คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน แม้สถานการณ์โควิดในไทยดูเหมือนจะควบคุมได้ดีแล้ว แต่ญี่ปุ่นและอเมริกายังอยู่ท่ามกลางศึกหนักไม่จบไม่สิ้นง่าย ๆ เลยนะคะ
โดยภาพรวมแล้วญี่ปุ่นไม่มีทีท่าควบคุมการแพร่ระบาดจริงจังเท่าใดนัก แต่ดูจะเน้นไปที่การประคับประคองให้สถานการณ์ดูไม่น่าวิตกมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการตั้งเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการตรวจหาเชื้อที่ผ่านมา ทำให้คนที่แสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการแทบไม่ได้รับการตรวจ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงต่ำกว่าความเป็นจริง และประชาชนก็ยังใช้ชีวิตกันตามปกติในช่วงที่ประเทศอื่นทยอยเร่งตรวจหาเชื้อและปิดเมืองกันจ้าละหวั่น
แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นจะลดลงมากหลังการประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่พอยกเลิกภาวะฉุกเฉินมาได้สองเดือน จำนวนผู้ติดเชื้อก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดย ณ วันที่ 23 กรกฎาคม ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อเพิ่มทีเดียว 930 รายต่อวันซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติการณ์ มากกว่าช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉินเสียอีก นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่รวมถึงกรุงโตเกียวต่างก็ทำลายสถิติสูงสุดเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน
แม้จำนวนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบจะไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย แต่ที่น่าสนใจคือผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงโตเกียวส่วนมากติดเชื้อโดยไม่รู้ว่าติดมาได้อย่างไร หมายความว่าไม่ได้มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อนั่นเอง
แรก ๆ ญี่ปุ่นอาจอ้างได้ว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพราะคนที่มาจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันแทบไม่มีการเดินทางจากนอกประเทศเข้าญี่ปุ่นแล้วเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกระเบียบห้ามบุคคลจาก 146 ประเทศเข้าประเทศญี่ปุ่นชั่วคราว ยอดผู้ติดเชื้อของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นสูงมากในเวลานี้ จึงน่าจะเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายและการใช้ชีวิตของประชาชนเอง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าแพร่ระบาดสะสมมาตั้งแต่ช่วงที่ญี่ปุ่นยังเป็นทองไม่รู้ร้อน และไม่ได้ตรวจหาเชื้อมากพอที่จะคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อได้ทันท่วงทีก่อนการแพร่ระบาดจะกระจายออกไป เมื่อมีการตรวจหาเชื้อมากขึ้นในปัจจุบันจึงพบผู้ติดเชื้อมากตามไปด้วย
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ยังขาดมาตรการเข้มงวดทางกฎหมายที่จะควบคุมประชาชนให้อยู่แต่บ้านหรือเว้นระยะห่างทางสังคม แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉินไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยังคงไม่เปิดโอกาสให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นใช้กฎหมายบังคับการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือบังคับปิดกิจการในท้องถิ่นของตนชั่วคราวได้
ในขณะเดียวกันปัญหาเศรษฐกิจก็ทำให้รัฐบาลต้องเร่งหาทางออกจากวิกฤติโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่าง Go-to Campaign ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจ่ายเงินอุดหนุนให้ประชาชนออกไปท่องที่ยวภายในประเทศ แผนนี้สร้างความกังขาให้กับประชาชนและผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ เพราะมาในเวลาที่เรียกว่าผิดเวล่ำเวลาอย่างมาก คือมาในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
แม้รัฐบาลอาจจะไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่เพราะผู้ติดเชื้อส่วนมากไม่มีอาการรุนแรง แต่หากญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายลักษณะนี้ต่อไปก็อาจจะยิ่งสร้างความไม่มั่นใจแก่นานาประเทศ โดยเฉพาะต่อการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่มีกำหนดในปีหน้านี้ และ “เจแปนโมเดล” ที่ญี่ปุ่นเคยด่วนสรุปถึงความสำเร็จตอนที่ผู้ติดเชื้อลดลงมาก ก็อาจกลายเป็นโมเดลที่ “ไม่แน่ว่าจะยึดเป็นแบบอย่างได้” ไปแทน
หันมาดูทางฝั่งอเมริกาซึ่งอาจจะยับเยินเสียยิ่งกว่า แม้ปัจจุบันจะตรวจหาเชื้อเป็นวงกว้าง แต่ที่ผ่านมาก็รับมือช้าเพราะไม่ได้จริงจังกับการควบคุมการแพร่ระบาดมากพอ นอกจากนี้ข้อมูลด้านสาธารณสุขก็สับสน และทางการก็ใช้เวลานานมากกว่าจะยอมรับวิธีป้องกันการแพร่และรับเชื้อด้วยการสวมหน้ากากในที่สาธารณะซึ่งเป็นสิ่งที่คนเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ทำ แต่เป็นภาพลักษณ์ที่ประหลาดและดูแย่ในสายตาคนอเมริกัน
