xs
xsm
sm
md
lg

AIS ชูวิสัยทัศน์ 5G พาไทยชิงความได้เปรียบต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



AIS ประกาศแผนชวน 3 ภาคส่วนหลักทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน มุ่งสู่ ‘AIS 5G ร่วมแรงสู้ฟื้นฟูประเทศไทย’ ด้วยการนำประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้งาน หลังไทยกลายเป็นผู้นำในการให้บริการ 5G ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเดิมด้วยพื้นที่อีอีซี ที่ฉายภาพการลงทุน 5G ชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงวิสัยทัศน์ AIS 5G ร่วมแรงสู้ฟื้นฟูประเทศไทย (AIS 5G Forging Thailand’s Recovery) นั้นจะอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ 3F ที่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกประเทศจะเข้าสู่ช่วงตกต่ำจากวิกฤต (Fall) จนถึงในปัจจุบันหลายๆประเทศเริ่มเข้าสู่ช่วงแห่งการต่อสู้เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤต (Fight) เพื่อให้เกิดช่วงสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน (Future)

โดยเชื่อว่าในเวลานี้ประเทศไทยได้ผ่านช่วง Fall ไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วง Fight ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกัน เพื่อให้ Future เกิดขึ้นในประเทศไทยเร็วที่สุดภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทย ได้เปรียบนานาประเทศ

“ส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G มาทำให้เกิดโอกาส เนื่องจากดิจิทัลเป็นอย่างเดียวที่ทำให้รายเล็กสามารถชนะรายใหญ่ได้ ประเทศไทยที่เป็นประเทศเล็กๆ ถ้านำ 5G มาใช้งานก็จะทำให้เกิดโอกาสในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนของนานาชาติ”


เนื่องจากในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา 3 ภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ส่งออก และการลงทุน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือ การพัฒนาระบบสาธารณสุขมาเป็นแหล่งรายได้ใหม่ อย่างการทำทัวร์เพื่อสุขภาพ จนถึงการหาช่องทางสร้างรายได้ให้ประเทศผ่านการนำเสนอความแข็งแกร่งทางด้านศิลปวัฒนธรรม และอาหาร

ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบรุนแรง เพื่อให้บริษัทเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุน และแน่นอนว่าเพื่อให้เกิดดิจิทัลแพลตฟอร์มของคนไทย ซึ่งภาครัฐบาลต้องสนับสนุน ในการเข้ามากำกับดูแล และสนับสนุนผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ ไม่ใช่เข้ามากำกับและควบคุมเพื่อให้เกิดรายได้แก่รัฐมากที่สุด

ในขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องจับมือร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อร่วมกันทำงานเป็นอีโคซิสเตมส์พาร์ทเนอร์ ด้วยการนำความเชี่ยวชาญในแต่ละภาคส่วนมาผสมผสานร่วมกัน สำหรับประชาชนในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาได้กลายเป็นตัวเร่งให้เข้าสู่ดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน มีความรู้ความเข้าใจดิจิทัลมากขึ้น เมื่อทั้ง 3 ส่วนร่วมกันดิจิทัลแพลตฟอร์มของคนไทยก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ทางเอไอเอส ก็ไม่หยุดที่จะลงทุนโครงข่าย 5G ภายใต้งบประมาณที่วางไว้ 35,000 - 45,000 ล้านบาท ในการขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“ถ้าเราไม่ลงทุนในวันนี้ แล้วใครจะลงทุน สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแรกคือต้องให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแข็งแรงก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การเข้าไปร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันนำเทคโนโลยีไปช่วยฟื้นฟูประเทศไทยอย่างจริงจัง”


พร้อมกันนี้ เอไอเอส ได้มีการประกาศแผนเพิ่มพื้นที่ให้บริการ AIS 5G ให้ครอบคลุมการใช้งานของประชาชนเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการนำ 5G ไปใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เริ่มต้นจากในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ปัจจุบันมีการนำ AIS 5G เข้าไปให้บริการครบคลุมทั้งภาคพื้นดิน ทางอากาศ และทางทะเล

เพื่อให้ภาพของการนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่าง 5G มาใช้งานให้เห็นภาพมากที่สุด เอไอเอส จึงได้เข้าไปเป็นพันธมิตรกับทั้งกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อย่าง อมตะ สหพัฒนา และ WHA ในการทดสอบ 5G Smart City

ตามด้วยทางอากาศ ที่ร่วมมือกับ อู่ตะเภา และบีบีเอส ที่ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกทดลองทดสอบ 5G Smart Airport และทางทะเลที่ร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย นำ 5G ไปช่วยในการบริหารจัดการ

ไม่เพียงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ที่สามารถนำ 5G เข้าไปใช้ได้ เพราะในมุมของการค้าปลีก และการท่องเที่ยว การนำเทคโนโลยี 5G มาผสมผสานกับ AR/VR ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ (Immersive Experience) ทั้งการช้อปปิ้ง และการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เปิดกว้างให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต


ทั้งนี้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่เอไอเอส ให้บริการในประเทศไทยกว่า 30 ปี ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยไปแล้วกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีการส่งมอบทรัพย์สินระหว่างสัญญาร่วมการงานกับทางทีโอทีไปกว่า 2 แสนล้านบาท และเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากว่า 2.3 แสนล้านบาท

“ในยุค 3G ไทยช้ากว่าประเทศอื่นๆ ประมาณ 10 ปี ในยุค 4G ไทยยังช้ากว่า นานาประเทศ ประมาณ 5 ปี แต่สำหรับในยุค 5G ประเทศไทยไม่ช้าไปกว่าใคร โดยเฉพาะความรุดหน้าด้านเทคโนโลยีที่เทียบชั้นเครือข่าย 5G ชั้นนำ อย่างประเทศจีนและเกาหลี และ AIS 5G จะเป็น Infrastructure ใหม่ให้แก่ประเทศไทย”




กำลังโหลดความคิดเห็น