xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อิหร่าน: โซ่ข้อกลางหรือเหยียบเรือสองแคม?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเปิดศึกระหว่างอิหร่าน-สหรัฐ ไม่ใช่เรื่องของ 2 ประเทศ แต่ยังเกี่ยวพันกับหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย จีน อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึง ญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีกองทัพตามกฎหมาย แต่กลับต้องการมีบทบาทสำคัญในตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน

ศึกระหว่างอิหร่าน-สหรัฐรอบล่าสุด ทำให้นายกฯ ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น เกือบจะต้องยกเลิกแผนเดินทางเยือน 3 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน (ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ประกาศว่านายกอาเบะจะเดินทางตามกำหนดเดิมในวันที่ 11 ม.ค.) และในวันที่ 8 ม.ค. ที่อิหร่านระดมยิงจรวดถล่มฐานทัพสหรัฐในอิรัก นายอาเบะก็ได้เรียกประชุมฉุกเฉินสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ เตรียมรับมือสถานการณ์ที่ส่อเค้าตึงเครียดมากขึ้น


นายอาเบะเป็นผู้นำพาญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาทในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสานสัมพันธ์กับอิหร่าน ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา นายอาเบะได้เดินทางเยือนอิหร่านเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกที่เยือนอิหร่าน นับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามในปี 1979

หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่าน ก็ได้มาเยือนญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปีที่ประธานาธิบดีอิหร่านมาเยือนญี่ปุ่น

นายอาเบะยังก้าวไปอีกขั้นด้วยการอนุมัติให้ส่งเรือพิฆาต เครื่องบินลาดตระเวน และเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองไปยังตะวันออกกลาง เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินเรือพาณิชย์ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภารกิจที่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นไม่เคยทำมาก่อน และยังมีข้อกังขาว่ารัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นเปิดทางให้ทำได้หรือไม่ ?


ญี่ปุ่นซื้อน้ำมันจากอิหร่านมากเป็นอันดับ 3 รองจากซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงแม้ในระยะหลังจะลดการซื้อลงตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ แต่ก็ยังนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากถึงร้อยละ 90 และส่วนใหญ่ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ แถบชายฝั่งอิหร่านกับอ่าวโอมาน เมื่อมีกรณีลอบโจมตีเรือน้ำมันในเส้นทาง นายอาเบะจึงอ้างว่า มีความจำเป็นที่ต้องส่งกองกำลังป้องกันตนเอง ไปคุ้มครองเรือที่เกี่ยวของกับญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยัง “ไว้หน้า” สหรัฐ ด้วยการส่งกองกำลังของตัวเองไป ไม่เข้าร่วมใน “พันธมิตรนานาชาติ” ที่สหรัฐริเริ่ม เพื่อคุ้มกันเรือต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง

แต่การรุกคืบสานสัมพันธ์กับอิหร่านของนายอาเบะ ก็ถูกวิจารณ์ว่าสุ่มเสี่ยงที่จะ “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” ในยามที่อิหร่านถูกคว่ำบาตร ย่อมต้องการพันธมิตรและช่องทางหารายได้ แต่การจะ “เหยียบเรือสองแคม” ก็อาจทำให้ “ตกเรือจมน้ำ” เพราะญี่ปุ่นขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศในตะวันออกกลางด้วย

แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เคยตอบรับแสดงความยินดีที่นายอาเบะจะช่วยเจรจากับอิหร่าน เพราะโตเกียวมี "ความสัมพันธ์ที่ดียิ่ง" กับอิหร่าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในสายตาของสหรัฐแล้ว คนที่จะเจรจากับอิหร่านได้จริงคือ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติื บวกกับเยอรมนี ซึ่งเคยทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2558

เรื่องนี้พิสูจน์ได้จากสุนทรพจน์ล่าสุดของนายทรัมป์เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม เรียกร้องให้ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และจีน "ถอนตัวจากเศษซากของข้อตกลงกับอิหร่าน" และ "ทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งหน้าสู่การสร้างข้อตกลงกับอิหร่าน ที่ทำให้โลกปลอดภัยยิ่งขึ้น และเป็นสถานที่ซึ่งเปี่ยมสันติภาพมากขึ้น"


การส่งกองกำลังไปยังตะวันออกกลาง ยังถูกมองว่าเป็น “เกมซ้อนเกม” เพื่อชิมลางขยายแสนยานุภาพของญี่ปุ่น สอดคล้องกับแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายอาเบะ เพื่อให้กองกำลังป้องกันตนเอง มีบทบาทเทียบเคียงกับกองทัพ

ส่วนข้ออ้างเรื่องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของญี่ปุ่นก็ไม่แน่ว่าจะทำได้จริง เพราะผู้นำอิหร่านก็เคยกล่าวหลังกลับจากการเยือนญี่ปุ่นว่า “ญี่ปุ่นจะนำเรือสังเกตการณ์ไปยังภูมิภาคใดก็ได้ แต่ไม่ใช่ในอ่าวเปอร์เซีย และช่องแคบฮอร์มุซ”

ตะวันออกกลาง ไม่ใช่ทะเลจีนใต้หรือเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ญี่ปุ่นคุ้นเคย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นไม่ใช่สหรัฐ จีน รัสเซีย ที่มีกองทัพอย่างเปิดเผย และมีอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศเป็นเกราะคุ้มภัย การรุกคืบเข้าสู่ดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากร แต่ก็เกี่ยวพันกับการก่อการร้าย อาจนำความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะหน้าคือมหกรรมโตเกียวโอลิมปิก ในปีนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น