คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ตลอดระยะเวลาที่ฉันรู้จักญี่ปุ่นมา มักได้ยินเรื่องของการโยกย้ายพนักงานภายในบริษัทให้ไปอยู่สาขาในจังหวัดหรือภูมิภาคที่อยู่ไกลจากเดิมหรือไม่ก็ในต่างประเทศหลายครั้ง เมื่อก่อนที่ยังไม่ค่อยทราบรายละเอียดก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการเลื่อนตำแหน่ง แต่ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป แถมบางคราวเป็นการลงโทษรูปแบบหนึ่งด้วย
บริษัทญี่ปุ่นมีการโยกย้ายพนักงานบ่อยครั้งโดยไม่เกี่ยวกับการเลื่อนขั้น และไม่ได้เป็นเพราะเล็งเห็นความสามารถของพนักงานจึงให้ไปทำตำแหน่งใหม่หรือไปประจำสาขาอื่นด้วย หลายครั้งการโยกย้ายเป็นไปโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน รวมทั้งไม่สนใจด้วยว่าพนักงานอยากย้ายหรือไม่ พ่อแม่ลูกเมียจะมีปัญหาหรือไม่ และไม่ได้กำหนดแน่ชัดว่าจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นนานแค่ไหน บริษัทคาดหวังอย่างเดียวว่าพนักงานจะต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข
บางคนเลือกที่จะย้ายไปทำงานที่ไกล ๆ คนเดียวโดยทิ้งลูกและภรรยาไว้ที่บ้าน โดยเฉพาะหากลูกอยู่ในวัยเรียนหัวเลี้ยวหัวต่อ ส่วนบางครอบครัวภรรยาต้องยอมลาออกจากงาน ลูกต้องย้ายโรงเรียน และตามไปอยู่ด้วยกันหมดทั้งครอบครัว
มีคนญี่ปุ่นที่ให้ความเห็นว่า หากครอบครัวได้ปรึกษาหารือกันแล้วสรุปว่าจะไม่ย้ายตามที่บริษัทสั่ง ต่อให้การงานไม่ก้าวหน้า แต่ที่แน่ ๆ ครอบครัวก็คงไม่ตัดสินคุณค่าผู้ชายต่ำต้อยลง เขาเล่าว่ามีคนที่ไม่ทำตามคำสั่งบริษัท จึงไม่ได้เติบโตในหน้าที่การงานจริง แต่ก็มีความสุขกับการทำงานและเลี้ยงลูกที่บ้านนอกจนกระทั่งเกษียณ ในขณะที่อีกคนยอมย้ายตามที่บริษัทสั่ง ได้เติบโตในหน้าที่การงาน แต่ต้องหย่ากับภรรยา เพราะตอนภรรยาถามว่า “จะเลือกงานหรือเลือกฉัน” เขาตอบว่า “เลือกงาน”
ในยุคสมัยที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะทำงานบริษัทเดิมตั้งแต่ต้นไปจนกระทั่งเกษียณ ไม่ค่อยมีการลาออกแล้วย้ายไปอยู่บริษัทใหม่กลางคัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับกันนักในสังคม แต่อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าวัฒนธรรมของการทำงานที่เดิมไปตลอดชีวิตของคนญี่ปุ่นก็ทำให้บริษัทเกรงว่าพนักงานจะเกิดความเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น และไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่หากทำงานแผนกเดิมหรือสาขาเดิมไปเรื่อย ๆ ทั้งชีวิต การโยกย้ายพนักงานจึงเป็นทางออกที่บริษัทคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ได้
แม้ปัจจุบันการเปลี่ยนงานหรือการทาบทามพนักงานที่มีความสามารถจากบริษัทหนึ่งให้ไปทำงานกับบริษัทอื่นจะมีมากขึ้น แต่การโยกย้ายตำแหน่งภายในบริษัทก็ยังเป็นแนวปฏิบัติกันทั่วไปเช่นเดิม รูปแบบการทำงานลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดในประเทศอื่นซึ่งสิทธิในการย้ายแผนกหรือย้ายสาขาเป็นของพนักงาน ไม่ใช่สิทธิของบริษัท เคยได้ยินว่าเวลาพนักงานชาวตะวันตกถูกบริษัทญี่ปุ่นสั่งให้ย้ายไปประจำที่อื่น พวกเขาก็มักจะเลือกการลาออกแทน
