คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อก่อนตอนอยู่ญี่ปุ่นฉันมักไปต่างจังหวัดอยู่บ่อย ๆ เพื่อเยี่ยมคนรู้จักบ้าง ครอบครัวสามีบ้าง ส่วนใหญ่ก็เดินทางด้วยรถไฟชิงกังเซ็นจากกรุงโตเกียวผ่านภูเขาและทุ่งนาสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ที่ไกลออกไป ภาพทิวทัศน์ที่เห็นทำให้รู้สึกถึงความเป็นชนบทห่างไกลความเจริญ แต่พอเข้าไปในบ้านแล้วภาพเหล่านั้นก็มลายไป รู้สึกถึงความทันสมัยขึ้นมาในบัดดล
บ้านเกิดของสามีฉันอยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เรามักจะไปเยี่ยมบ้านกันตอนช่วงปลายปี พอลงจากชิงกังเซ็นปุ๊บก็ไม่ค่อยจะมีเวลาให้โอ้เอ้มากนัก เพราะรถไฟมีจำนวนเที่ยวน้อยแต่มาตรงเวลา ถ้าพลาดก็ต้องรออีกอย่างต่ำครึ่งชั่วโมง ส่วนใหญ่เราจึงรีบไปรอรถไฟท้องถิ่นทันทีที่ลงจากรถไฟชิงกังเซ็น แต่อย่างไรถ้าต้องรอรถไฟนานก็สามารถแกร่วอยู่ภายในสถานีนั้นได้
คงเพราะเป็นสถานีที่มีรถไฟชิงกังเซ็นจอดให้ขึ้นลง ภายในสถานีจึงดูทันสมัย หากแต่มีร้านจำนวนน้อยมาก มีเพียงร้านโซบะ ร้านขายข้าวกล่อง ร้านขายของฝาก และร้านสะดวกซื้ออย่างละร้านเท่านั้น แต่ละร้านก็ขนาดเล็กจนน่าจะเรียกว่าเป็น "ซุ้ม" เสียมากกว่า ที่เหลือเป็นห้องสำหรับนั่งรอรถไฟ ซึ่งสามารถซื้ออะไรมารับประทานระหว่างรอได้
เราต้องนั่งรถไฟท้องถิ่นต่อไปอีกประมาณ 4 สถานีจึงจะถึงสถานีบ้านเกิด สังเกตว่าระยะห่างระหว่างสถานีนั้นออกจะไกลจากกันพอสมควร เพราะแม้จะเพียงแค่ 4 สถานีแต่ก็กินเวลาถึง 20 นาที คาดว่าคงเพราะระยะห่างระหว่างชุมชนหนึ่ง ๆ ในชนบทนั้นค่อนข้างไกลจากกัน
ตลอดทางที่รถไฟแล่นผ่านจะเห็นแต่ทุ่งและภูเขา มีบ้านคนอยู่หร็อมแหร็มไกล ๆ เมื่อจะขึ้นลงสถานีใดก็ต้องกดปุ่มเปิดปิดประตูเอาเอง ไม่ได้เปิดปิดอัตโนมัติ แม้รถไฟอาจจะดู “ไม่ทันสมัย” เมื่อเทียบกับรถไฟในกรุงโตเกียว แต่ภายในตู้โดยสารก็สะอาดสะอ้าน และผู้โดยสารก็ดูสุภาพเรียบร้อยดี จะต่างไปก็ตรงที่สาว ๆ จะดูเป็นธรรมชาติสมวัยใส คงเพราะไม่ค่อยจะแต่งหน้าเข้มหรือแต่งตัวกันเต็มที่อย่างที่มักเห็นตามเมืองกรุง
เมื่อถึงสถานีบ้านเกิดแล้ว แทนที่จะได้เสียบตั๋วลงในช่องตรวจตั๋วอัตโนมัติอย่างในกรุงโตเกียว หรือในสถานีตามตัวเมือง กลับเป็นเจ้าหน้าที่คอยยืนรับตั๋วแทน ส่วนเวลาจะไปขึ้นรถไฟ เจ้าหน้าที่จะตรวจตั๋วและประทับตราให้ ก่อนส่งคืนให้เราใช้ตั๋วไปจนถึงปลายทาง
นึกไปถึงเรื่องคล้าย ๆ กันที่น้องฉันเคยเล่าให้ฟัง ตอนนั้นเธอไปเยี่ยมเพื่อนที่อยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น และเป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่าชนบทมากพอ ๆ กับบ้านเกิดสามีฉัน เธอบอกว่าทางไปบ้านดูห่างไกลความเจริญมาก ตลอดทางมีแต่แปลงผัก เวลาขึ้นรถไฟก็ต้องหย่อนตั๋วรถไฟในกล่องที่อยู่หลังตู้คนขับ ไม่มีเครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติภายในสถานี แต่แปลกดีที่มีตู้ขายตั๋วรถไฟอัตโนมัติอยู่ด้านนอก ตอนนั้นเธอก็คิดว่าแล้วในบ้านจะเป็นอย่างไรต่อนะ จะไม่ค่อยทันสมัยเหมือนกันหรือเปล่า
