ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สวัสดีปีไก่ด้วยใจคึกคัก ปีนี้ไทยเรียก “ปีระกา” ญี่ปุ่นเรียกว่า “โทะริ-โดะชิ” (酉年; tori-doshi) โบราณญี่ปุ่นท่านว่า ปีไก่หมายถึงปีที่ “ดอกผลจะสุกงอม อยู่ในสภาพพร้อมให้เก็บเกี่ยว” ด้วยเหตุนี้จึงตีความได้ว่า “การค้าจะรุ่งเรือง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไป
เมื่อนึกถึงไก่ ใครๆ ก็รู้ว่านี่คือสัตว์ที่ใกล้ตัวมนุษย์มาก แต่ถึงแม้ใกล้ขนาดเข้าปากปีละไม่รู้กี่ครั้ง ก็ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่ทราบว่าขาไก่หนึ่งข้างมีกี่นิ้ว อย่ากระนั้นเลย ในโอกาสเปิดศักราชปีไก่ ขอเชิญมาทำความรู้จักกับไก่ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอีก 3 มุม ได้แก่ หน้าที่ไก่ด้านความเชื่อ จิตรกรภาพไก่ และไก่ไทยในญี่ปุ่น
หากว่ากันถึง “หน้าที่ไก่” ไก่ไทยกับไก่ญี่ปุ่นซึ่งมี 4 นิ้วเหมือนกัน (บางพันธุ์มี 5 นิ้ว) ต่างก็ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน คือ มีชีวิตเพื่ออุทิศทั้งเนื้อและไข่เป็นอาหารให้มนุษย์ หรือไม่ก็อวดขนงามๆ กับความน่ารักให้ผู้ชมได้เพลินใจ แต่ไก่ในญี่ปุ่นมีหน้าที่มากกว่านั้นอีกหน่อย
บางครั้งคนต่างชาติไปเยี่ยมชมศาลเจ้าของญี่ปุ่นและเห็นไก่ นึกสงสัยขึ้นมาว่าเลี้ยงไว้ทำไม? เอาไว้กินไข่?...ก็อาจจะใช่ แต่ถือว่าเป็นผลพลอยได้มากกว่า หรือเอาไว้กินเนื้อ?...อันนี้มีความเป็นไปได้ต่ำ หรือว่าเลี้ยงไว้ดู?...อันนี้คงใช่ แต่ก็มีนัยที่ลึกกว่านั้น ศาลเจ้าญี่ปุ่นหลายแห่งเลี้ยงไก่เพราะถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่งตามคติชินโต และเพราะอิทธิพลของชินโตนี่เอง จึงไม่ใช่แค่ไก่ แต่สัตว์อะไรๆ ที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์ คนญี่ปุ่นก็มักถือว่าศักดิ์สิทธิ์แทบทั้งนั้น ถ้าลองสืบค้นดู เดี๋ยวจะเจอตำนานเทพที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าจนได้ แต่สิ่งเหล่านี้เชื่อไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะอย่างน้อยก็ทำให้มนุษย์สนใจและเมตตาสัตว์มากขึ้น
“ไก่” คือ “ชินชิ” (神使;shinshi) แปลว่า “ผู้นำสารของเทพเจ้า” หรือ “ทูตแห่งเทพ” สาเหตุที่คนญี่ปุ่นเชื่อเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากตำนานต้นกำเนิดญี่ปุ่น กล่าวคือ สุริยเทวีผู้เป็นต้นตระกูลจักรพรรดิ ถูกน้องชายรังควานและไม่สบอารมณ์ขึ้นมา จึงหลบหน้าไปอยู่ในถ้ำ เมื่อนั้นตะวันก็ลาฟ้าก็มืด เกิดความระส่ำระสายยาวนานเพราะเทวีผู้ดูแลดวงอาทิตย์ไม่ย่างกรายออกมา ทวยเทพองค์อื่นๆ จึงมารวมตัวกัน และคิดหาวิธีให้เทวีออกมาจากถ้ำ
กระบวนการเบื้องต้นคือ นำไก่ที่ขันได้ยาวนานมาไว้ใกล้ๆ ปากถ้ำ และให้มันขันนำ ส่งเสียงกระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่านี่เช้าแล้ว ออกมาเถิด พอได้เวลา ไก่ก็ขัน “โคะ-เกะ-กก-โก, โคะ-เกะ-กก-โก” สุริยเทวีเริ่มเอะใจ แต่ก็ยังไม่ยอมออกมา เทพเจ้าทั้งหลายจึงดำเนินการขั้นต่อไป โดยจัดดนตรีมาเล่น และพากันหัวเราะเสียงสนั่น ทำทีเหมือนมีงานครื้นเครงจริงๆ
