xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นหางานกับหาความรัก  แบบไหนง่ายกว่ากัน ( เวอร์ชั่นงาน)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ช่วงนี้มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นหลากหลาย อาทิตย์ที่แล้วคุยเกี่ยวกับเรื่อง 終活 Shukatsu คือวางแผนสำหรับจุดสิ้นสุดของชีวิต จากมุมมองชีวิตไม่เที่ยง มีทั้งความรุ่งโรจน์และความล่มสลาย ถึงจะมีอำนาจวาสนาก็ไม่มีอะไรอยู่คงทนถาวร คนที่ไม่มีอะไรก็ใช่ว่าวันหนึ่งจะเฟื่องฟูไม่ได้ บางทีก็เป็นเรื่องของโชคชะตาด้วย


ตอนนี้ที่เมืองไทยเป็นฤดูฝนใช่ไหมครับ ส่วนญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วแต่ช่วงต้นเดือนกรกฏาคมฝนจะตกเยอะหน่อย และจะค่อยๆ น้อยลง อากาศจะเริ่มร้อนขึ้น ฤดูร้อนเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี บางคนอาจนึกไม่ออกว่าจากฤดูหนาวที่บางจังหวัดมีหิมะตก มีความหนาวเย็นมากขนาดนี้เวลาร้อนจะร้อนอย่างไร คืออุณหภูมิความร้อนนี่ร้อนแบบหน้าร้อนเมืองไทยเลยครับ บางที่ร้อนกว่าด้วยโดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในหุบเขา ช่วงเวลาเปลี่ยนฤดูกาลนี้คนญี่ปุ่นก็จะเริ่มเก็บเสื้อผ้าหน้าหนาว หรือเสื้อผ้าเนื้อหนาๆ และเปลี่ยนเอาเสื้อผ้าเนื้อบางเบาออกมาใส่แทน แต่ถ้าพูดถึงเด็กจบใหม่ที่ต้องเดินสายสมัครหางานแล้ว ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ทั้งเหนื่อยและยากลำบาก ปกติเด็กนักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ หมาดๆ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับการจองตัวจากบริษัทใดๆ จะเร่งหางานตั้งแต่ปลายเดือนกุมภา-มีนาคม โดยที่ต้องใส่สูทให้สุภาพเรียบร้อย ซึ่งเป็นสูทเฉพาะที่มีไว้ใส่สำหรับสมัครงาน สัมภาษณ์งานเท่านั้น บางคนต้องหางานและเข้าสัมภาษณ์งานหลายรอบยาวจนถึงเดือนเมษายน หรือยาวมาจนถึงตอนนี้ที่เริ่มเข้าฤดูร้อน การใส่สูทผูกเนคไทเต็มยศช่วงเวลาที่อากาศยังเย็นสบายก็ไม่เท่าไหร่นะครับ แต่ช่วงที่ฝนตกชุกและร้อนแบบช่วงนี้นี่คือความนรกเลย ยากลำบากน่าดู อีกอย่างส่วนใหญ่ไม่ได้ขับรถไปเองแบบเมืองไทยด้วยสิ จะโดยสารรถไฟสายต่างๆ และเดินซึ่งหลีกเลี่ยงอากาศร้อนระอุข้างนอกไม่ได้เลย


สูทที่เรียกกันว่า recruit suit リクルートスーツ ส่วนใหญ่จะเป็นสูทสีดำล้วน แต่อาจมีสีอื่นบ้าง เช่น สีเทาเข้ม กรมท่าเข้ม ทรงสุภาพตามมาตรฐาน ไม่มีลวดลาย มีปกแบบ Business Suit เป็นชุดที่ใช้สวมใส่ในระหว่างการหางาน สัมภาษณ์งาน บางครั้งก็เรียกว่า "ชุดหางาน" หรือ "Rikusuu" ว่ากันว่าการแต่งกายในชุดสูท recruit suit จะทำให้บุคลิกภาพของผู้สวมใส่ดูดีและมีภาพลักษณ์ที่สะอาดสะอ้าน และทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจ ซึ่งปกติแล้วคนญี่ปุ่นที่เริ่มหางานก็จะต้องใส่สูทให้เป็นทางการ มีความเรียบร้อยและถูกระเบียบให้มากที่สุด จึงทำให้เกิดสูทลักษณะดังกล่าวขึ้นมา เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งที่ผมต้องไปสัมภาษณ์งาน และผมต้องใส่สูทแบบนี้ ซึ่งร้อนมากตอนที่กำลังจะวิ่งเข้ารถไฟด้วยความที่เร่งรีบในชั่วโมงเร่งด่วนเลยทำให้เสื้อผ้าของผมไม่เรียบร้อย ปกเสื้อกระดก ในบรรยากาศที่คนเต็มรถไฟ แต่เมื่อพนักงานบริษัทที่อยู่ในวัยทำงานเห็นสภาพผม เขาก็จะรู้ว่าผมเป็นพวกเด็กจบใหม่ กำลังหางาน เขาก็ช่วยกันบอกว่า น้องๆ ชุดไม่เรียบร้อยนะ ปกเสื้อม้วนกระดก จัดให้ดีเสียหน่อย ชุดสูทหางานนี้จะใส่แค่ช่วงหางานเท่านั้นและถ้าหมดช่วงหางานก็ไม่ค่อยมีใครใส่ชุดสูทพวกนี้อีก


