“เฉลิมพล ปุณโณทก” ผู้ปลุกปั้นหุ่นยนต์ “ดินสอ” จุดประกายชวน รัฐบาลและเอกชนรวมพลังสร้างหุ่นยนต์แห่งชาติเรียกศรัทธาวงการโรบอทไทย เผยปม“วาจาพาที”ของเนคเทคตั้งหน้าขายคนไทยจนสุดท้ายบริษัทหุ่นยนต์ไทยต้องหันไปใช้ระบบวิเคราะห์ภาษาไทยของต่างชาติ ด้าน “ชิต เหล่าวัฒนา” ย้ำประเทศไทยโชคดีประมูล 5G ก่อนโควิดเพราะ 5G มีความหมายกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะมีหุ่นยนต์เกี่ยวข้องโดยตรง
สำหรับวงการหุ่นยนต์ไทยหลังยุคโควิด-19 มีโอกาสสูงที่แสงไฟจะเปลี่ยนโฟกัสจากหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต มาเด่นที่หุ่นยนต์โลจิสติกส์และระบบจัดสินค้าคงคลังแบบอัตโนมัติ แถมโควิด-19 ยังผลักดันให้มีนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยคุณหมอ ส่งให้หุ่นยนต์กลายเป็นนิวนอร์มัล โดยที่ทุกชาติทุกภาษาเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เกี่ยวกับโควิดในเวลาพร้อมกันแบบไม่มีใครเริ่มก่อนใคร
โควิด-19 ถูกมองว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เด็กไทยรุ่นใหม่สนใจเรื่องหุ่นยนต์มากขึ้น ขณะที่โครงการยักษ์อย่าง EEC ก็ถูกมองว่าจะช่วยให้วงการหุ่นยนต์ไทยตื่นตัว เป็นโอกาสที่บริษัทไทยจะเป็นพันธ มิตรกับบริษัทระดับโลกเพื่อส่งออกหุ่นยนต์อัตโนมัติ
***ตอบโจทย์ยุคเลย์ออฟ
รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษา (Excecutive Advisor) สำนักงานระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก:อีอีซี (Eastern Economic Corridor Office of Thailand) กล่าวถึงภาพใหญ่วงการหุ่นยนต์ไทยในงานสัมมนาออนไลน์ “ThaiFightCovid Technical Forum Episode #11 : "Thai Robots: from Research to Market" ว่านับตั้งแต่ปี 1995 ไทยมีการจัดตั้งสมาคม Thai robotic society และมีการแข่งขันทุกปีจนสามารถสร้างเด็กไทยกว่า 1,000 คนต่อปี คนกลุ่มนี้กลายเป็นบุคลากรในวงการหุ่นยนต์หลายแห่ง ขณะเดียวกันไทยก็มีแผนสนับสนุนด้านภาษีเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน และผลักดันให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นฐานสำคัญของ 4 S curve ที่ EEC ต้องการทำ จนล่าสุด อุตสาหกรรมใหญ่กำลังจะเปลี่ยนแปลงเพราะโควิด เพราะจะต้องรักษาธุรกิจไว้ให้ได้ในวันที่ต้องเลย์ออฟพนักงาน ซึ่งคาดว่าจะขยายผลถึงหลัก 6-7 แสนคน
“โจทย์ที่ได้มาคือการทำให้คนที่อยู่ในระบบยังผลิตได้ เรา พยายามยิงนกทีเดียวหลายตัว ขณะนี้มีการไปถามอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เลย์ออฟน้อยลง แล้วเริ่มอบรมเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นจะเป็นเทียร์วันในโครงการนี้ รัฐบาลไทยจะช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายในท้องถิ่นแบบเต็มจำนวน จากเดิมที่แบ่งครึ่งกันจ่าย เชื่อว่าโควิด-19 จะทำให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ในปีหน้า”
รศ.ดร.ชิต เผยว่าจุดยืนประเทศไทยในสายตาต่างชาติมองว่าไทยยังใช้หุ่นยนต์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนต่อประชากรแต่หลายประเทศมองว่าไทยน่าสนใจลงทุนเพราะอุตสาหกรรมในประเทศกำลังเติบโตมาก ทำให้แม้สิงคโปร์จะใช้งานหุ่นยนต์มากกว่าไทย แต่ความกระหายที่จะใช้เทคโนโลยีมีน้อยกว่า ภาพรวมนี้ทำให้มีการเจรจาเพื่อให้นักลงทุนมาลงทุนที่ EEC แล้วประสานงานกับสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ทำให้มีการประกาศเปิดบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรไทยจากญี่ปุ่น คิดว่าจะมีบริษัทวิศวกรรมลักษณะนี้อีก 4-5 รายเกิดขึ้นหลังจากโควิดชะลอตัว เพราะเป็นช่วงที่เปิดให้นักลงทุนเข้ามาไทยแล้ว
