xs
xsm
sm
md
lg

"โอฮางิ"...ขนมญี่ปุ่นทำเองได้ที่บ้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://park.ajinomoto.co.jp/recipe/card/705937
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติมีท่านไหนได้เข้าครัวทำอาหารทำขนมกันบ้างไหมคะ ? ฉันเองก็ขอยกมือด้วยคนค่ะ จากที่เคยขี้เกียจทำกับข้าวก็ได้ทำกับข้าวและขนมที่ไม่เคยทำมาก่อน “โอฮางิ” หรือ ขนมถั่วแดงห่อข้าวเหนียว ก็เป็นหนึ่งในเมนูนั้นด้วย

ขนมชนิดนี้มีชื่อเรียกที่นิยมกันอยู่สองชื่อ คือ “โอฮางิ” กับ “โบะตาโมจิ”

“โอฮางิ” เป็นชื่อเรียกขนมนี้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ตาม “ฮางิ” ซึ่งเป็นไม้พุ่มออกดอกสีชมพูม่วงในฤดูใบไม้ร่วง แต่พอเป็นฤดูใบไม้ผลิก็จะเรียกขนมนี้ว่า “โบะตาโมจิ” ตามดอกโบตั๋นซึ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ ในบทความนี้ฉันขอเรียกว่า “โอฮางิ” ก็แล้วกันนะคะ เพราะคุ้นกับชื่อนี้มากกว่า

ดอกฮางิ ภาพจาก https://shiny-garden.com/

ดอกโบตั๋น ภาพจาก https://horti.jp/1958
หน้าตาของขนมโอฮางิอาจชวนให้หลงคิดว่าเป็นขนมคนสูงอายุ แต่สัมผัสของข้าวเหนียวหนา ๆ นุ่มลิ้นกับถั่วแดงกวนก็เข้ากันอย่างลงตัว ถ้ารับประทานคู่กับชาร้อนเข้ม ๆ สักถ้วยก็ยิ่งอร่อยเข้าไปอีก แต่อย่าได้เผลอรับประทานทีละมากๆ เชียว เพราะอุดมไปด้วยแป้งและน้ำตาล นอกจากจะอิ่ม อืดแล้วยังอ้วนอีกต่างหาก

ในต่างประเทศหาโอฮางิรับประทานยาก พอโควิดมาเยือนทำให้ไม่ค่อยได้ออกไปไหน ฉันนึกอยากกินโอฮางิจึงหาสูตรทำเอง ถึงได้รู้ว่าไม่ได้ทำยากอย่างที่คิด เพียงแต่ใช้เวลาหน่อยเท่านั้นเอง

ฉันขอนำเสนอวิธีทำโอฮางิสามสี ได้แก่ โอฮางิโรยผงคินาโกะ(ผงถั่วเหลืองบด) โอฮางิโรยงาดำป่น และโอฮางิถั่วแดง

ภาพจาก https://www.nichireifoods.co.jp/media/8188/
ต้มถั่วแดงกวน

ก่อนจะทำโอฮางิ เราต้องเตรียมถั่วแดงกวนให้พร้อมก่อน ทำเสร็จแล้วใส่ตู้เย็นไว้ วันต่อมาค่อยมาทำโอฮางิก็ได้ เพราะต้มถั่วก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมงอยู่

ภาพจาก https://www.gnavi.co.jp/dressing/article/21366/
วัตถุดิบ
ถั่วแดงดิบ 150 กรัม
น้ำตาล 150 กรัม
เกลือป่น เล็กน้อย

วิธีทำ
1. แช่ถั่วแดงข้ามคืน จากนั้นเทน้ำแช่ถั่วแดงทิ้ง
2. ใส่ถั่วแดงลงหม้อ เติมน้ำลงไปให้สูงกว่าถั่วประมาณ 2-3 ซม. เปิดไฟกลาง พอเดือดแล้วใส่น้ำเพิ่มลงไปอีกครึ่งถ้วยตวง พอเดือดอีกครั้งให้ต้มต่อไปอีกห้านาที จากนั้นเทน้ำทิ้ง ล้างถั่วแดงด้วยน้ำสะอาด

ภาพจาก https://oceans-nadia.com/user/22477/article/2321
3. ทำข้อ 2 ซ้ำอีกรอบหนึ่ง
4. ใส่ถั่วแดงที่ต้มและล้างแล้วจากข้อ 3 ลงในหม้ออีกครั้ง ครั้งนี้เติมน้ำลงไปให้มากกว่าถั่วแดงเท่าหนึ่ง ตั้งไฟกลาง พอเดือดแล้วเบาไฟลง คอยรักษาระดับน้ำในหม้อให้สูงพอดีกับถั่วแดง ถ้าน้ำงวดต่ำกว่าถั่วแดงก็ให้เติมน้ำทีละน้อย ต้มไปเรื่อย ๆ จนถั่วนิ่มลง