สุริยเทวีสงสัยหนักกว่าเดิมว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ภายนอก ครั้นอดใจไม่ไหวจึงแง้มประตูถ้ำออกมา ปรากฏว่าเทพยดาจัดเตรียมกระจกเงาไว้คอยท่า พอสุริยเทวีเยี่ยมหน้าออกมา ก็เห็นหน้าตัวเองเข้า ประหลาดใจหนักหนาว่านั่นหน้าใคร (สมัยโบราณไม่มีกระจากเงา) จึงออกมาทั้งตัว เป็นอันว่าโลกก็กลับมามีแสงสว่างดังเดิม
(ติดตามรายละเอียด “ตำนานต้นกำเนิดญี่ปุ่น” ได้ที่ www.manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9590000091447)
ด้วยที่มาเช่นนี้ ไก่จึงเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับเทพเจ้า ถ้าเป็นไก่ที่เลี้ยงอยู่ในบริเวณศาลเจ้า ก็จะเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยๆ และไม่ได้เลี้ยงไว้กิน แต่เลี้ยงไว้ดู หรือถ้าพูดให้ตรงยิ่งขึ้นคือเลี้ยงไว้บูชาเสียมากกว่า หากใครมีโอกาสได้ไปศาลเจ้าญี่ปุ่นและเห็นไก่ ก็คงจะเลิกสงสัยแล้วว่าเลี้ยงไว้ทำไม โดยเฉพาะที่ศาลเจ้าอิเซะในจังหวัดมิเอะ ซึ่งถือว่าเป็นศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดแห่งจักรพรรดิวงศ์ของญี่ปุ่น
อีกมุมหนึ่งที่น่ารู้ไว้คือ “ศิลปินภาพไก่” ช่วงนี้ถ้าแวะเข้าร้านหนังสือ จะพบเห็นหนังสือรวมจิตรกรรมไก่หลายเล่ม เป็นภาพที่แลดูสะดุดตาด้วยสีสันสดใสและมีการลงลายอย่างละเอียดลออ หลายสำนักพิมพ์ออกหนังสือแนวนี้มาเตรียมรับปี 2560 ล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่คนรุ่นหลังของญี่ปุ่นเองก็จะได้รู้จักจิตรกรคลาสสิกผู้โดดเด่นเรื่องภาพไก่
ในญี่ปุ่น ศิลปินที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวางเป็นพิเศษในปีไก่ก็คือ จะกุชู อิโต (伊藤若冲;Itō, Jakuchū ; พ.ศ. 2259 – 2343) จะกุชูเกิดที่นครเกียวโต ฝีมือวาดภาพได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน สร้างผลงานไว้มากมาย แต่ภาพธรรมชาติและสัตว์ โดยเฉพาะภาพไก่และนก โดดเด่นกว่าอย่างอื่น และแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงจะกุชู คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงภาพไก่ก่อน เมื่อประจวบกับปีไก่ ชื่อของจะกุชูจึงกลับมาแพร่หลายบนแผงหนังสืออีกระลอก สำหรับผู้รักงานศิลปะตะวันออก ผมคัดสรรภาพเด่นๆ อันหาชมนอกญี่ปุ่นได้ยากมาชวนกันทัศนา
ไก่สองตัวกับอะจิไซ (ดอกไฮเดรนเยีย) (紫陽花双鶏図;Ajisai sōkei zu)
ไก่สีขาวกับสนเก่าแก่ (老松白鶏図;Rōshō hakkei zu)
ฝูงไก่ (群鶏図;Gunkei zu)
พ่อไก่ในดงค้อดอย (棕櫚雄鶏図;Shuro yūkei zu)
พ่อไก่แม่ไก่ร่างใหญ่ (大鶏雌雄図;Taikei shiyū zu)
พ่อไก่กลางหิมะ (雪中雄鶏図;Setchū yūkei zu)
พ่อไก่ยามอาทิตย์อุทัย (旭日雄鶏図;Kyokujitsu yūkei zu)
พ่อไก่ในพุ่มนันเต็ง (บาร์เบอร์รี) (南天雄鶏図;Nanten yūkei zu)