นอกจากนี้ การโยกย้ายพนักงานไปทำงานใหม่ที่เจ้าตัวไม่มีประสบการณ์ก็ยังสร้างปัญหาต่อบริษัทเองด้วย เพราะแทนที่พนักงานจะพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องจนเชี่ยวชาญในงานที่กำลังทำ ก็กลายเป็นว่าต้องไปเริ่มใหม่จากศูนย์ในตำแหน่งใหม่ที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์ ซึ่งสร้างความเครียดอย่างยิ่งให้กับเจ้าตัว และสร้างปัญหาแก่คนในแผนกใหม่ด้วย เพราะแทนที่จะได้คนทำงานเป็นมาช่วยกันทำงานเลย กลับได้คนที่ต้องมาเรียนรู้ใหม่แต่ต้น
ฉันได้ทราบมาว่าบริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทยปัจจุบัน ก็มีการส่งตัวพนักงานชาวญี่ปุ่นอายุน้อยที่ไม่มีประสบการณ์ด้านบริหารมาประจำการ และหลายครั้งลูกน้องในท้องถิ่นซึ่งทำงานมานานก็มีความรู้และประสบการณ์ทำงานมากกว่า กว่าผู้บริหารคนใหม่จะสั่งสมประสบการณ์ได้มากพอก็ต้องใช้เวลากันหลายปี แต่ไม่ทันไรก็ถูกโยกย้ายกลับหรือไปประจำที่อื่นอีก แทนที่จะได้พัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญอยู่ในจุดเดิมให้ยิ่งขึ้น
บางคราวการโยกย้ายยังเป็นไปเพื่อลดตำแหน่งแทนการไล่ออกตรง ๆ ด้วย เมื่อปีที่แล้วก็มีข่าวว่าพนักงานชายคนหนึ่งถูกบริษัทสั่งให้ย้ายไปประจำในภูมิภาคอื่นแทน หลังจากลาหยุดไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกมาหนึ่งเดือน
เจ้าตัวเพิ่งจะย้ายบ้านใหม่ เพิ่งหาสถานรับเลี้ยงเด็กช่วงกลางวันได้ (ซึ่งมักเต็มและต้องรอ waiting list) และภรรยากำลังจะกลับไปทำงานประจำตามเดิม จึงต่อรองกับบริษัทว่าขอปรึกษากับที่บ้านก่อน แต่บริษัทไม่รับพิจารณา พอเขาขอลาออกแทนและขอวันลาสองสัปดาห์โดยได้รับค่าจ้างซึ่งเป็นสิทธิถูกต้องตามกฎหมายของเขา บริษัทกลับปฏิเสธและยื่นคำขาดให้เก็บข้าวของออกไปจากบริษัทภายในเดือนเศษ รวมทั้งส่งต่องานให้คนใหม่ในระหว่างนี้ด้วย
เรื่องนี้กลายเป็นดราม่าขึ้นมาก็ตอนที่โลกโซเชียลขุดคุ้ยพบว่า ภรรยาของพนักงานคนนี้เคยลงทวิตเตอร์ว่าอีกหน่อยจะช่วยสามีตั้งบริษัท ผู้คนจึงคิดไปต่าง ๆ นานาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่บริษัททราบเรื่องนี้แต่แรก หรือคิดว่าที่ผ่านมาชายคนนี้บอกว่าลาไปเลี้ยงลูกแต่จริง ๆ แล้วไปเตรียมตัวตั้งบริษัทของตัวเอง บริษัทจึง “แก้แค้น” ด้วยการโยกย้ายให้ไปอยู่ที่อื่นเสียเลย อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่เห็นว่าบริษัทนี้ทำเกินไป และหุ้นของบริษัทก็ตกฮวบลงหลังตกเป็นข่าวด้วย
มีกรณีอื่น ๆ อีกที่ผู้ชายขอลางานไปเลี้ยงดูลูกภายในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่พอกลับมาก็ถูกบริษัทปฏิบัติด้วยในทางลบ เช่น มีคนหนึ่งใช้สิทธิ์ลาเลี้ยงดูลูกสองครั้ง ครั้งละหนึ่งปี เขาถูกสั่งย้ายจากงานในสำนักงานไปอยู่โกดังซึ่งต้องทำงานแบกหาม พอเขาจ้างทนายมาคุยกับนาย ก็ได้กลับมาทำงานนั่งโต๊ะตามเดิม แต่ได้งานที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันแทน เช่นให้แปลนโยบายของบริษัทเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น
และอีกกรณีเป็นพนักงานชายชาวแคนาดาที่ขอใช้สิทธิ์ลาเลี้ยงดูลูกซึ่งคลอดก่อนกำหนด ซึ่งตอนแรกบริษัทไม่ยอมโดยให้เหตุผลว่าผู้ชายไม่ได้แต่งงานกับผู้หญิง และไม่มีหลักฐานว่าเขาเป็นพ่อของเด็กจริง ซึ่งต่อมาบริษัทก็ยอม แต่พอเขากลับมาทำงาน บริษัทก็ให้ไปทำงานง่าย ๆ และลดเงินเดือน อีกทั้งยังตำหนิว่าเขาไร้ประโยชน์ ไร้ความรับผิดชอบ และขาดความน่าเชื่อถือ เขาเครียดจัดและเป็นโรคซึมเศร้า ลาป่วยไปช่วงหนึ่ง และต่อมาถูกเชิญออกจากงาน
