xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตนักเรียนไทยในญี่ปุ่น: "เที่ยวบ้านภารโรง"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://baito.jankara.ne.jp/toai2/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ที่โรงเรียนสอนภาษานั้น แม้จะให้นักเรียนทำเวรกันเอง แต่ก็มีภารโรงที่ทำความสะอาดห้องน้ำและเก็บขยะไปทิ้งด้วยเหมือนกัน ทั้งโรงเรียนเหมือนจะมีภารโรงอยู่แค่คนเดียว แถมยังเป็นผู้สูงอายุเสียด้วยสิคะ

เวลาฉันเห็นคนสูงอายุทำงานใช้แรงงานจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะฉันโตมาในยุคที่ปู่ย่าตายายจะมีลูกหลานคอยดูแล เพราะที่ผ่านมาก็ทำงานหนักตรากตรำเลี้ยงลูกหลานจนเติบโตแล้ว ก็ถึงเวลาที่ลูกหลานจะตอบแทนบุญคุณด้วยการเลี้ยงดูท่านให้อยู่อย่างสุขสบายโดยไม่ต้องทำงานอีก

นึกขึ้นมาได้ว่าตอนที่ฉันไปเที่ยวฮ่องกง เข้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง เห็นเจ้าของร้านให้คุณยาย(ที่จริงเรียกเป็นคุณทวดอาจจะเหมาะกว่า)เป็นคนยกน้ำแกงชามหนึ่งมาเสิร์ฟ คุณยายค่อย ๆ เดินอย่างเชื่องช้า พยายามถือชามน้ำแกงที่ซ้อนอยู่เหนือจานรองมาด้วยมืออันสั่นระริกจนชามและจานกระทบกันดังกึก ๆ เห็นแล้วก็ใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ทั้งลุ้นทั้งห่วงแทบแย่

ฉันหันไปคุยกับพ่ออย่างไม่สบายใจว่า ทำไมเขาถึงใช้แรงงานผู้สูงอายุอย่างนี้ พ่อบอกว่าเขาให้โอกาสคนสูงอายุได้มีงานทำและมีรายได้ อีกทั้งการคอยเคลื่อนไหวร่างกายทุกวันก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่ว่าเขากดขี่แรงงานผู้สูงอายุอย่างที่ฉันกังวล

ภาพจาก https://www.e-aidem.com/
แต่ฉันก็ชอบจุ้นพอสมควร พอเห็นคุณป้าภารโรงหิ้วถุงขยะใบสูงราวหนึ่งเมตรทั้งสองมือเดินลงบันได ก็กลัวว่าจะหนักเลยเดินเข้าไปขอถือครึ่งหนึ่ง คุณป้าทำหน้างุนงงก่อนจะบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก เบา ๆ” พอรับมาถือดูก็แปลกใจที่มันไม่หนักอย่างที่คุณป้าบอกจริง ๆ ด้วย คงเพราะนักเรียนก็ไม่ได้ทิ้งขยะอะไรกันเอิกเกริก ก็เลยเป็นขยะเบา

จากนั้นมาเวลาเจอคุณป้าทีไร ฉันก็เข้าไปทักทายและขอแบ่งถุงขยะมาถือครึ่งหนึ่งเป็นประจำ วันหนึ่งคุณป้าถามว่าปีใหม่ไปไหนหรือเปล่า ฉันบอกว่า "เปล่า" คุณป้าก็เลยเชิญไปรับประทานอาหารด้วยกันที่บ้าน ฉันรู้สึกขอบคุณแต่ก็เกรงใจเพราะไม่ได้สนิทสนมกับคุณป้าขนาดนั้น อยู่ดี ๆ โผล่ไปเจอครอบครัวของคุณป้าที่ฉันไม่รู้จักเลยก็อย่างไรอยู่