ยิ่งไปกว่านั้นประเทศนี้ยังกว้างใหญ่ไพศาล คนมาจากทั่วทุกทิศทุกทางของมุมโลก แถมคนในแต่ละรัฐก็มีพื้นเพและทัศนคติต่างไปเป็นคนละทาง แม้จะเรียกว่าเป็นคนอเมริกันเหมือนกันแต่ก็ไม่ค่อยจะสามัคคีหรือมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเท่าไหร่นัก จะพูดอะไรให้เข้าใจตรงกัน หรือขอความร่วมมือกันสักทีหนึ่งจึงยากเย็นแสนเข็ญ
ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วในอเมริกามาจากบางรัฐที่เปิดเมืองเร็วเกินไป เพราะประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้อง “สิทธิเสรีภาพ” พอผู้ว่าการรัฐต้องยอมแพ้และยอมตาม คนก็เฮโลกันออกไปเที่ยวตามชายหาดหรือผับบาร์ ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ยอมสวมหน้ากากและไม่เว้นระยะห่างทางสังคม สุดท้ายจำนวนผู้ติดเชื้อในรัฐเหล่านี้ก็พุ่งวันเดียวหลักหมื่นจนหลายรัฐต้องม้วนเสื่อกลับมาปิดเมืองตามเดิม
ส่วนรัฐนิวยอร์กที่เคยทำลายสถิติผู้ติดเชื้อสูงสุดในประเทศ เวลานี้ดูเหมือนสถานการณ์จะควบคุมได้ดีในระดับหนึ่ง แม้จะเปิดเมืองเฟสสุดท้ายแล้วแต่ทุกอย่างก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุม เช่น ร้านขายอาหารสามารถขายให้รับประทานที่ร้านได้ แต่ต้องอยู่นอกอาคาร ซึ่งในนครนิวยอร์กก็มีการแบ่งพื้นที่ถนนบางส่วนเพื่อให้ร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการได้
บรรยากาศในนครนิวยอร์กยังค่อนข้างเงียบเหงา รถไฟใต้ดินแต่ละสายแทบจะร้างผู้คนทั้งที่ปกติเคยแน่น ร้านรวงส่วนมากยังปิดอยู่ คลีนิกเปิดบริการแบบไม่เต็มพิกัด ผู้คนสวมหน้ากากกันตามกฎระเบียบใหม่ที่กำหนด
พูดถึงเรื่องหน้ากากแล้ว ฉันเคยสงสัยว่าที่โควิดในเอเชียไม่ระบาดแบบไฟลามทุ่งเหมือนยุโรปและอเมริกาอาจเป็นเพราะหน้ากากมีส่วนช่วยหรือเปล่า
คือคนเอเชียยังมีความคุ้นเคยกับการสวมหน้ากากในที่สาธารณะเพราะเคยเจอโรคทางเดินหายใจระบาดหรือเจอฝุ่น PM 2.5 จึงรับมือกับโควิดด้วยการสวมหน้ากากแต่เนิ่น ๆ ส่วนคนตะวันตกไม่มีวิกฤติเหล่านี้มาก่อนจึงไม่มีความคุ้นชินกับการสวมหน้ากากในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ดี ยุโรปก็ยังยอมรับการใส่หน้ากากได้เร็วกว่าอเมริกามาก คนอเมริกันเพิ่งจะยอมมาใส่กันอย่างหนาตาในบางรัฐก็เพราะโดนบังคับอย่างเป็นทางการเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง เกือบจะเรียกได้ว่าวัวหายล้อมคอกเพราะเพิ่งกลายมาเป็น new normal หลังจากโควิดถล่มราวกับพายุและพัดกระจายไปไกลแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่มีข้อมูลทางคลีนิกว่าหน้ากากช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดได้หรือไม่ คนอเมริกันจึงไม่ค่อยยอมสวมกัน
แต่ระยะนี้ที่ญี่ปุ่นเกิดการระบาดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งที่คนญี่ปุ่นก็สวมหน้ากากกันเป็นปกติ ก็ชวนให้เกิดข้อกังขาถึงประสิทธิภาพของหน้ากากอยู่ไม่น้อย จะเป็นเพราะวัสดุที่นำมาทำไม่สามารถกรองเชื้อหรือละอองฝอยได้ดีพอ มีช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากาก หรือไม่สวมให้ครอบปากครอบจมูกมิดชิด รักษาความสะอาดของหน้ากากที่ใช้ไม่ดี ไม่เว้นระยะห่างทางสังคมมากพอ หรือไม่ได้ระวังเรื่องสุขอนามัยด้านอื่น ก็ยังไม่อาจทราบได้แน่ชัด
ที่ผ่านมาหน่วยงานสาธารณสุขของอเมริกาเองก็ไม่ค่อยอยากให้คนสวมหน้ากาก เหตุผลหนึ่งคือกลัวว่าพอคนจะรู้สึก “ปลอดภัยแล้ว” ก็จะพลอย “การ์ดตก” ในด้านอื่น ยิ่งถ้าสวมไม่ถูกวิธีแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เผลอ ๆ จะยิ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายง่ายกว่าเดิม
แต่อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยวอชิงตันก็คาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในอเมริกาอาจจะลดลงจาก 220,000 ราย เหลือ 180,000 รายภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากประชาชนร้อยละ 95 ยอมสวมหน้ากากในที่สาธารณะ ปัจจุบันมลรัฐที่บังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากมีอยู่ประมาณ 20 กว่ารัฐจากทั้งหมด 50 รัฐ
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวสรุปไว้น่าสนใจว่า สาเหตุที่อเมริกาไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิดทั้ง ๆ ที่มีอัตราการตรวจหาเชื้อสูง เป็นเพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกินอาณาบริเวณแทบจะทั้งทวีป ไม่เหมือนประเทศเล็กโดยเฉพาะในยุโรปที่แม้จะระบาดรุนแรงแต่ก็ตู้มเดียวจบ ส่วนอเมริกานั้นพอควบคุมได้ในบางรัฐ ก็ไปปะทุขึ้นมาใหม่ในรัฐอื่นแทน ปัญหาโควิดจึงทำท่าจะไม่จบลงง่าย ๆ
หากสุดท้ายแล้วการแพร่ระบาดของโควิดไม่สามารถควบคุมได้ ก็คงได้แต่หวังว่าสถานการณ์ในแต่ละประเทศจะไม่รุนแรงเกินกว่านี้ และทุกฝ่ายจะช่วยเหลือกันเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางความยากลำบากในหลาย ๆ ด้าน
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.