เขาฟ้องบริษัทข้อหากลั่นแกล้งเขาต่าง ๆ นานา แต่บริษัทอ้างว่าตั้งใจจะลดปริมาณงานเพื่อให้เขาไม่ต้องลำบากกับการเลี้ยงลูกเดี่ยว แม้จะมีการล่ารายชื่อสนับสนุนเขาเป็นพัน ๆ คน แต่ในที่สุดเขาก็แพ้คดีเมื่อศาลตัดสินว่าไม่มีหลักฐานสมเหตุสมผลว่าเขาถูกกลั่นแกล้งจริง
เชื่อกันว่าวิธีการที่บริษัทเหล่านี้ใช้เป็นไปเพื่อ “เชือดไก่ให้ลิงดู” พนักงานคนอื่นจะได้ไม่กล้าขอลาไปเลี้ยงลูกอีก ทีนี้พอเวลาเกิดเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา บริษัทก็เสไปข้าง ๆ คู ๆ ว่าไม่ได้ทำเพื่อลงโทษพนักงานสักหน่อย แต่ทำไปตามความเหมาะสมของบริษัท อีกทั้งยังยืนยันนอนยันว่าบริษัทมีนโยบายที่ส่งเสริมสวัสดิการพนักงาน ทำเพื่อพนักงานอย่างโน้นอย่างนี้ ในขณะที่ในทางปฏิบัติแล้วอาจเป็นหนังคนละม้วน
ที่จริงกฎหมายญี่ปุ่นก็มีสวัสดิการลาคลอดที่เลิศเลอมาก คือ ให้สิทธิ์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในการลาเลี้ยงดูบุตรได้ถึงหนึ่งปี แถมยังให้เงินเดือนส่วนหนึ่งอีกด้วย แต่ในปี พ.ศ. 2561 ก็มีผู้ชายที่ใช้วันลาแบบนี้เพียงแค่ร้อยละ 6 เท่านั้น และส่วนใหญ่ยังลากันน้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ด้วย
ที่เป็นอย่างนั้นน่าจะเป็นเพราะพอมีคนลาหยุดไป คนอื่นก็ต้องทำแทน สมมติถ้าบริษัทมีแค่สองคนในทีมนั้น แล้วคนหนึ่งไม่อยู่ อีกคนก็ต้องทำงานเพิ่มเป็นเท่าตัว แล้วยิ่งถ้าหายไปทีเป็นปีก็คงสร้างความลำบากให้แก่เพื่อนร่วมงานและบริษัทมาก บริษัทจะจ้างคนมาทำแทนชั่วคราวก็คงยาก จ้างคนใหม่มาทำเต็มเวลาก็ไม่ได้อีกหากคนเดิมไม่ได้ลาออก
อีกอย่างคือคนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบงานของตัวเอง ถ้าไม่มาทำงาน คนอื่นก็จะเดือดร้อนเพราะต้องมาทำแทน และที่สำคัญคือถึงจะมีคนอยากใช้สิทธิ์ลาตามกฎหมายอย่างไรก็คงไม่กล้า เพราะไม่รู้ว่าบริษัทจะทำอย่างไรกับตนต่อไป
การที่บริษัทบางแห่งใช้มาตรการแข็งกร้าวต่อพนักงานที่ลาเลี้ยงดูบุตร อาจเป็นการบ่งชี้ว่าถึงความไม่พอใจที่พนักงานขาดสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมว่าต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัว ดังนั้นหากวัฒนธรรมและค่านิยมในการทำงานของคนญี่ปุ่นยังคงเดิม การยอมรับสิทธิลาหยุดตามกฎหมายของพนักงานคงเกิดขึ้นได้ยาก ต่อให้กฎหมายจะอลุ่มอล่วยให้แค่ไหนก็ตาม
มีบางคนให้ทัศนะว่าการที่บริษัทยังคงโยกย้ายพนักงานตามใจชอบท่ามกลางยุคสมัยที่ประชากรลดลงเรื่อย ๆ อีกทั้งผู้หญิงก็ทำงานเต็มเวลาเหมือนผู้ชาย รังแต่จะทำให้ผู้หญิงที่รักความก้าวหน้าและอาชีพการงานไม่ยอมแต่งงานหรือไม่ยอมมีลูกกันยิ่งขึ้น เพราะกลัวว่าความเปลี่ยนแปลงในด้านการงานของฝ่ายชายจะกระทบอนาคตตนไปด้วย
นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาสังคมเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสถานภาพสตรี เพิ่มจำนวนประชากรญี่ปุ่น และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปสังคมญี่ปุ่นน่าจะอยู่ที่ค่านิยมที่ฝังรากลึกในสังคมเอง ซึ่งไม่อาจปรับเปลี่ยนได้ง่ายเพียงแค่ในชั่วเวลาสั้น ๆ เหมือนกฎหมาย ซึ่งญี่ปุ่นก็คงได้แต่ต้องคิดหาแนวทางแก้โจทย์ยากข้อนี้ต่อไป
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.