ภาพจาก https://oceans-nadia.com/user/22477/article/2321
5. ลองหยิบถั่วมาดูหลาย ๆ เม็ด (ระวังร้อน) หากสามารถใช้นิ้วบี้ให้เละได้ทุกเม็ด (อย่างในรูปด้านล่างนี้) แสดงว่าใช้ได้แล้ว ถ้ายังมีเม็ดไหนแข็งอยู่ก็ต้มต่อไปอีก (ห้ามใส่น้ำตาลลงไปตอนถั่วยังไม่นิ่มดี ไม่อย่างนั้นถั่วจะไม่นิ่มอีกเลย)

ภาพจาก https://oceans-nadia.com/user/22477/article/2321
6. เมื่อถั่วนิ่มแล้วก็ปิดเตาได้ ปิดฝาทิ้งไว้ 20 นาที จากนั้นเทน้ำทิ้ง เอาถั่วแดงใส่ชามพักไว้
7. ล้างหม้อให้สะอาด ใส่น้ำ 50 มล. (1/4 ถ้วย) และน้ำตาลทราย 150 กรัมลงในหม้อ เปิดเตา คนให้น้ำตาลละลาย
8. ใส่ถั่วแดงลงไป เปิดไฟกลาง คนไปเรื่อย ๆ จนน้ำงวดประมาณตามภาพ

ภาพจาก https://marron-dietrecipe.com/desert/dessert_anko.html
9. ใส่เกลือป่นราวหยิบนิ้วลงไป คนให้เข้ากัน ปิดเตา ยกลงทิ้งให้เย็น (พอถั่วเย็นลงน้ำจะงวดลงไปอีก เพราะฉะนั้นตอนกวนถั่วในข้อ 8 ไม่ต้องกวนถั่วจนแห้ง)

หมายเหตุ: ถั่วแดงกวนที่ได้สามารถเก็บเข้าตู้เย็นใช้วันต่อไปได้ หรือใส่ช่องแข็งเก็บได้เป็นเดือน เมื่อจะใช้ค่อยเอาออกมาละลายที่อุณหภูมิห้อง

คราวนี้มาดูในส่วนของการทำโอฮางิบ้าง (เราจะทำโอฮางิทั้งหมด 16 ชิ้น คือ โรยผงคินาโกะ 4 ชิ้น, โรยงาดำ 4 ชิ้น และถั่วแดง 8 ชิ้น)

วัตถุดิบ
A ทำตัวขนมข้าวเหนียว
ข้าวเหนียว 1 ถ้วย
ข้าวเจ้า 1/3 ถ้วย
น้ำ 300 มล.

B ทำผงงาดำ
งาดำบด 1/4 ถ้วย
น้ำตาล 15 กรัม
เกลือป่น ปลายช้อนกาแฟ

C ทำผงคินาโกะ
ผงถั่วเหลืองบด (คินาโกะ) 1/4 ถ้วย
น้ำตาล 15 กรัม
เกลือป่น ปลายช้อนกาแฟ

D น้ำ 1 ถ้วยผสมเกลือป่น 1/2 ช้อนชา (ใช้ตอนตำและปั้นข้าว)

E ถั่วแดงกวน 200 กรัม (ทำไส้ขนม)

เตรียมการ
A ล้างข้าวเหนียวและข้าวเจ้าด้วยกัน แช่น้ำสะอาด 300 มล. ทิ้งไว้ข้ามคืน วันต่อมานำข้าวและน้ำหุงในหม้อหุงข้าวได้เลยตามปกติแบบเดียวกับหุงข้าวสวย
B นำงาดำมาคั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนให้หอม จากนั้นบดงาในชามหรือใช้เครื่องปั่นบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำตาลและเกลือ ใส่จานแยกไว้
C ผสมผงคินาโกะกับน้ำตาลและเกลือ ใส่จานแยกไว้
D เตรียมน้ำ 1 ถ้วยผสมเกลือ 1/2 ช้อนชา ใส่ชามแยกไว้
E นำถั่วแดงกวนมาแบ่งออกเป็น 2 กอง ในอัตราส่วน 1:2 (1 ส่วนสำหรับทำโอฮางิโรยผงคินาโกะกับโรยงาดำ และ 2 ส่วนสำหรับทำโอฮางิถั่วแดง)

ภาพจาก https://www.nichireifoods.co.jp/media/8188/
คราวนี้เราจะเริ่มปั้นโอฮางิ 2 ชนิดก่อน คือ โอฮางิแบบโรยผงคินาโกะ กับโรยงาดำ

วิธีทำโอฮางิโรยผงคินาโกะ และโรยงาดำ
1. นำถั่วแดงกองแรก (กองที่มี 1 ส่วน) มาปั้นให้ได้ราว 8 ก้อนเท่า ๆ กัน วางเรียงในถาดพักไว้