อย่างที่บอกว่า สูทลักษณะนี้เป็นสูทเฉพาะที่ใส่สำหรับหางานและสัมภาษณ์งานเท่านั้น ราคาก็ไม่ใช่ถูก สำหรับเด็กจบใหม่ถือว่าแพงด้วยและหลังจากที่หมดเทศกาลหางานก็แทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้อีก โดยเฉพาะสาวๆ เหมือนจะไม่มีโอกาสได้ใช้อีกเลย น่าเสียดายเงินเหมือนกัน แต่สำหรับผู้ชายนอกจากหางานสัมภาษณ์งานก็อาจจะใส่ไปงานพิธีหรืองานศพได้บ้าง ตามความเหมาะสม เพื่อนๆ อาจจะนึกไม่ออกว่าทำไมต้องให้ความสำคัญเรื่องสูทและการแต่งกายในการหางานมากขนาดนี้ ที่จริงเหมือนเป็นการกำหนดกฏเกณฑ์กันขึ้นมา บางเรื่องก็ไม่น่ามีเลย ควรจะเปลี่ยนแนวได้แล้วตามยุคตามสมัย บ้างก็ว่าการที่กำหนดให้เป็นแบบนั้นแบบนี้มันมีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย ก็เลยต้องผลักดันให้ดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะพวกธุรกิจประเภทจัดหางาน ธุรกิจขายสูท ต่างๆ แนวคิดคล้ายๆ กับธุรกิจที่รับจัดการเรื่อง 終活Shukatsu (วางแผนสำหรับจุดสิ้นสุดของชีวิต) ที่เล่าไปเมื่ออาทิตย์ก่อน


ปัจจุบันนี้คนญี่ปุ่นอายุน้อยมีจำนวนน้อยลง แต่มีจำนวนคนแก่คนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ถ้าพูดถึงตอนที่เรายังเป็นเด็ก บางทีเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้า หรือโลกของการทำงาน การใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ในสังคมมันจะโหดร้ายและเป็นอย่างไร คนที่ยังอยู่ในวัยเรียนวัยใสก็ได้แต่มองภาพสวยงามของบริษัทที่มีชื่อเสียงต่างๆ จึงใฝ่ฝันว่าอยากจะเข้าไปทำงานที่นั่นที่นี่ ต้องแข่งขันกันหางานกันอย่างเลือดตาแทบกระเด็น เหล่านี้เรียกว่า 就職活動 Shushoku katsudou หรือจับมาเขียนย่อว่า → 就活 Shukatsu ( เขียนอักษรคันจิคนละคำกับ 終活 Shukatsu ) เป็นคำศัพท์ทั่วไปสำหรับการหางาน เพื่อให้ได้เข้าทำงาน หลังจากเรียนจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังหมายถึง กิจกรรมสำหรับเด็กจบใหม่หางาน เพื่อให้ได้เป็นพนักงานประจำ โดยที่ต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายอย่างที่จะเล่าในวันนี้ครับ


แล้วเด็กที่เรียนจบใหม่ๆ หมาดๆ ยังไม่เคยอยู่ในโลกของการทำงานมาก่อน เขาก็ยังไม่รู้ว่าสภาพแวดล้อมและกฏระเบียบ การทำงานของบริษัทต่างๆ ที่ตัวเองอยากเข้าไปทำงานนั้นเป็นอย่างไร หรือเข้าไปแล้วจะเจอชะตากรรมอะไร อย่างไรบ้าง ต่างคนต่างก็อยากจะเข้าบริษัทใหญ่ๆ บริษัทดังๆ ซึ่งก็ทำให้ยิ่งแข่งขันกันมากขึ้นไปอีก แต่ใครจะรู้ว่าบางทีบางบริษัทที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักอาจจะมีสวัสดิการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกว่าก็ได้