เหมือนคุณป้าจะรู้ใจเลยบอกว่ามีชวนนักเรียนอีกคนไปด้วย เป็นผู้หญิง ชอบมาขอถือถุงขยะด้วยเหมือนกัน ฉันก็เลยค่อยอุ่นใจขึ้นบ้างที่มีเพื่อนไปด้วย แต่นึกอีกทีก็แปลกดีที่คิดอย่างนั้น เพราะเพื่อนที่ว่านี้ฉันก็ยังไม่เคยเจอ ก็นับเป็นคนแปลกหน้าอีกคนเหมือนกัน

จำไม่ได้แล้วว่าฉันไปนัดเจอกับเพื่อนคนนี้อย่างไร และตกลงว่าจะไปบ้านคุณป้าพร้อมกัน เพื่อนเป็นสาวเกาหลีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับฉัน ซึ่งต่อมาสนิทสนมกัน เธอเป็นคนอ่อนโยน นิสัยดี และอบอุ่นมาก ฉันมารู้ตอนหลังด้วยว่าเธอเป็นตัวแทนนักเรียนรุ่นพี่ที่มากล่าวสุนทรพจน์ในวันปฐมนิเทศ ถึงว่าภาษาญี่ปุ่นของเธอคล่องมากทีเดียว

พอมาถึงบ้านของคุณป้า เราทั้งสองคนต่างก็ต้องประหลาดใจ นอกจากบ้านคุณป้าจะดูสวยงามน่าอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ คุณป้าเป็นเจ้าของร้านอาหารจีน! เมื่อเข้าไปในบ้านก็เห็นคุณลุงท่าทางใจดี ซึ่งเป็นสามีของคุณป้ามายืนต้อนรับ พร้อมสุนัขชิสุเรียบร้อยตัวหนึ่งยืนกระดิกหางรออยู่

นั่งลงในห้องรับแขกปูเสื้อทาตามิได้สักครู่ ลูกชายและลูกสะใภ้ของคุณป้าซึ่งคงผละจากงานที่ร้านอาหารจีน ที่ตั้งอยู่ข้างบ้านก็เข้ามาทักทาย และขอบคุณฉันกับเพื่อนสาวเกาหลี “ที่คอยช่วยดูแลคุณแม่ให้” หลังจากนั้นก็เสิร์ฟอาหารจีนของที่ร้านเต็มโต๊ะ

คุณป้าเล่าให้ฟังว่าแม้ที่บ้านจะมีกิจการอาหารจีนซึ่งปล่อยให้ลูกรับช่วงทำก็จริง แต่ตัวเองก็ยังอยากทำงาน จะได้ถือโอกาสเดินเหินให้แข็งแรงด้วย ก็เลยไปทำงานพิเศษที่โรงเรียนอย่างที่เห็น ว่าแล้วคุณป้าก็สูบบุหรี่ปุ๋ย ๆ

โอะโซนิ ภาพจาก https://ameblo.jp/
นอกจากอาหารจีนแล้ว ยังมี โอะโซนิ (お雑煮)ซึ่งเป็นอาหารมงคลวันปีใหม่ของญี่ปุ่นด้วย โอะโซนิคือน้ำแกงใส่โมจิย่าง ผัก และเนื้อสัตว์ นับเป็นอาหารโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ (พ.ศ. 1879 - 2116) เดิมทีเป็นอาหารของพวกซามูไร และต่อมาแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนทั่วไปด้วย แต่ละภูมิภาคจะปรุงรสและใส่เครื่องต่างกัน บางแห่งเป็นซุปใส บางแห่งก็ใส่มิโสะ เครื่องที่ใส่มีตั้งแต่ผักใบเขียว แครอท ไชเท้า เต้าหู้ คอนเนียขุ และเนื้อไก่หรือเนื้อปลา ไปจนกระทั่งถึงไข่ปลาแซลมอน หอยนางรม เนื้อหมูป่า ปลิงทะเล หอยเป๋าฮื้อ แล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ

