xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตนักเรียนไทยในญี่ปุ่น: "ชีวิตในโรงเรียนและเครื่องดื่มแสนอร่อย"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก http://www.kaij.jp/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน มาติดตามเรื่องราวเมื่อครั้งที่ฉันกับน้องมาเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นกันต่อนะคะ ระยะทางจากหอไปโรงเรียนนับได้เท่ากับประมาณสองสถานีรถไฟ ตอนที่ยังไม่มีจักรยานพวกเราก็ลองเดินไปก่อน ขาลากพอดู แต่อากาศในเดือนตุลาคมที่กำลังเย็นสบาย และทิวทัศน์รอบด้านที่ยังใหม่ต่อสายตา ก็ชวนให้การเดินทางด้วยเท้ากลายเป็นการเดินเล่นสนุก ๆ ได้เหมือนกัน

ฉันกับน้องได้เรียนกันคนละห้อง บางห้องมีชั่วโมงเรียนเฉพาะครึ่งเช้า บางห้องเฉพาะครึ่งบ่าย ฉันกับน้องได้ช่วงเช้าเหมือนกันก็เลยสะดวกหน่อย เพราะไปเรียนพร้อมกันกลับพร้อมกันได้ แต่ละห้องมีคุณครูสองคนต่อห้องเรียน คือครูประจำชั้นและครูผู้ช่วย ซึ่งครูทั้งสองคนก็จะผลัดกันมาสอนตามตารางเรียน ในห้องมีฉันเป็นคนไทยคนเดียว นอกนั้นเป็นคนจีน คนฮ่องกง และคนเกาหลีใต้ นักเรียนประมาณ 20 คนต่อห้อง

ฉันชอบนั่งเรียนด้านหน้าเพราะทำให้มีสมาธิกับการเรียนได้ง่ายกว่า แต่ก็เป็น “โรคเกรงใจ” ที่นั่งแถวหน้าสุด จึงเลือกแถวที่สอง คนที่นั่งหน้าฉันเป็นหนุ่มหล่อชาวฮ่องกง หน้าตาดีจนน่าจะไปเป็นดาราได้ อายุน้อย สุภาพเรียบร้อยมาก ไม่ค่อยเปิดปากให้ได้ยินถ้าไม่ชวนคุย

สิ่งหนึ่งที่ฉันรู้สึกประหลาดใจ คือการที่คุณครูและคนญี่ปุ่นโดยทั่วไปเรียกชื่อคนจีนด้วยการออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่น สมมติว่ามีคนจีนชื่อ “王昭君” อ่านภาษาจีนกลางว่า “หวัง เจาจวิน” คนญี่ปุ่นจะอ่านเป็น “โอ โชคุง” เพราะในภาษาญี่ปุ่นอ่านแบบนั้น ทำให้เวลาคนจีนแนะนำตัวกับคนญี่ปุ่น ก็เลยต้องพลอยอ่านชื่อตัวเองตามเสียงญี่ปุ่นไปด้วย

ส่วนคนชาติอื่น ๆ ที่ชื่อไม่ได้เขียนด้วยตัวอักษรจีน คนญี่ปุ่นจะอ่านตามตัวอักษรคะตะคะนะ ซึ่งเจ้าของชื่อระบุให้ใกล้เคียงชื่อตัวเองที่สุด อย่างชื่อ “แมรี่” ก็อ่านเป็น “มารี” หรือ “สมชาย” อ่านเป็น “ซมมุจัย” เป็นต้น แต่ชื่อคนเกาหลีแม้บางทีเขียนด้วยตัวอักษรจีน แต่คนญี่ปุ่นกลับยอมอ่านออกเสียงแบบภาษาเกาหลี ไม่ได้อ่านเป็นออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นเหมือนชื่อคนจีน
ภาพจาก https://www.asahi.com/
ฉันคิดว่าชื่อเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ และน่าจะพยายามออกเสียงให้ใกล้เคียงที่สุด อย่างเวลาเราจะแนะนำใครให้ขึ้นมาบนเวที ถ้าเป็นต่างชาติ ก็ยังต้องสอบถามกันให้แน่ชัดเลยว่าชื่อเขาอ่านออกเสียงอย่างไรจึงถูกต้อง ถ้าไม่รู้ว่าชื่อจีนนั้นอ่านออกเสียงอย่างไร ก็น่าจะถามเจ้าตัว หรือให้เขาเขียนออกมาเป็นคะตะคะนะแล้วออกเสียงตามนั้นเหมือนชื่อคนชาติอื่น ๆ ก็ได้ น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องมารยาทมากกลับไม่ใส่ใจเรื่องนี้ สามีฉันซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นเองก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนญี่ปุ่นต้องแปลงชื่อคนจีนเป็นวิธีอ่านแบบญี่ปุ่น แถมพอแปลงแล้วยังฟังดูตลกอีกด้วย

