xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเผชิญโควิดระลอก 2 รัฐบาลอาเบะ “เอาอยู่” จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งสวมหน้ากากและแว่นตาป้องกันเต็มพิกัด ระหว่างโดยสารรถไฟในกรุงโตเกียว
ญี่ปุ่นตกอยู่ใต้ความเสี่ยงโควิดระบาดระลอก 2 กรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าวันละ 100 คนติดต่อกัน 5 วันแล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงยืนยันว่า “รับมือได้” ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเพิ่มเติม สวนทางกับคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ

หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน ปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ธุรกิจต่างๆ กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเกือบจะเหมือนเดิม จนกระทั่ง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดได้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากวันละ 50 คน จนเกินกว่าวันละ 100 คนต่อเนื่องกันนานกว่า 5 วันแล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับยืนยันว่า “นี่ไม่ใช่การระบาดระลอก 2 ” และจะไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอีก เพียงแค่ขอให้ประชาชนดูแลตัวเอง พร้อมอ้างว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากสถานบันเทิงยามราตรี

ย่านบันเทิงยามราตรีเขตชินจูกุกลับมาคึกคัก
ท่าทีของรัฐบาลสวนทางกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ที่ประเมินว่าญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะเผชิญการระบาดของโควิดระลอก 2 โดยให้เหตุผลดังนี้

1. ขณะนี้ญี่ปุ่นเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดแล้ว รวมทั้งการท่องเที่ยวภายในประเทศ การลดการติดต่อระหว่างผู้คนลงร้อยละ 80 แทบจะเป็นไปไม่ได้ และจนถึงขณะนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีมาตรการใดที่สามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงน้อยกว่า 100 คนต่อวันได้ ซ้ำยังมีทีท่าในแบบที่ว่า “ถึงแม้มีผู้ติดเชื้อมากแค่ไหน แต่ถ้าผู้ป่วยหนักไม่มาก โรงพยาบาลยังรองรับได้ ก็ไม่เป็นไร”

2. กรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละมากกว่า 100 คน และมีแนวโน้มที่การติดเชื้อจะแพร่ขยายไปยังจังหวัดรอบข้าง ผู้ว่าการจังหวัดไซตามะ คานากาวะ ชิบะ ได้ร้องขอให้ประชาชนอย่าเดินทางมากรุงโตเกียว แต่ก็เป็นไปได้ยากเพราะผู้คนในจังหวัดใกล้เคียงต้องเดินทางมาทำงานหรือติดต่อธุระที่กรุงโตเกียวเป็นประจำ

3. จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ช่วงต้นเดือนมิถุนายนมี 33 จังหวัดที่อัตราผู้ป่วยใหม่ต่อประชากร 1 แสนคนเป็น 0 แต่หลังจากนั้นจังหวัดปลอดผู้ป่วยก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งปลายเดือนมิถุนายน เหลือเพียง 27 จังหวัดเท่านั้น ที่ยังคงมีอัตราผู้ป่วยใหม่เป็น 0

รถไฟในกรุงโตเกียวกลับแออัดดั่งเดิม
ยกเลิกเกณฑ์ประเมิน ยุบคณะผู้เชี่ยวชาญ

ในช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตโควิดอย่างหนักเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ มีการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำกับรัฐบาลในการควบคุมการระบาด คล้ายกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ ศบค. ของประเทศไทย

คณะผู้เชี่ยวชาญนี้ได้ประกาศคำแนะนำในการควบคุมโรคมากถึง 10 ครั้ง ทั้งการหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง การติดตามเส้นทางการแพร่ระบาด การลดการติดต่อระหว่างบุคคล จนถึงแนววิถีชีวิตใหม่ New Normal คณะผู้เชี่ยวชาญนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยให้ญี่ปุ่นผ่านพ้นวิกฤตโควิดในรอบแรกมาได้

คณะผู้เชี่ยวชาญยังตั้ง “เกณฑ์เฝ้าระวัง” เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน, จำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้แหล่งที่มา, อัตราส่วนผู้ติดเชื้อต่อประชากร, อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ เพื่อใช้ประเมินความรุนแรงของสถานการณ์

แต่เมื่อการติดเชื้อรอบใหม่นั้นล้วนแต่เกินเกณฑ์เหล่านี้แล้วทุกเกณฑ์ สิ่งที่รัฐบาลนายอาเบะทำก็คือ ยกเลิกเกณฑ์เฝ้าระวัง โดยระบุว่าถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้


ไม่เพียงเท่านั้น นายนิชิมูระ ยาซูโตชิ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบการควบคุมโรคโควิด ยังตัดสินใจยุบคณะผู้เชี่ยวชาญ โดยบอกว่าจะจัดตั้ง “คณะทำงานเรื่องไวรัสโควิดของคณะรัฐมนตรี” ขึ้นมาแทน พูดง่าย ๆ ก็คือ ทวงคืนการตัดสินใจจากคณะผู้เชี่ยวชาญ กลับไปอยู่ในมือของฝ่ายการเมือง

รัฐบาลญี่ปุ่นถูกตั้งขอสังเกตว่า มีความขัดแย้งกับคณะผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาลเลือกเศรษฐกิจ แต่คณะผู้เชี่ยวชาญเลือกควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยเมื่อถูกถามถึงบันทึกการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญกับรัฐบาล รมต.ที่เกี่ยวข้องกลับตอบว่า “ไม่มีบันทึกการประชุม” !!

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สถานการณ์ในญี่ปุ่นขณะนี้ยังไม่เข้าข่าย “การระบาดระลอก 2 ” ก็จริง เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ไม่มีอาการ และสถานพยาบาลยังรองรับผู้ป่วยได้ แต่คนหนุ่มสาวที่เป็นพาหะสามารถแพร่เชื้อได้อย่างกว้างขวาง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มเป็นเท่าตัวได้ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และศักยภาพของโรงพยาบาลที่รัฐบาลอ้างว่ายังรองรับได้นั้นจะหมดสิ้นลงอย่างรวดเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า หากรัฐบาลกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก็สามารถขอให้กิจการเฉพาะบางประเภทหยุดชั่วคราว หรือปิดเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง กิจการเและพื้นที่เสี่ยงโรคเหล่านี้ล้วนแต่เป็น "ธุรกิจสีเทา" "พื้นที่อโคจร" หากแต่ว่ามีผลประโยชน์สูง ....ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกชีวิตประชาชน หรือเลือกรักษาอำนาจของตน ?.


กำลังโหลดความคิดเห็น