xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือไม่? ตับแตกจากการปั๊มหัวใจพบได้น้อยกว่า 0.1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษา คกก. มาตรฐานการช่วยชีวิต เผยตับแตกจากการปั๊มหัวใจพบน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ชี้ หากตับแตกต้องซี่โครงหักร่วมด้วย แนะรอผลชันสูตรนิติเวช ดูกลีบของเนื้อตับเกี่ยวข้องการปั๊มหัวใจหรือไม่

พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การช่วยเหลือให้ฟื้นคืนชีวิต หรือการทำซีพีอาร์ ตามปกติไม่ค่อยพบการเสียชีวิต ส่วนการปั๊มหัวใจแล้วทำให้ตับแตกนั้น หากพบก็น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ การปั้มหัวใจ ด้วยการกดกลางหน้าอก เริ่มมีในปี 2502 ที่จอห์นออฟกินส์ สหรัฐอเมริกา การปั๊มหัวใจกู้ชีพ ต้องมีทักษะที่แตกต่าง ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมในหน่วยกู้ชีพกู้ภัยครบทั้งหมดแล้ว โดยทักษะที่จะถูกสอน ผู้ใหญ่จะใช้สองมือปั๊มหัวใจกลางอก เด็ก 12 ปี ใช้มือเดียวในการปั้มหัวใจ เด็กเล็กใช้ 2 นิ้วในการปั๊มหัวใจกลางอก ใช้น้ำหนักในตัวกด ไม่ผ่อนแรงน้ำหนักของผู้ที่จะกู้ชีพ ทำ 30 ครั้ง ติดต่อกัน 18 วินาที

พ.ต.อ.นพ.โสภณ กล่าวว่า การพบอาการตับแตกต้องสอดคล้องกับซี่โครงหักด้วย จะมาซี่โครงหักอย่างเดียวไม่ได้ และหากมีโรคประจำตัว ทั้งตับโต ไขมันพอกตับก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกู้ชีพ และในกรณีที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้วยการกู้ชีพ จากการผูกคอตายนั้น ต้องช่วยเหลือภายใน 4 นาที เพราะมิเช่นนั้นสมองจะตาย อย่างไรก็ตาม การช่วยชีวิต ต้องเข้าใจว่า ทำด้วยความหวังดี มีเจตนาในการช่วยเหลือผู้อื่น และแม้ไม่ช่วยผู้ที่ประสบเหตุก็มีโอกาสเสียชีวิต การช่วยเหลือส่วนใหญ่จะทำกันอย่างเต็มที่ และจะพยายามมากที่สุด โดยจะทำกันเป็นทีม

“สำหรับการจะทราบว่าตับแตกจากการกู้ชีพหรือไม่ ต้องรอให้แพทย์นิติเวช เป็นผู้ชันสูตร โดยสามารถดูได้ จากรอยแตกหรือกลีบของตับ ว่า เฉียงไปในทิศทางใด เพราะการปั๊มหัวใจ ไม่มีทางที่ซี่โครงจะไปกระแทกตับอย่างแน่นอน” พ.ต.อ.นพ.โสภณ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น