ทุกเช้าคุณครูจะขานชื่อทุกคนในห้องเรียน คนไหนถูกเรียกชื่อก็ตอบ “ไฮ้” (はい)ทางโรงเรียนมีการเก็บสถิติการมาสายหรือการลาหยุดเรียนอย่างละเอียด ซึ่งจะมีผลต่อการสอบเข้าโรงเรียนสายอาชีพหรือมหาวิทยาลัยต่อไป เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง มาให้ตรงเวลา และไม่ลาบ่อย ถ้าวันไหนลา ก็เป็นธรรมเนียมว่าคุณครูจะโทรมาหลังเลิกเรียนถามว่าทำไมไม่มาเรียน

เกือบทุกวันจะมีการ “ดิคเตชั่น” (Dictation) เก็บคะแนน คือคุณครูจะอ่านคำภาษาญี่ปุ่น แล้วให้นักเรียนเขียนเป็นคันจิ ถ้าใครขยันทบทวนบทเรียนของวันก่อน ๆ และไปฝึกเขียนคันจิมาก็จะทำได้ คันจิยาก ๆ มักประกอบด้วยคันจิตัวย่อย ๆ หรือคะตะคะนะรวมเข้าเป็นตัวคันจิหนึ่งตัว ทำให้จำยากว่าเขียนอย่างไร ฉันมักใช้วิธีดูว่ามันประกอบด้วยส่วนย่อย ๆ อะไรบ้าง แต่ละส่วนมีความหมายอย่างไร และผูกโยงสร้างเป็นเรื่องราวให้กับคันจิตัวนั้น ทำให้จำวิธีเขียนได้ง่ายขึ้นมาก

นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว ที่โรงเรียนของฉันยังให้นักเรียนทำเวรกันเองด้วยค่ะ เขาจะจัดตารางไว้ให้ทำวันละสองคนหลังเวลาเรียนห้องนั้นสิ้นสุดลง แต่ก็แค่กวาดฝุ่นที่พื้นใส่ถังผง ไม่ต้องถูพื้นหรือทำอะไรพิถีพิถันเหมือนโรงเรียนในเมืองไทย เคยมีนักเรียนที่นี่บ่นว่าทำไมต้องให้นักเรียนทำความสะอาดเองด้วยในเมื่อก็จ่ายเงินมาเรียน ไม่ยุติธรรมเลย ฉันเดาว่าถ้าไม่ใช่เพราะโรงเรียนจงใจจะลดค่าใช้จ่าย ก็อาจจะเพราะเห็นว่านักเรียนญี่ปุ่นก็ต้องทำเวรกันเป็นเรื่องปกติเหมือนกันกระมัง
ภาพจาก https://www.mag2.com/p/news/357742
วันหนึ่งเพื่อนชาวเกาหลีใต้ที่ต้องทำเวรพร้อมฉันบอกว่า เขาต้องทำงานพิเศษเลยช่วยทำเวรไม่ได้ ฉันร้อง "เอ๋!"เพราะรู้ว่าทำเวรคนเดียวไม่สนุก ไม่เหมือนตอนอยู่โรงเรียนที่เมืองไทย ทำเวรกันทีละเป็นกลุ่ม 3-4 คน ทำไปคุยไปโขมงโฉงเฉงสนุกสนาน