ดังนั้นเมื่อบริษัทที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากจะเข้าไปทำงานมีโควต้าให้ไม่มาก แต่คนเรียนจบมามาก จึงทำให้มีจำนวนผู้สมัครมากมายแห่กันมาสมัคร ทำให้บริษัทหนึ่งๆ ที่มีชื่อเสียงนั้นๆ อาจจะมีเด็กจบใหม่มาสมัครเป็น 10,000 คน อาจจะทำให้ไม่สามารถที่จะคัดเลือกบุคลากรได้อย่างใกล้ชิด และถูกต้อง และอาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้ครอบคลุมจริงๆ จังๆ โดยในกรณีนี้บริษัทดังๆ ดังกล่าวก็จะตั้งสเปคไว้สูง เค้าจะกรองเอาแต่คนระดับดังๆ เก่งๆ มาจากคณะดัง ของมหาวิทยาลัยดังๆ ก่อน ดังนั้นทำให้คนที่จบมหาวิทยาลัยบางแห่งไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามา แม้แต่แค่ให้ผ่านตากรรมการ เช่น ระบบคัดกรองที่ให้กรอกตอนสมัครในเวปไซต์ของบริษัท 学歴フィルター gakureki filter บางบริษัท ให้กรอกข้อมูลสำหรับด่านแรกของผู้สมัครงาน ระบบอาจตั้งค่าล็อกไว้เฉพาะบางมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อผู้สมัครกรอกมหาวิทยาลัยอื่น ที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเป้าหมาย ระบบก็จะปฏิเสธไปเลยว่าผู้สมัครเต็มโควต้า ให้มาใหม่โอกาสหน้า กลับกันถ้าลองกรอกว่ามาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ที่ระบบตั้งค่าไว้ ที่บริษัทเขายอมรับหรือว่าเล็ง หมายตาไว้ ระบบกลับบอกว่ายังมีที่ว่างให้ส่งเอกสารเข้ามาได้ เป็นต้น มีการวิจารณ์ในสื่อโซเชียลว่าระบบเหล่านี้นั้นความเป็นจริงแล้วทำให้เด็กจบใหม่หลายคนพลาดโอกาส บางคนเรียนมหาวิทยาลัยปานกลาง แต่ใช่ว่าเขาจะเรียนรู้งานและเป็นคนดีไม่ได้ และบริษัทเองก็พลาดโอกาสหาคนที่เหมาะสมที่สุดด้วยเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายก็มีเหตุมีผลของตนเอง


ความแปลกแบบที่บางคนบอกว่าไม่มีเหตุผลของระบบการหางานของเด็กจบใหม่หลายๆ อย่าง ยังมีอีกครับ เช่น กฏเกณฑ์เรื่องการหางานของเด็กจบใหม่นั้นบางเรื่องก็เข้มงวด บางเรื่องก็อ้างเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล จนทำให้ชีวิตเด็กจบใหม่ชาวญี่ปุ่นยากลำบากมาก มีคำกล่าวว่า 「お前がモテないのは、お前がモテないから」という循環論法(tautology) ความหมายประมาณว่า ที่คุณมันไม่ใช่(คนในสายตา) คุณก็เลยไม่ใช่(คนในสายตา) ซึ่งก็เหมือนกับเรื่องของความรัก ผู้ชายที่มีบุคลิกลักษณะดี เก่งฉลาดหรือรวยอะไรก็ตามก็ย่อมเป็นที่หมายปองของสาวๆ

ตัวอย่างสถานการณ์ที่สาวคนหนึ่งถามเล่นๆ กับหนุ่มคนหนึ่งว่า

♀(*゚ー゚)<クリスマスは何か予定あるの?วันคริสต์มาสที่จะถึงนี้มีแผนจะทำอะไรไหมคะ?

♂( ;´Д`)<あの…特に無いんですけど、良かったら、一緒に映画行きませんか!?เอ่อ..คือว่า ยังไม่ได้มีแผนอะไรเป็นพิเศษหรอกครับ ถ้าไม่รังเกียจเราไปดูหนังกันไหม !?

♀(*゚ー゚)<ごめんねー。(^^)その日はちょっと忙しいんだー。(^^)また誘ってねー。(^^) ขอโทษนะ คือว่าวันนั้นฉันมีธุระนิดหน่อย ไว้โอกาสหน้านะ

※ また誘ってねー ไว้โอกาสหน้านะ !! .. ความหมายจริงๆ ก็คือ ปฏิเสธและคงไม่มีโอกาสให้หรอก!!

_______________________แต่คำพูดที่สาวคนเดียวกัน มีท่าทีตอบให้หนุ่มอีกคนที่มีแฟนแล้ว..

♀(*゚ー゚)< クリスマスは彼女さんと過ごすの?คริสมาสต์นี้คุณจะไปเที่ยวกับแฟนคุณใช่ไหมคะ?

♂( ´_ゝ`)…いやー、ぶっちゃけ束縛うざいし飽きたんだよね〜。お前どうすんの?เปล่า ผมเบื่อกับการโดนผูกมัด แล้วคุณล่ะ?

