พยาบาลสาวไทยรายหนึ่งได้ช่วยชีวิตชาวต่างชาติที่สถานีรถไฟที่ประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์นี้ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจและเสียงชื่นชม ขณะเดียวกันก็ชวนให้ฉุกคิดถึงอุปกรณ์ “กู้ชีพฉุกเฉิน” ซึ่งประเทศญี่ปุ่นติดตั้งอย่างแพร่หลายในสถานที่สาธารณะ แต่เมืองไทยยังคงขาดแคลน
คุณ "รังษี วงศ์ชัย" พยาบาลแผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ฮีโร่สาวซึ่งได้ช่วยชีวิตชาวต่างชาติที่เกิดอาการหัวใจขาดเลือดฉับพลันที่สถานีรถไฟในกรุงโตเกียว เล่าเหตุการณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า
"พี่บอกเป็นภาษาอังกฤษว่าฉันเป็นนางพยาบาล จากนั้นพี่พลิกผู้ป่วยนอนตะแคงเพื่อปลดเสื้อในและคลายเสื้อคลุมเพราะที่ประเทศญี่ปุ่นอากาศเริ่มเย็น คลำชีพจรที่ข้อมือไม่พบชีพจร จึงมาคลำชีพจรที่บริเวณลำคอพบว่าชีพจรผู้ป่วยเบามาก จึงตัดสินใจกู้ชีวิตด้วยวิธีปั๊มหัวใจใช้มือกด จากนั้นเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟก็หยิบเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้ามาปั๊มหนึ่งครั้ง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟใช้วิทยุสื่อสาร สักพักมีเจ้าหน้าที่วิ่งนำรถเปลนอนมา จึงตัดสินใจปั๊มหัวใจผู้ป่วยอีกครั้งแล้วคลำชีพจรพบว่าชีพจรเต้นดีขึ้นกว่าเดิม พอเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟยกผู้ป่วยขึ้นรถเปลนอนจึงเข้าไปช่วย และบอกลูกชายของผู้ป่วยให้ตามไปที่โรงพยาบาล"
ผู้ป่วยที่รอดชีวิตได้จากเหตุการณ์นี้ นอกจากทักษะการปั๊มหัวใจที่คุณรังษีได้เรียนรู้มาแล้ว ตัวช่วยที่สำคัญ คือ เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ซึ่งติดตั้งอยู่ในสถานที่สาธารณะทั่วประเทศญี่ปุ่น
เครื่องมือกู้ชีพฉุกเฉิน คนธรรมดาก็เป็น “ฮีโร่” ได้
AED หรือ Automated External Defibrillator เป็นอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉินชนิดกระเป๋าหิ้ว ซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้ที่ประสบเหตุเลือดไม่ไปเลี้ยงหัวใจ หรือหัวใจวายเฉียบพลันด้วยการช็อกกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นหัวใจ นอกจากนี้ยังสามารถประเมินอาการการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจฉับพลันของคนป่วยได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้หัวใจกลับมาสู่การเต้นอย่างปกติได้อีกครั้ง
เครื่อง AEDคล้ายกับการปั้มหัวใจด้วยมือ หรือCPR (Cardiopulmonary Resuscitation) แต่มีประสิทธิภาพกว่ามาก เพราะเป็นการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ถ้าช่วยเหลือโดยการทำ CPR อย่างเดียว โอกาสรอดมีเพียง 5% แต่หากช่วยโดยการทำ CPR คู่กับเครื่อง AED โอกาสรอดจะเพิ่มขึ้นเป็น 47%
ในญี่ปุ่นตามมีการติดตั้งเครื่องAED ตามสถานที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟ, แหล่งท่องเที่ยว,สนามกีฬา รวมทั้งตามท้องถนนที่มีผู้คนคับคั่ง มีเครื่อง AED ติดตามพื้นที่สาธารณะไม่น้อยกว่า 5 แสนเครื่อง ขณะที่ในประเทศไทย ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่ามีเครื่องAED ในพื้นที่สาธารณะไม่เกิน 1หมื่นเครื่อง
เครื่องAED ทุกวันนี้ได้รับการพัฒนาให้ใช้ง่าย คนธรรมดาที่ผ่านการฝึกฝนเพียงเล็กน้อยก็สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไปก็ใช้ได้ไม่ยาก
เมื่อเปิดสวิทซ์ AED จะบอกวิธีใช้งานเป็นภาษาต่างๆ ตามที่ตั้งไว้ทั้งเสียงและภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากให้เอาขั้วไฟฟ้าที่เป็นผ้านิ่มเชื่อมต่อเข้ากับคนป่วย เครื่องมือก็จะตรวจสถานะความเจ็บป่วยของคนไข้โดยอัตโนมัติ เพื่อประเมินว่าต้องได้รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าหรือไม่
หากต้องมีการกระตุ้น เครื่องจะเตือนให้ตรวจคนไข้ว่าไม่มีโลหะอยู่บนร่างกาย เช่น ตะขอเสื้อชั้นใน ตะขอกางเกง หัวเข็มขัด และไม่มีใครแตะตัวคนป่วย จากนั้นเครื่องจะสั่งให้กดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า พร้อมประเมินว่าจำเป็นต้องใช้ CPR ประกอบการช็อตหรือไม่
AED ยังสามารถเก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจและกระแสไฟฟ้าจากสมอง ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาขั้นต่อไปได้ด้วย
ประเทศญี่ปุ่นไม่เพียงติดตั้งเครื่อง AED ตามสถานที่ต่างๆอย่างแพร่หลาย แต่ยังมีเว็บไซต์และแอพลิเคชั่นที่สามารถระบุพิกัดสถานที่ติดตั้งเครื่อง AED ที่ใกล้เคียงที่สุดผ่านระบบแผนที่ GPS อีกด้วย
https://aedm.jp/
https://www.qqzaidanmap.jp/
โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุด 1 ใน3อันดับแรกของคนไทย แทบทุกกรณี “ฮีโร่” มักจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าที่กู้ภัยที่ได้รับการฝึกอบรมมา แต่หากมีการติดตั้งเครื่อง AED ตามสถานที่สำคัญ และให้ข้อมูลว่าอุปกรณ์กู้ชีพนี้คนทั่วไปก็ใช้งานได้เพียงแต่ทำตามขั้นตอนของเครื่องอัตโนมัติเท่านั้น โอกาสรอดชีวิตของคนไทยก็จะสูงขึ้น และคนเดินถนนทุกคนก็จะเป็น “ฮีโร่” ได้.