แม้จะเป็นธรรมเนียมปีใหม่แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะเคร่งครัดทำน้ำแกงชนิดนี้ โอกาสได้รับประทานจึงอาจไม่มีบ่อยนัก นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นและรับประทานโอะโซนิ จึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ แถมยังเป็นโมจิย่างที่ชอบมากด้วย แต่เอาเข้าจริงฉันว่าโมจิย่างกับน้ำแกงมันรสชาติไม่เข้ากันเท่าไหร่ น่าจะเข้ากับของหวานอย่างถั่วแดงต้มมากกว่า

พูดถึงโมจิแล้วนึกได้ว่าเป็นอาหารอันตรายสำหรับเด็กและผู้สูงอายุอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะบางทีกลืนลงไปแล้วติดคอหายใจไม่ออก ช่วงปีใหม่ก็เลยเป็นช่วงที่มีคนเสียชีวิตเพราะโมจิติดคอกันไม่ใช่น้อย อีกอย่างที่อันตรายในลักษณะเดียวกันคือคอนเนียขุ (อาหารทำจากบุกเป็นก้อน ลักษณะคล้ายเจลลี) ขนมที่ทำจากคอนเนียขุก็เลยมีรูปและคำอธิบายประกอบว่าถ้าจะให้เด็กหรือผู้สูงอายุรับประทานก็ต้องระวัง

โต๊ะนั่งรับประทานอาหารวันนั้นเป็นโต๊ะอย่างที่เรียกกันว่า “โคทัตสึ” (こたつ)ซึ่งก็คือโต๊ะอุ่นขาเตี้ย ๆ สำหรับนั่งกับพื้น มีผ้าคลุมหนารอบทั้งสี่ด้านซึ่งยาวเลยความสูงของโต๊ะเพื่อให้คลุมขาเวลานั่งขัดสมาธิได้อย่างมิดชิด มีฮีตเตอร์เสียบปลั๊กอยู่ใต้โต๊ะ ในฤดูหนาวพอได้มานั่งแปะกับโต๊ะอุ่น ๆ แบบนี้แล้วจะไม่ค่อยอยากลุก เพราะทันทีที่ลุกปั๊บก็จะปะทะกับความหนาวของห้องทันที

ฉันถามหากระดาษทิชชูจากคุณป้า คุณป้าตอบว่าแปะอยู่ที่ข้างขาโต๊ะนั่นอย่างไร ฉันมองตามแล้วก็ต้องประหลาดใจที่เห็นกล่องทิชชูแปะอยู่ที่ขาโต๊ะทุกข้าง ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีกล่องทิชชูแปะอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งทั่วห้องชนิดที่ว่าแทบไม่ต้องขยับนักก็เอื้อมถึงทุกรอบด้าน คุณป้าเห็นฉันทำตาโต ก็หัวเราะบอกว่า “สะดวกดีไหมละ ไม่ต้องลุกเลยเนี่ย”

ภาพจาก https://flets-w.com/chienetta/list/2017/12/
พอรับประทานอาหารเสร็จ คุณป้าก็ถามพวกเราว่าเคยแต่งชุดกิโมโนไหม ฉันบอกว่าเคยแต่ใส่ยูคาตะ คุณป้าบอกว่าอยากลองใส่กิโมโนดูบ้างไหม มาเรียนญี่ปุ่นทั้งที ใส่เล่นแล้วถ่ายรูปเก็บไว้ดูน่าจะดี แล้วคุณป้าก็เอาชุดกิโมโนหลายแบบออกมาให้ลอง โดยให้ใส่ทับชุดที่สวมอยู่ไปเลย ไม่ต้องแต่งแบบเป็นพิธีการ แค่หลวม ๆ พอให้ถ่ายรูปได้ครึ่งตัว พวกเราก็เลยผลัดกันสวม ผลัดกันถ่ายรูปสนุกสนาน ในขณะที่คุณลุงถือโอกาสพาสุนัขออกไปเดินเล่น

วันนั้นก็เลยเป็นวันปีใหม่ในความทรงจำ เพราะมีเรื่องให้ประทับใจหลายอย่าง ไม่ทราบว่าตอนนี้ครอบครัวคุณป้าและเพื่อนเป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็หวังว่าทุกคนคงแข็งแรงอยู่สุขสบายดี

แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น