ฝูงไก่กลางตะบองเพชร (仙人掌群鶏図;Saboten-gun kei zu)
และอีกหนึ่งมุมที่ใกล้ตัวคนไทยเข้ามาหน่อย คือ “ไก่จากไทยในญี่ปุ่น” ถ้าเอ่ยถึงไก่ไทย หลายคนอาจนึกถึง “ไก่ชน” ขึ้นมา เมื่อถามว่าที่ญี่ปุ่นมีไก่ชนหรือไม่ คำตอบคือมี ในญี่ปุ่นมีไก่ชนพันธุ์หนึ่งซึ่งชื่อภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ไก่ทหาร” ทั้งตัวไก่และชื่อไก่ต่างก็ได้มาจากไทยเรานี่เอง ญี่ปุ่นนำเข้าไก่ชนจากไทยในช่วงต้นสมัยเอะโดะ เมื่อก่อน ไทยคือสยาม คนญี่ปุ่นเรียก “สยาม” ตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า “ชะมุ” (シャムหรือ暹羅;Shamu) แล้วเอาตัวอักษร 軍(ทหาร)กับ 鶏 (ไก่) แปะเข้าไป และให้ออกเสียงเรียกไก่ชนิดว่า “ชะโมะ” (軍鶏;shamo) ไก่ชนของไทยจึงได้ชื่อใหม่ในญี่ปุ่นว่า “ชะโมะ” ด้วยประการฉะนี้
สมัยก่อน จุดประสงค์ของการเลี้ยงไก่ชนในญี่ปุ่น หลักๆ แล้วเหมือนของไทยคือ นำมาชนเพื่อความสนุกสนาน และเลยเถิดไปถึงการพนันขันต่อ แต่พอถูกทางการสั่งห้าม การเลี้ยงเพื่อชนจึงซบเซาลง และเนื่องจากว่ากันว่าเนื้อไก่ชนมีรสชาติอร่อย ปัจจุบันจึงมีการเลี้ยงอยู่บ้างเพื่อใช้เป็นอาหาร จังหวัดที่เลี้ยงแพร่หลาย เช่น อะโอะโมะริ อะกิตะ โตเกียว อิบะระกิ ชิบะ โคจิ ไม่ใช่แค่ไก่ชนเท่านั้นที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย แต่ไก่ที่คนญี่ปุ่นกินกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากไทย แม้ไก่ไทยเคยถูกห้ามนำเข้าหนึ่งทศวรรษจนถึงปลายปี 2556 เพราะโรคไข้หวัดนก แต่ในช่วง 3 ปีมานี้ อนาคตของไก่ไทยก็กลับมาสดใสเพราะญี่ปุ่นยอมกลับมานำเข้าอีก
ดูเหมือนอนาคตอันเกี่ยวเนื่องกับไก่ไทยจะสดใสยิ่งขึ้นนับจากนี้ต่อไป สังเกตได้จากการที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ “นิกเก” ของญี่ปุ่นให้ความสนใจกลุ่มซีพี ถึงกับลงบทสัมภาษณ์คุณธนินทร์ เจียรวนนท์และบทความว่าด้วยซีพี ติด ๆ กันมาพักใหญ่ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2559 ดูท่าไก่ไทยคงจะสยายปีกการค้าได้แกร่งกล้าตามโฉลกปีไก่เป็นแน่แท้
ปีใหม่นี้ ญี่ปุ่นเบิกฟ้าด้วยอากาศแจ่มใสตลอดช่วงสัปดาห์แรก ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการค้า แล้วก็เป็นไปตามความคาดหมาย อย่างน้อย ๆ วันที่ 1-3 ผู้คนในโตเกียวก็พากันหลั่งไหลออกไปซื้อ “ถุงโชคดี”—ฟุกุบุกุโระ (福袋;fukubukuro) อย่างคึกคัก ตามร้านค้าในย่านใหญ่ก็มีเสียงภาษาไทยลอยมาให้ได้ยินเป็นระยะอีกด้วย คาดว่าคงเป็นคนไทยที่เดินทางไกลมารับปีใหม่กันถึงญี่ปุ่น ก็หวังว่า ในปีไก่นี้ การค้าทั้งของไทยและญี่ปุ่นจะรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และขอให้ผู้อ่านได้พานพบแต่สิ่งประเสริฐตลอดปี
สวัสดีปีใหม่ครับ—Akemashite o-medetō go-zaimasu
ปีนี้ก็ขอฝากเนื้อฝากตัวอีกเช่นเคยครับ—Kotoshi mo yoroshiku o-negai shimasu
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th