♀(*゚ー゚)<そっかー。わかったー。予定空けとくから、連絡待ってるね!เหรอคะ อืมมม ค่ะ ถ้าว่างก็ติดต่อมานะคะ จะรอ !

※ 予定空けとくから、連絡待ってるね! ถ้าว่างก็ติดต่อมานะคะ จะรอ ! .. แม้เป็นพ่อหนุ่มที่มีแฟนแล้ว เธอก็ยังหมายปอง

ตัวอย่างสถานการณ์แบบเหตุผลที่ไม่มีเหตุผลดังกล่าว มันมีจริงๆ ! (´;ω;`) กรณีข้างต้นเรียกว่าคนบางคนเขามี Naitei !!


คนที่เรียนเก่งจากมหาวิทยาลัยดังบางคน ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ แต่ถูกบางบริษัทเล็งตัวและอยากให้เขาเข้ามาทำงานด้วย คนเหล่านั้นอาจจะมีบริษัทอยากจะเชิญเข้าทำงานหรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าในมือกำ"Naitei" ไว้แล้ว 内定 naitei (ไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีจองตัวเข้าทำงานอย่างเดียว ใช้ในสถานการณ์อื่นได้ด้วย ) เป็นการตัดสินอย่างไม่เป็นทางการล่ะว่าจะรับใครคนใดคนหนึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการ คล้ายๆ มีสัญญาจ้างงานกำอยู่ในมือล่ะ อาจจะยังไม่ได้สัมภาษณ์ด้วยซ้ำ แต่เป็นที่รู้กันอยู่ในใจว่าได้งานแน่ๆ คือถ้าแค่นี้ก็ไม่แปลกหรอกเพราะคนเก่งใครๆ ก็อยากได้ตัวไปทำงาน แต่แปลกตรงที่แม้ว่าคนที่มีบริษัทจองตัวแล้ว กลับมีบริษัทอื่นๆ มาแย่งตัวอีก ทำให้เกิดการซ้ำซ้อนมากๆ คนที่ไม่ได้ก็ไม่ได้เลย หางานยากเย็น คงเพราะ お前がモテないのは、お前がモテないから ที่คุณมันไม่ใช่(คนในสายตา) คุณก็เลยไม่ใช่(คนในสายตา) และคนบางคนก็ถือ “Naitei” ไว้แล้ว นั่นเอง

กฎการหางานต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว ยังเป็นที่รู้กันด้วยว่าจะต้องเป็นเด็กจบใหม่สดๆ ซิงๆ จากมหาวิทยาลัยเท่านั้น ถึงจะเรียกมาสัมภาษณ์ สมมุติว่าปีนี้มีคนที่ไม่สามารถที่จะหางานได้ทัน บางคนก็อาจจะต้องหาเงินหาทองไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือบางคนก็อาจจะร้องขอให้อาจารย์ที่รู้จักกัน ดีกันมาก่อนช่วยเขียนเอกสารรับรองเพื่อให้ได้กลับเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง นั่นหมายถึงว่าเค้าต้องมีการเรียนปีที่ห้าหรือเรียนซ้ำไปอีกปีนึงเพื่อที่จะเตรียมตัวสมัครหางานใหม่ในปีต่อไป ให้เหมือนกับเป็นเด็กจบใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก


ผมเคยได้ยินเพื่อนคนไทยเล่าว่า ที่เธอเข้าทำงานบริษัทนี้ได้เพราะมีคนที่รู้จักชักชวนเข้าไปทำงานด้วย เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าแบบนี้ไม่ค่อยดีนัก แต่ตอนนี้ผมคิดว่าการที่มีคนรู้จักในบริษัทชวนให้ไปสมัครงานนั้นยังจะดีกว่าระบบของญี่ปุ่นบางระบบเช่นปัจจุบันนี้เพราะว่าอย่างน้อยมีคนที่รู้จักชวนไปทำงาน บริษัทก็ยังมีคนที่รับประกันความสามารถของบุคคลที่รับเข้ามา แต่ระบบหลายอย่างของญี่ปุ่น ทั้งต้องใส่ชุดสูทเฉพาะเท่านั้น, ระบบ 内定 "Naitei" ได้ที่นั่งแล้ว แต่ยังได้รับเชิญให้ไปเข้าทำงานที่อื่น ทำให้คนที่ไม่ใช่ อย่างไรก็ไม่ใช่หมดโอกาสไป, ระบบที่คุณต้องจบใหม่หมาดๆ เท่านั้น แต่กลับกีดกัน มีเป้าหมายให้แค่บางมหาวิทยาลัย หรือการแย่งคนซ้ำซ้อนปิดโอกาสคนอื่นๆ เป็นต้น การหางานของเด็กจบใหม่ญี่ปุ่นนั้นยากเย็นไม่น้อย วันนี้เล่าสู่กันฟังครับ สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น