รศ.ดร.ชิตมองว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่เปิดประมูล 5G เรียบร้อยก่อนเกิดโควิด-19 ในประเทศ เพราะ5G มีความหมาย กับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยตรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่น กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการทำโครงข่ายสมาร์ทซิตี้ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในพื้นที่สมาร์ทซิตี้ภายใน 4 ปี
“หลังโควิดเจือจาง เราจะจัดงานอบรมให้เอาโครงข่ายมาหนุน ตอนนี้ไมโครซอฟท์ วีเอ็มแอร์ และอีกหลายบริษัทสนใจร่วมกับบริษัทโลคัล คิดว่าถ้าเราช่วยกันคิด ดันงานวิจัยให้ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ก็จะเห็นความร่วมมือที่หลากหลาย”
สำหรับโควิด-19 ภาพข่าวเรื่องนวัตกรรมหุ่นยนต์ผู้ช่วยคุณหมอทำให้สังคมตื่นตัวว่าหุ่นยนต์กำลังกลายเป็น “นิวนอร์มัล” ทั้งหมดกำลังจะเปิดหน้าสงครามใหม่กับบริษัทหุ่นยนต์ต่างประเทศ แง่ดีคือธุรกิจมีโอกาสสูงเพราะสังคมมีความพร้อมเปิดใจรับ แต่ธุรกิจจะต้องคิดให้ขาดว่าจะต่อยอดอย่างไรกับความต้องการที่มากขึ้น
“ภาพที่กำลังเกิดขึ้น คือตอนนี้มีองค์กรพร้อมให้กู้ดอกเบี้ยต่ำนานสูงสุด 30 ปีเพื่อสร้างหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เชื่อว่าหุ่นยนต์ที่จะโดดเด่นต่อจากนี้คือหุ่นยนต์โลจิสติกส์ และระบบจัดสินค้าคงคลังแบบอัตโนมัติ สำหรับหุ่นยนต์ช่วยการแพทย์ที่ได้รับความสนใจเพราะโควิด ผมคิดว่าประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังเลยเรื่องการแพทย์ แม้เรื่องเทคโนโลยีโรงงานของไทยอาจจะพัฒนาช้ากว่าต่างประเทศ ราว 20-30 ปี แต่สมการสำคัญคือวันนี้มูลค่าการใช้เทคโนโลยีกำลังจะเท่ากับค่าเทคโนโลยีแล้ว เราจะพบว่าไทยไม่ได้ล้าหลังอีกต่อไป นี่เป็นโอกาสสำคัญ ภาพที่ปรากฏในหลายสื่อทำให้เห็นว่าไทยไม่ได้ล้าหลัง และจะเป็นกลไกทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องหุ่นยนต์”
รศ.ดร.ชิต ย้ำว่าธุรกิจหุ่นยนต์ไทยจะเติบโตได้เมื่อมีแพลตฟอร์ม เพราะการพัฒนาหุ่นเป็นตัวเพื่อจำหน่ายนั้นไม่สร้างรายได้มากนัก แต่ควรต้องเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้หลายคนนำไปต่อยอดได้ จะเป็นมูลค่าที่สูงมาก ดังนั้นธุรกิจจึงไม่ควรหยุดที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ แต่จะต้องมีหลายส่วนทั้งคลาวด์ การวิเคราะห์ข้อมูล และการรับส่งข้อมูลต่างๆ เพราะนับจากนี้ ฮาร์ดแวร์จะเป็นส่วนรองที่ราคาลดต่ำลงต่อเนื่อง เช่นจากที่เคยจำหน่าย 3 ล้านบาท ปัจจุบัน 6 แสนบาทก็ซื้อหาได้
“ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องกับศุลกากร ให้ยกเว้นภาษีนำเข้าหุ่นยนต์ ให้บริษัทไทยมีฮาร์ดแวร์หุ่นยนต์ในราคาเท่ากับสิงคโปร์ ตรงนี้จะเป็นคีย์เทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากใน 5 ปี”