ฉันก็คิดในทำนองเดียวกันกับเธอยามไปบ้านเกิดสามีเป็นครั้งแรก พอเราลงที่สถานีบ้านเกิดสามีแล้วเดินออกจากสถานี จะเห็นรถแท็กซี่รุ่นเก่ากึ้กรอผู้โดยสารต่อกันหลายคัน นาน ๆ จึงจะเห็นผู้โดยสารสักคนหนึ่ง แท็กซี่เหล่านี้มีบางบริษัทที่ให้บัตรสะสมแต้มด้วย สะสมครบก็จะได้ลดราคาค่าโดยสาร ฉันเดาว่าคนใช้บริการแท็กซี่บ่อยน่าจะเป็นผู้สูงอายุ เพราะอย่างบ้านสามีฉันก็อยู่ในที่ที่ไกลสถานีรถไฟ และไม่มีรถเมล์แล่นผ่านอีกต่างหาก
ตลอดทางที่รถแท็กซี่ขับผ่านจะได้เห็นภาพของชุมชนที่ไร้วี่แววผู้คนราวกับเมืองร้าง แม้ว่าจะมีร้านรวงอะไรต่าง ๆ ตามสองข้างทางซึ่งเปิดตลอด แต่ก็แทบไม่เคยเห็นลูกค้าเข้า บางทีไม่เห็นกระทั่งเจ้าของหรือพนักงานในร้านด้วยซ้ำ จนบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าเมืองนี้ยังมีคนอยู่อาศัยหรือเปล่านะ อีกทั้งบางร้านก็ดูโบร่ำโบราณราวกับออกมาจากยุคสมัยโชวะ (ค.ศ.1926-1989) ชวนให้รู้สึกแปลกประหลาดเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในแดนพิศวงเสียทุกที
แต่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้กลับมีความล้ำสมัยซ่อนอยู่ เช่น มีโรงพยาบาลและคลินิกอยู่โดยรอบ ร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง มีร้านขายยาใหญ่โต ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านเสื้อผ้ากว้างขวาง ซึ่งสินค้าที่ขายและคุณภาพของการให้บริการก็ดีเยี่ยมไม่ต่างจากในกรุงโตเกียวเลย ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีสินค้าอย่างดีครบครัน พวกผักผลไม้ก็เป็นของดีราคาแพง และมีกระทั่งพวกเครื่องปรุงอาหารจากต่างประเทศหลากหลายชนิด มีทุกอย่างพร้อมสำหรับทำอาหารไทยด้วยซ้ำไป ทุกอย่างทันสมัยและสะดวกไปหมด
เมื่อเข้าสู่ภายในตัวบ้านก็นึกถึงสิ่งที่น้องฉันเคยเล่าไว้ เธอบอกว่าพอเข้าไปในบ้านเพื่อนซึ่งอยู่ในชนบทแล้ว ก็สัมผัสถึงความสบาย และทุกสิ่งทันสมัย จนไม่รู้สึกว่ากำลังอยู่ในชนบทเลยสักนิด บ้านเกิดสามีฉันก็เหมือนกัน แม้จะเก่าเพราะสร้างไว้ตั้งแต่สมัยคุณตา แต่ก็มีเครื่องอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยอยู่ภายใน
แม้ภายนอกจะหิมะตกสุมกันเป็นกองหนา แต่ภายในบ้านก็อุ่นสบาย สามารถเปิดเครื่องทำความร้อนที่พื้นห้องนั่งเล่นได้เพียงแค่เปิดสวิตช์ที่หน้าตาเหมือนสวิตช์ไฟทั่วไป ใครบางคนเคยบอกว่าระบบทำความร้อนที่พื้นนั้นใช้ระบบน้ำร้อนวิ่งผ่านท่อภายใต้พื้นจึงทำให้พื้นอุ่น ส่วนห้องอื่น ๆ จะเป็นเครื่องทำความร้อนแบบตั้งพื้น หรือไม่ก็เป็นเครื่องปรับอากาศที่เลือกระบบทำความเย็นในฤดูร้อน และระบบทำความร้อนในฤดูหนาว ส่วนระเบียงทางเดินซึ่งไม่มีเครื่องปรับอากาศนั้นค่อนข้างเย็นจัด จึงต้องใส่ถุงเท้าหนา ๆ หรือไม่ก็สลิปเปอร์
