xs
xsm
sm
md
lg

‘ลานสเก็ตโอลิมปิกฤดูหนาว’ เสร็จแล้ว พรั่งพร้อมเทคโนโลยีสุดล้ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การก่อสร้างโครงสร้างหลักของสนามแห่งนี้เสร็จสิ้น หมายความว่าสนามแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ฤดูหนาว 2022 ทั้งหมดในปักกิ่งและเขตเหยียนชิ่ง มีความคืบหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 2019 (ภาพ ซินหัว)
ซินหัว, ปักกิ่ง — การก่อสร้างลานสเก็ตแห่งชาติ (National Speed Skating Oval) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ริ้วน้ำแข็ง” (Ice Ribbon) ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันสเก็ตของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง มีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้ โดยการก่อสร้างโครงสร้างหลักเสร็จสิ้นในวันสุดท้ายของปีที่ผ่านมา(31 ธ.ค.)

“ลานสเก็ตแห่งชาติเป็นสถานที่แข่งขันอันเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวของกรุงปักกิ่ง ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ต่อการแข่งขันโอลิมปิก ปักกิ่ง 2022 ไม่ต่างจากสนามกีฬารังนกของโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008” ติงเจี้ยนหมิง รองผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่การก่อสร้างโครงการสำคัญแห่งปักกิ่ง (Beijing Major Projects Construction Headquarters Office) กล่าว

ความท้าทายของการก่อสร้างประการแรกอยู่ที่การติดตั้งหลังคา เนื่องจากรูปทรงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษของสนามแข่งขันแห่งนี้ทำให้ไม่สามารถประกอบโครงเคเบิลภายในตัวอาคาร จึงต้องประกอบนอกอาคารแล้วใช้แม่แรงไฮดรอลิกยกหลังคาขึ้นทั้งชิ้นเพื่อประกอบกับโครงสร้างตัวอาคาร

ความท้าทายอีกประการคือการก่อสร้างกำแพงม่าน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเพราะเป็นการสร้างแบบ “ริ้ว” อันเป็นเอกลักษณ์ โดยเริ่มจากการติดตั้งโครงเหล็กรูปตัว S จำนวน 160 เส้น แล้วนำแผ่นกระจก 3,360 แผ่น ที่เลือกสรรเฉพาะแบบสีขาวเคลือบเงิน 2 ชั้น ซึ่งเป็นกระจกกึ่งนิรภัยลามิเนต (semi-tempered laminated glass) และที่สำคัญคือทุกชิ้นมีขนาดไม่เท่ากัน โดยเมื่อสร้างเสร็จก็ปรากฏเป็นภาพ “ริ้วน้ำแข็ง” จำนวน 22 เส้น ความยาวรวม 13.2 กิโลเมตร สื่อถึงการแข่งขัน “ปักกิ่ง 2022”

อู่เสี่ยวหนาน ประธานลานสเก็ตแห่งชาติ กล่าวว่าโถงแข่งขันสเก็ตได้รับการออกแบบมาให้มีพื้นที่น้ำแข็งราว 12,000 ตารางเมตร ที่นี่จึงเป็นสนามแข่งสเก็ตขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ลานสเก็ตแห่งชาติเป็นสถานที่แข่งขันอันเป็นสัญลักษณ์ของมหกรรมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพฯ (ภาพ ซินหัว)
อู่ระบุว่าสนามแข่งสเก็ตแห่งนี้มีการออกแบบที่ยั่งยืน พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ทั้งเทคนิคการเก็บพลังงานรูปแบบใหม่และระบบลดการปล่อยคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีทำน้ำแข็งโดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารทำความเย็น นับเป็นการใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก

นอกจากนั้นยังนำความร้อนที่ได้จากการทำน้ำแข็งมาใช้ในการทำความร้อนของห้องอาบน้ำนักกีฬา การละลายน้ำแข็งในถังสำหรับละลาย และการรักษาผิวสนามน้ำแข็ง ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึงปีละ 2 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

สนามแห่งนี้ยังนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในระบบทำน้ำแข็ง การควบคุมสภาพในตัวอาคาร และการอนุรักษ์พลังงาน จึงสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความหนาของน้ำแข็ง และความมั่นคงของผิวสนามได้ ช่วยให้สภาพสนามดีต่อนักกีฬา โดยอุณหภูมิที่ควบคุมไว้อย่างคงที่ที่ 0.5 องศาเซลเซียส จะช่วยให้นักกีฬาแสดงความสามารถของตนได้ในระดับสูงสุด

ขณะเดียวกันอุณหภูมิบริเวณอัฒจันทร์ผู้ชมซึ่งจุได้ราว 12,000 คน จะถูกควบคุมไว้ที่ 16 องศาเซลเซียส ไม่หนาวเกินไปสำหรับนั่งชมการแข่งขัน

“เมื่อการก่อสร้างโครงสร้างหลักของสนามแห่งนี้เสร็จสิ้น หมายความว่าสนามแข่งขันทั้งหมดในปักกิ่งและเขตเหยียนชิ่ง มีความคืบหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 2019” หวงฮุย รองผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบการก่อสร้างของสำนักงานฯ กล่าว

หากพิจารณาตามแผนงาน การก่อสร้างสนามกีฬารูปวงรีแห่งนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนเพื่อจัดการทดสอบสนามแข่งขัน ซึ่งจะเป็นการผนวก “ริ้วน้ำแข็ง” กับ “สนามกีฬารังนก” และ “วอเทอร์ คิวบ์” (Water Cube) หรือศูนย์แข่งขันกีฬาทางน้ำแห่งชาติ ให้กลายเป็น “อาณาจักรโอลิมปิก-พาราลิมปิก” แห่งแรกของโลก

“การติดตั้งหลังคาและกำแพงม่านรูปโค้งตามแนววงรีจนเสร็จแสดงถึงความทุ่มเทของผู้รับผิดชอบการก่อสร้างทุกฝ่ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา” ติงกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น