พอทำเวรเสร็จฉันก็ลืมเรื่องนี้ไป วันต่อมาเพื่อนที่โดดเวรเข้าห้องเรียนมา และให้เครื่องดื่มฉันมากล่องหนึ่งเป็นการไถ่โทษ มันเป็นกล่องกระดาษคล้ายทรงกระบอกปนทรงปิรามิดขนาดกระชับมือ ดูแปลกตา อ่านฉลากดูบอกชื่อยี่ห้อ “กุลิโกะ” และเป็นช็อคโกแลตเย็น...โอ้ ของโปรดฉันเลย พอชิมแล้วถูกใจก็เลยอารมณ์ดีขึ้นฉับพลัน หลัง ๆ ฉันไม่เห็นเครื่องดื่มนี้วางขาย ไม่รู้ว่าเลิกผลิตไปแล้ว หรือว่าร้านสะดวกซื้อที่ฉันไปไม่มีก็ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ
ทุกวันนี้กูลิโกะผลิต กาแฟนม เป็นหลัก  ภาพจากhttps://www.glico.com/jp/product/drink/
นาน ๆ ทีฉันก็ซื้อเครื่องดื่มจากตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติในโรงเรียนบ้าง เห็นมี “อิจิโกะมิรุคุ” (いちごミルク)หรือนมรสสตรอเบอรี่ที่เคยเห็นในหนังสือการ์ตูนว่าเด็กมัธยมชอบดื่มกัน ก็เลยตื่นเต้นลองซื้อมาชิมดู รสชาติคล้ายนมรสสตรอเบอรี่ที่ฉันเคยดื่มตอนเด็กนั่นแหละ ที่ผ่านมาฉันดื่มแต่นมช็อกโกแลตเสียจนลืมไปเลยว่า นมรสสตรอเบอรี่รสชาติอย่างไร

แม้จะมีตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ แต่โรงเรียนก็ไม่มีโรงอาหารให้ จึงต้องออกไปซื้อเอาจากร้านสะดวกซื้อใกล้ ๆ เช่น แซนวิช หรือไม่ก็ข้าวปั้น กับเครื่องดื่มซึ่งมีหลากชนิดให้เลือก แทบไม่มีอะไรในประเทศนี้ที่ไม่อร่อย ราวกับอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดผ่านการรับรอง “อร่อยชัวร์” มาแล้วก็ไม่ปาน

เครื่องดื่มที่ญี่ปุ่นมักไม่ทำรสหวานจัดและไม่แต่งกลิ่นรุนแรง แต่ละชนิดจึงมีกลิ่นและรสชาติกลมกล่อมพอดี ๆ ไม่ชวนให้รู้สึกเหมือนกำลังดื่มเครื่องดื่มสังเคราะห์ ที่ฉันชอบมากที่สุดก็คงไม่พ้น ชานมลิปตันกล่องสีน้ำเงินสดใส ซึ่งเป็นเครื่องดื่มโปรดของใครต่อใครหลายคน คงเพราะได้รับความนิยมมากจึงติดตลาดมานานจนแทบไม่มีร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตไหนที่ไม่วางขาย อีกอย่างที่ฉันชอบมากคือ ช็อคโกแลตเย็นของ Van Houten ที่ดื่มแล้วทำให้คิดถึงนมถุงฟาร์มโชคชัยรสช็อกโกแลต ที่เคยดื่มอย่างมีความสุขตอนเด็ก ๆ เวลามีรถเข็นมาขายหน้าบ้าน

นมสดของญี่ปุ่นก็อร่อยมากเหมือนกันค่ะ แต่ต้องดูว่าอย่างไหนเป็นนมสดแท้ซึ่งจะหวานมันกลมกล่อม ในขณะที่บางชนิดอาจราคาถูก แต่ก็ไม่ใช่นมสดแท้ทั้งกล่องและไม่เข้มข้น ส่วนนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตพร้อมดื่มก็มีหลายแบบหลายยี่ห้อให้เลือกกันอย่างจุใจ

พวกเครื่องดื่มแบบกล่องกระดาษบางอย่างมี 2-3 ขนาดให้เลือก ซึ่งขนาดใหญ่สุดประมาณ 1 ลิตร ราคาก็ไม่ค่อยต่างจากขนาดปกติเท่าใดนัก บางทีลดราคากล่องใหญ่ถูกกว่ากล่องเล็กก็มีเหมือนกัน ซื้อแบบกล่องใหญ่เลยก็คุ้มดีถ้าดื่มที่บ้าน

พูดถึงเรื่องอาหารการกินแล้วอดคิดถึงญี่ปุ่นไม่ได้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาทำอย่างไรถึงได้รสดีไปหมดอย่างนั้นนะคะ เดาว่าส่วนหนึ่งอาจเพราะใช้วัตถุดิบที่ดี ได้คุณภาพ และไม่แต่งสีกลิ่นรสจนผิดธรรมชาติเกินไปนักก็เป็นได้

แล้วพบกับตอนต่อไปในสัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.




"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น