ห้องอาบน้ำตามบ้านในต่างจังหวัดที่ยังเป็นแบบเก่านั้น พื้นห้องน้ำมักเป็นกระเบื้องเหมือนห้องอาบน้ำที่เมืองไทย มีอ่างอาบน้ำที่ระดับพื้นอ่างลึกกว่าพื้นห้องน้ำ ดังนั้นเวลาจะลงไปก็ต้องก้าวอย่างระมัดระวังหน่อย ไม่อย่างนั้นอาจหน้าทิ่มลงไปเจ็บตัวได้ง่าย ๆ หลายบ้านมีอ่างที่สั้นมากคือพอให้ลงไปนั่งชันเข่าได้คนเดียว บางบ้านก็ยาวหน่อย ลงไปแช่พร้อมกันสองคนได้
ที่บ้านเกิดสามี ห้องอาบน้ำเป็นพื้นกระเบื้อง ข้างอ่างอาบน้ำมีหน้าต่างและมีต้นไม้เล็ก ๆ ให้ชมพอเพลิดเพลิน แม้ข้างนอกจะหิมะตก แต่คุณแม่ก็มักเปิดหน้าต่างห้องอาบน้ำไว้ให้ลมพัดเข้าออกได้ คงเพราะไม่มีระบบระบายอากาศอย่างห้องอาบน้ำในบ้านยุคใหม่กระมัง เวลาจะอาบน้ำทีไร อดสยองในความหนาวไม่ได้ ฉันต้องเปิดน้ำร้อนจากฝักบัวราดพื้นให้ทั่วเพื่อให้ห้องอาบน้ำอุ่น จะว่าไปก็จำได้ว่าเคยเป็นหวัดหลังจากไปทำความสะอาดห้องอาบน้ำที่บ้านคุณป้าของเพื่อนในช่วงอากาศหนาว ชักนึกสงสัยว่าคนเฒ่าคนแก่จะพากันเป็นหวัดจากการล้างห้องน้ำในฤดูหนาวไหมนะ
ฉันจำได้ว่าห้องสุขาบ้านคุณป้าเป็นแบบนั่งยอง ๆ แต่เป็นระบบชักโครกแบบที่มีอ่างล้างมือให้อยู่เหนือแท็งก์น้ำของโถ พอกดชักโครกแล้ว น้ำใหม่ก็จะไหลออกมาจากก็อกของอ่างนี้ สามารถใช้ล้างมือได้เลย น้ำที่ล้างมือก็จะลงไปในแท็งก์น้ำไว้สำหรับชักโครกคราวถัดไป ตอนเห็นครั้งแรกรู้สึกทึ่งมากในความช่างคิด ส่วนที่บ้านสามีเป็นแบบโถนั่ง มีทั้งโถแบบทำความร้อนที่กดปุ่มเปิดปิดฝาได้ด้วย และโถแบบไม่ทำความร้อน
ในบ้านสามีมีวิธีตากผ้าในฤดูหนาวอยู่สองแบบคือ ใช้เครื่องปั่นผ้าด้วยระบบความร้อน อีกวิธีคือตากในห้องตากผ้าโดยเฉพาะ ห้องนี้จะอยู่ใต้หลังคาที่ทำไว้ให้แสงลอดผ่านเข้ามาได้ หากข้างนอกอากาศแจ่มใส ห้องนี้จะสว่างและอุ่นมากทีเดียว ผ้าจึงแห้งสนิทและไม่ส่งกลิ่นอับชื้น
แม้ว่าความเจริญมักจะกระจุกตัวกันอยู่ในเมือง แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วบ้านนอกก็นับว่ามีความสะดวกสบายมาก ไม่ชวนให้รู้สึกว่าขาดโน่นขาดนี่ หรือไม่สะดวกสบายแต่อย่างใดเลย แม้อาจจะไม่มีรถไฟใต้ดินที่เชื่อมต่อทุกหนแห่งอย่างกรุงโตเกียวหรือในเมืองใหญ่อื่น ๆ แต่ก็ยังมีรถไฟของท้องถิ่น มีรถเมล์ รถแท็กซี่รองรับให้การคมนาคมไม่ลำบาก อีกทั้งความสะอาดของบ้านเมืองก็ยังดีเลิศทัดเทียมกันไปหมดทุกแห่งอีกด้วย
ดูไปแล้วก็รู้สึกดีที่ความเจริญไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะสำหรับคนเมืองเท่านั้น หากแต่ชนบทก็ได้ใช้สอยความเจริญและสะดวกสบายเฉกเดียวกันไปด้วย ดังนั้นแม้ชนบทของญี่ปุ่นจะไม่ได้ "ล้ำสมัย" ทว่าไม่ได้ "ล้าสมัย" ทั้งยังมีเสน่ห์ด้วยความร่มรื่นของธรรมชาติและวิถีชีวิตเฉพาะของคนในท้องถิ่น อันเป็นบรรยากาศแบบที่หาไม่พบในตัวเมือง
นึกแล้วก็ชักจะอยากไปชนบทของญี่ปุ่นขึ้นมากะทันหันเสียอย่างนั้น ถ้าเพื่อนผู้อ่านท่านใดมีเรื่องราวเกี่ยวกับชนบทญี่ปุ่น ก็อย่าลืมเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.