ภาพจาก https://www.imuraya.co.jp/recipe/azuki/vol15/
2. นำข้าวที่เพิ่งหุงสุกใหม่ ๆ มาตำเบา ๆ โดยคอยจุ่มสากลงในชามน้ำเกลือ แล้วตำไปเรื่อย ๆ ข้าวจะได้ไม่ติดสาก ตำไปจนกระทั่งข้าวค่อย ๆ หนืดข้น แต่ยังคงมีเมล็ดข้าวพอหยาบให้เห็น (อย่าตำให้แหลกเกินไป)

ภาพจาก https://daidokolog.pal-system.co.jp/recipe/2761
3. เมื่อข้าวตำได้ที่แล้ว ให้แบ่งข้าวออกเป็น 2 กอง อัตราส่วน 2:1 (2 ส่วนสำหรับทำโอฮางิโรยผงคินาโกะกับโรยงาดำ และ 1 ส่วนสำหรับทำโอฮางิถั่วแดง)
4. เอามือจุ่มน้ำเกลือ ปั้นข้าวกองแรก (กองที่มี 2 ส่วน) ให้เป็น 8 ก้อนเท่า ๆ กัน วิธีปั้นให้แบะข้าวทีละก้อนบนฝ่ามือให้กลายเป็นแผ่น

ภาพจาก https://erecipe.woman.excite.co.jp/detail/process/


5. นำถั่วแดงที่ปั้นไว้ในข้อ 1 มาใส่เป็นไส้ เอาข้าวห่อให้สนิทรอบด้าน เมื่อได้แล้ววางลงในถาดที่ทาน้ำเกลือเตรียมไว้ (ข้าวจะได้ไม่ติดถาด) ทำให้ครบทั้ง 8 ก้อน

ภาพจาก https://erecipe.woman.excite.co.jp/detail/
6. แบ่งข้าวที่ห่อไส้ถั่วแดงแล้ว 4 ก้อน ลงคลุกในผงคินาโกะที่ผสมไว้ทีละก้อน แล้ววางในจานสำหรับเสิร์ฟ โรยผงคินาโกะอีกครั้ง

ภาพจาก https://erecipe.woman.excite.co.jp/detail/
7. นำข้าวที่ห่อไส้ถั่วแดงแล้วที่เหลืออีก 4 ก้อนคลุกงาดำป่นที่ผสมไว้ทีละก้อน แบบเดียวกับผงคินาโกะ

ตอนนี้เราก็ได้โอฮางิสองแบบแล้วนะคะ ต่อมาเรามาทำโอฮางิถั่วแดงกันเลยดีกว่า

วิธีทำโอฮางิถั่วแดงจะทำสลับจากโอฮางิสองแบบแรก คือแทนที่จะใช้ถั่วแดงเป็นไส้ข้าวในก้อนข้าว ก็เอาถั่วแดงมาห่อเป็นเปลือกหุ้มไว้ด้านนอกก้อนข้าวแทน แล้วไม่ต้องคลุกผงอะไรตอนท้าย ลักษณะจะเป็นเหมือนในรูปค่ะ

ภาพจาก https://www.kitakyushu-museum.jp/
วิธีทำโอฮางิถั่วแดง
1.ปั้นถั่วแดงกองที่เหลือออกเป็น 8 ก้อนเท่า ๆ กัน
2.ปั้นข้าวที่เหลือออกเป็น 8 ก้อนเท่า ๆ กัน


3.หยิบก้อนถั่วแดงมาแบะออกให้แบน จากนั้นนำข้าวมาใส่เป็นไส้ตรงกลาง

ภาพจาก https://erecipe.woman.excite.co.jp/detail/
4. ปั้นให้ถั่วแดงปิดข้าวไว้สนิทและแน่นดี ทำให้ครบทุกก้อน

ภาพจาก https://erecipe.woman.excite.co.jp/detail
คราวนี้เราก็ได้โอฮางิครบสามสีแล้ว วิธีทำไม่ยากเลยใช่ไหมคะ เพียงแต่มีขั้นตอนพอสมควร เพื่อน ๆ อาจจะลองดูวีดีโอสาธิตวิธีทำโอฮางิพร้อมกันทั้งสามแบบ จะเห็นภาพง่ายขึ้นว่าต้องปั้นอย่างไรค่ะ



ฉันเคยลองใช้ข้าวเหนียวดำมาทำโอฮางิด้วยค่ะ เพราะชอบสัมผัสของข้าวเหนียวดำมากกว่าข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวดำก็มีคุณค่าทางอาหารมากกว่า แต่พอลองทำแล้วก็เข้าใจว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยเอาข้าวเหนียวดำมาทำโอฮางิ เพราะสีมันกลืนกับกับถั่วแดงกวนจนเวลาปั้นจะสับสนว่าส่วนไหนเปลือกส่วนไหนไส้ แต่ก็พอจะทำได้อยู่ และฉันออกจะชอบโอฮางิสูตรส่วนตัวที่ทำจากข้าวเหนียวดำมากกว่า เพราะเคี้ยวแล้วสนุกปากดี

เพื่อนผู้อ่านลองทำกันดูค่ะ ได้ผลอย่างไรอย่าลืมกลับมาเล่าให้ฟังนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น