***“แพลตฟอร์มแห่งชาติ” ต้องมา
เฉลิมพล ปุณโณทก เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด กล่าวว่าแผนการทำแพลตฟอร์มกลางระหว่างหน่วยงานไทยในวงการหุ่นยนต์ยังไม่คืบหน้า เพราะพันธมิตรมองว่ายังไม่คุ้มทำ ส่วนหนึ่งเพราะโครงการ นี้ไม่มี ”พี่เบิ้ม” ที่เชี่ยวชาญด้านคุณสมบัติสำคัญในหุ่นยนต์ เช่น ระบบวิเคราะห์เสียงหรือระบบแปลงข้อความเป็นเสียงอย่างระบบ “วาจาพาที” ของเนคเทคหรือศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
“นี่เป็นความฝันของผมเลย ถ้าเนคเทคปล่อยให้บริษัทที่พัฒนาหุ่นยนต์หรือแอปพลิเคชันได้หยิบ "วาจาพาที" ไปใช้ฟรี เพราะเนคเทคก็ของไทย ถ้าเราเอามาใช้ฟรี ทำให้สินค้าเราขายได้ เราก็มีกำไร สรรพากรก็เก็บภาษีเราเพื่อเอาเงินให้เนคเทคไปพัฒนาต่อ ถ้าเนคเทคไม่ถนัดเรื่องทำตลาดก็ควรทำโมเดลนี้ คือควรสร้างอีโคซิสเต็มที่เอื้อขึ้นมา ให้คนเก่งคนไทยทำสิ่งที่ถนัด แต่การขายระหว่างกัน ทำให้สุดท้ายก็ไม่เดิน สุดท้ายเราก็ต้องใช้ระบบวิเคราะห์ภาษาไทยของจีน ที่อยู่บนคลาวด์และเข้ามาทำการตลาดในไทย แล้วก็ให้ใช้ฟรีก่อนเหมือนที่โครมกับกูเกิลทำ สุดท้ายแล้วก็จูงมือกันแพ้”
เฉลิมพลย้ำว่าปัญหาของประเทศไทยคือคนเก่งจูงมือกันทำไม่ได้ ทำให้เกิดวิกฤต “จูงกันแพ้” ทำให้บริษัทไทยต้องไปพบ “คนโน้นคนนี้” เพื่อให้รอด ทางที่ดีคืออุตสาหกรรมควรร่วมมือกัน อะไรที่เป็นอินฟราหรือแพลตฟอร์มควรรวมเป็นทีมเวิร์กแล้วของบจาก รัฐบาลเพื่อสร้างความสามารถของสินค้าไทยจากนั้นจะนำไปพัฒนาที่ EEC ด้วยก็ได้ แต่สำคัญที่การรวมพลัง
“ถ้าสร้างศรัทธาได้ ก็จะเกิดความช่วยเหลือ อยากให้เราสร้างหุ่นยนต์แห่งชาติที่เรียกพลังได้ พี่ตูน บอดี้สแลมวิ่งแล้วได้ศรัทธา เงินก็มาช่วยเหลือ ทีนี้ ศรัทธาที่วงการหุ่นยนต์ไทยจะสร้าง เราควรต้องสร้างความเจ๋งเพื่อให้ไทยไม่อยู่ในฐานะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแบบวันนี้”
เฉลิมพลยกตัวอย่างการอยากสร้างหุ่นยนต์ที่เดินไปช่วยคนป่วยในชนบท หรือหุ่นยนต์ที่เดินไปพูดต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่เดินทางมาเมืองไทยในฐานะตัวแทนประเทศ เฉลิมพลเชื่อว่าหุ่นยนต์แห่งชาตินี้เองที่จะเรียกศรัทธา และเรียกพลังได้
“พอได้ตัวนี้ขึ้นมาแต่ละบริษัทก็สามารถเอาไปทำ ไปปรุงเป็นของตัวเอง คืออะไรก็ตามที่ผู้ประกอบการหมดแรง รัฐก็ควรต้องช่วย แต่ถ้ารัฐทำแบบ สวทช. ซึ่งมี KPI ว่า จะต้องทำเงินด้วย มันทำให้เอกชนเข้าไปร่วมกับ “คลังสรรพาวุธมันสมอง” แห่งชาตินั้นไม่ได้ คือถ้าเรารวยเราก็ตั้งหน่วยงานวิจัยเองได้ แต่นี่เราจน เราถึงแบมือขออยุธยาว่า “ช่วยบางระจันหน่อย” พม่ามาขนาดนี้แล้ว ผมก็ไม่อยากให้หุ่นยนต์ดินสอ และทีมพัฒนาต้องตายเหมือนบางระจัน ทั้งที่อยุธยามีทุกอย่างครบทั้งเสบียงและปืนใหญ่แต่ไม่ให้มา เราสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่แล้วเป็นเรื่องดี มี EEC เป็นอยุธยาใหม่ แต่ช่วยส่งกระสุน มาให้ด้วย จะได้ไปช่วยกันรบ”
เฉลิมพลทิ้งท้ายว่าการสร้างหุ่นยนต์แห่งชาติจะเรียกศรัทธาลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นการนำเอาเงินเข้ากระเป๋าใคร แต่จะทำให้มีเวทีที่เอกชนสามารถทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน รับประโยชน์ร่วมกัน
คำพูดของเฉลิมพลถือเป็นการกระทุ้งรัฐบาลไทยที่ชัดเจน ในวันที่ประเทศจีนทั้งสนับสนุนและ “บล็อกคู่แข่ง” ให้บริษัทหุ่นยนต์ในประเทศลืมตาอ้าปากบนเวทีโลก ซึ่งหากทำไม่ได้ หุ่นยนต์ไทยก็อาจไม่มีแรง "กระหึ่ม" หลังโควิด-19.