควิดมีการระบาดในสถานที่ลักษณะเฉพาะ จึงเตือนให้หลีกเลี่ยงสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท, ผู้คนหนาแน่น และติดต่อใกล้ชิดกัน สถานที่เสี่ยง 3 ลักษณะนี้ถูกยึดเป็นคัมภีร์ถึงขนาดที่รัฐมนตรีของญี่ปุ่นประกาศว่า “การท่องเที่ยวไม่ทำให้ติดโควิด ถ้าไม่ได้ไปในสถานที่ลักษณะ 3 ประการดังกล่าว”
ญี่ปุ่นปฏิเสธโมเดลของเกาหลีใต้ที่ตามหาตัวผู้ติดเชื้อโดยใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือและข้อมูลการใช้บัตรเครดิต รวมทั้งไม่ปิดเมือง ห้ามผู้คนออกนอกบ้านเหมือนในหลายประเทศ
ด้านระบบสาธารณสุข ญี่ปุ่นมั่นใจว่ามีระบบรักษาพยาบาลคุณภาพสูง แม้จะรองรับผู้ป่วยได้จำนวนน้อยก็ตาม แต่ญี่ปุ่นไม่เคยเผชิญโรคระบาดร้ายแรง เช่น ไวรัสซาร์สในจีนและไต้หวัน และไวรัสเมอร์สในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญในการรับมือภับพิบัติต่าง ๆ จึงถึงกับ “ไปไม่เป็น” เมื่อต้องเผชิญกับภัยโควิด ที่เสี่ยงจะทำให้สถานพยาบาล อุปกรณ์ รวมทั้งแพทย์พยาบาลไม่เพียงพอ
ด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน ญี่ปุ่นใช้การ “ขอร้อง” ไม่ใช่การ “บังคับ” และ “ลงโทษ” ธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราวหรือลดเวลาทำการก็เพราะได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการท้องถิ่นต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าประวัติศาสตร์สงครามโลกทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่ต้องการมีผู้นำที่เข้มงวด สาธารณชนจะร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติตัวเพื่อให้ส่วนร่วมอยู่รอด และไม่สร้างภาระให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยที่ช่วยรักษาชีวิตของชาวญี่ปุ่นได้อย่างมาก
อัตราตายต่ำ แม้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูง
ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นยังมั่นใจใน “เจแปน โมเดล” ก็คือ อัตราการเสียชีวิตและจำนวนผู้ป่วยหนักที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป ซึ่งน่าจะเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และการใช้ชีวิตที่มีสุขอนามัย
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกฎเกณฑ์ในการตรวจหาเชื้อที่ยุ่งยาก ตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงและอาการหนักเท่านั้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าความเป็นจริงมาก แต่การ “ซุกผู้ติดเชื้อ” เช่นนี้ ก็เพื่อไม่ให้ผู้คนแห่กันไปที่โรงพยาบาลจนรองรับไม่ไหว หรือเกิดติดเชื้อแบบกลุ่มที่โรงพยาบาล ยิ่งเมื่อผู้ติดเชื้อในระลอกใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่อาการไม่หนักด้วยแล้ว รัฐบาลจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมอีก
วัดใจใครยืนระยะได้นานกว่า
“เจแปน โมเดล” คือ การยืดระยะเวลาออกไปโดยประคับประคองสถานการณ์ ไม่ใช่การจัดการให้อยู่หมัดในทีเดียว การทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่ต้องเผชิญความเครียดมาก ธุรกิจต่าง ๆ ยังขับเคลื่อนได้
แต่จุดอ่อนก็คือ ยิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อ ความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนก็จะยิ่งลดน้อยถอยลง มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแทบจะทำไม่ได้ในญี่ปุ่นที่มีพื้นที่แออัด การลดการติดต่อระหว่างกันให้ได้ร้อยละ 80 หรือให้ทำงานจากที่บ้านก็ทำได้ยากในบริบทของญี่ปุ่น ขณะที่ธุรกิจหลายแห่งก็พบว่า การเปิดร้านแต่ไม่มีลูกค้ามากพออาจต้องแบกรับต้นทุนมากกว่าการปิดร้านไปเลย
นอกจากนี้ “เจแปน โมเดล” ที่ไม่อาศัยผู้นำที่เข้มแข็ง แต่พึ่งพาความร่วมมือของประชาชน ยังพบกับความย้อนแย้งเมื่อรัฐบาลกลางและท้องถิ่นต่าง ๆ มีมาตรการสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง นางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว ถึงกับเอ่ยปากว่า “โตเกียวเหยียบเบรก แต่รัฐบาลเหยียบคันเร่ง” การทำงานที่ไม่สอดประสานกันทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา จนกลายเป็นความเหนื่อยหน่ายที่จะร่วมมือกับภาครัฐ
หาก “เจแปน โมเดล” เอาชนะโควิดได้ ญี่ปุ่นก็จะเป็นต้นแบบของโลกเหมือนช่วงที่ฟื้นฟูประเทศหลังพ่ายแพ้สงครามโลก แต่หากเป็นในทางตรงกันข้าม ไม่ใช่ไวรัสโควิดจะเป็นผู้ชนะ แต่ประชาชนชาวญี่ปุ่นจะเป็นคนแพ้ที่ไม่มีน้ำตา.