ทีโอที จับมือ สพฉ.ติดตั้งเครื่อง AED ในโครงการตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต 300 ตู้ใน กทม. และปริมณฑล ภายในปี 2562 โดยมีรายได้ต่อตู้ต่อเดือนประมาณ 1,300 บาท ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยเหลือสังคม ยังเป็นการดิ้นหารายได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เห็นความสำคัญในการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล จึงได้ร่วมมือรณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมในการติดตั้งเครื่อง AED (Automated External Defibrillator) ในโครงการ “ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต” ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งติดตั้งในสถานที่ที่มีโอกาส และความเสี่ยงในการเกิดภาวะฉุกเฉินนอกสถานพยาบาล และสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีประชาชนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ได้แก่ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง สนามบิน ท่าเรือ และการขนส่งมวลชนที่มีระยะทางไกล และมีผู้โดยสารจำนวนมาก
ฟิตเนสเซ็นเตอร์ สปอร์ตคลับ หรือสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า และย่านร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณผู้มาใช้บริการ 5,000 คนต่อวัน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ ศูนย์กลางชุมชน สถานพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ อพาร์ตเมนต์ ที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 50 คน โรงเรียน บริษัท โรงงาน และสถานที่ให้บริการที่มีคนพลุกพล่าน สถานบันเทิง โรงแรม หรือศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ และพื้นที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เช่น เกาะ ภูเขา นอกจากนี้ สพฉ.จะเตรียมพร้อมในการติดตั้ง การฝึกอบรม การปฐมพยาบาล และการฝึกใช้เครื่อง AED ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
“ตามหลักแล้ว หากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า CPR จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี และการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดี ต้องทำควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจ ด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึง 45%”
ด้าน นายจุมพล ธนะโสภณ (คนขวา) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่ และ บรอดแบนด์ ทีโอที กล่าวว่า ทีโอที ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559-2562 โดยในปี 2559-2560 จะติดตั้ง 100 ตู้ จากนั้น ในปี 2561 จะติดตั้งเพิ่มอีก 100 ตู้ และอีก 100 ตู้ในปี 2562 รวมเป็น 300 ตู้ โดยทีโอที จะมีรายได้จากการให้เช่าตู้ๆ ละประมาณ 1,300 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ การให้บริการ “ตู้โทรศัพท์ช่วยชีวิต” สามารถโทร.แจ้งเหตุฉุกเฉินได้ฟรี เมื่อยกหู และกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว โดยภายในตู้โทรศัพท์สาธารณะจะมีเครื่องมือเบื้องต้นในการช่วยเหลือ อาทิ ชุด Frist aid, ชุด PPE และชุดเคลื่อนย้ายผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีจอทีวีฉายวีทีอาร์สอนการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น โดยการทำงานของตู้มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่นำสมัย ทำให้ผู้แจ้งเหตุใช้งานง่าย และรวดเร็วมากขึ้น เมื่อมีการเปิดตู้ ระบบ AED จะส่งสัญญาณแสง และเสียง พร้อมระบบ GPS ระบุสถานที่ของตู้จุดเกิดเหตุ หลังจากนั้น ระบบบันทึกเสียงจะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติ ผู้แจ้งเหตุสามารถติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ทั้งภาพ และเสียง นอกจากนี้ ภายในตู้ยังมีเอกสารแนะนำเบอร์ฉุกเฉินต่างๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดทำโครงการนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือสังคมแล้ว ทีโอที ยังมีรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจตู้โทรศัพท์สาธารณะได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยทีโอที ยังคงมีตู้โทรศัพท์สาธารณะอยู่ประมาณ 1.2 แสนตู้ แบ่งเป็นเขตนครหลวง 2 หมื่นตู้ และ 1 แสนตู้ในเขตภูมิภาค ซึ่งยังมีรายได้เฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือนอยู่ที่ 200 บาท คิดเป็นรายได้ต่อปีที่ 288 ล้านบาท
นายจุมพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทีโอที ยังมีรายได้จากการให้เช่าตู้เพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาด้วย ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือนที่ 800 บาท แต่มีเพียงไม่กี่ตู้เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น อีกทั้งยังมีรายได้จากการเป็นพันธมิตรมายาวนานกว่า10 ปี กับ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในการให้เช่าติดตั้งตู้บุญเติม ซึ่งล่าสุด ได้ต่อสัญญาต่อเนื่องในการติดตั้ง 6,000 ตู้ในปี 2561 โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือนที่ 650 บาท และยังมีแผนในอนาคต ซึ่งจะใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นจุดติดตั้งฮอตสปอตไวไฟ เพื่อให้บริการในแหล่งชุมชน เช่น สถานีขนส่ง โรงเรียนกวดวิชา รถไฟฟ้า เป็นต้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ว่าจะใช้เทคโนโลยีไร้สายคลื่นไหนในการให้บริการ