คอลัมน์นี้เป็นบทความพิเศษ เป็นบทความแปลมาจากบทความหนึ่งในเว็บ ANNGLE เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น (http://anngle.org/) เป็นความในใจจากแม่บ้านญี่ปุ่นที่แต่งงานกับคนไทย และอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เธอเขียนบทความนี้ให้เพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยได้อ่าน ทางเว็บ ANNGLE เห็นว่ามีเนื้อหาน่านำมาให้คนไทยได้อ่านกัน จึงได้จัดทำเป็นบทความพิเศษขึ้น ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
สิ่งที่ฉันรู้สึกจากมุมหนึ่งของกรุงเทพ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต จะว่าไปฉันรู้สึกมาตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะเสร็จสวรรคตแล้ว จึงขอเขียนความรู้สึกในใจมา ณ ที่นี้ โดยเฉพาะท่านที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอยากให้ลองอ่านดู
จากชานเมืองกรุงเทพฯ
ฉันอาศัยอยู่ในย่านชานเมืองกรุงเทพฯ หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต สิ่งที่ฉันมองเห็นนั้นช่างเป็นสิ่งที่สันติ แม้ในใจกลางเมืองกรุงเทพก็เหมือนกับทุกๆวัน ตั้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้วฉันกลัวว่าวันนี้จะมาถึง รวมถึงทุกๆคนด้วยใช่ไหม? ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนญี่ปุ่นก็ตาม
และเมื่อวันนี้มาถึงความวุ่นวายก็น่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งการสู้รบต่างๆ ใช่ไหม? หลายคนอาจจะเตรียมตัวเมื่อวันแบบนี้มาถึง ฉันก็เช่นกัน
หัวใจของคนไทยรวมเป็นหนึ่ง
เมื่อวันนี้มาถึง แน่นอนคนไทยทุกคนเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก คนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยหรือคนญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างลึกซึ้งก็คงจะรู้สึกไม่ต่างกัน ตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้จะมีความเศร้าโศกเกิดขึ้นแต่การเคลื่อนไหวในตัวเมืองก็ยังเหมือนเช่นทุกวัน จะว่าไปมันก็เป็นเรื่องปกติว่าไหม ตอนนี้อาจมีคนประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง หรืออาจมีคนกำลังช่วยเหลือใครบางคนอยู่ ซึ่งแม้ว่าเรื่องน่าเศร้าเช่นนี้จะเกิดขึ้น หัวใจของคนไทยก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ในเวลานี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันคิดว่าวิเศษมากจริงๆ
การได้เกิดมาในประเทศที่มีพ่ออันแสนประเสริฐเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยหันกลับมาคิดว่าจริงๆแล้วพวกตนนั้นมีความสุขเช่นไร หลายคนอาจมีความรู้สึกเหมือนกับว่าตนเป็นลูกชายหรือลูกสาวที่เมื่อสูญเสียพ่อที่เป็นที่รักไปจึงสำนึกว่า “ต่อไปจะถึงตาของเราที่ต้องสู้แทนพ่อแล้ว” “เราต้องพยายามให้มากขึ้น” ฉันเห็นว่าการที่รัฐบาลออกมาประกาศในทันทีว่า “ไม่ให้หยุดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ตอนนี้มีคนใส่ชุดดำเพิ่มมากขึ้น แต่แทบทุกคนก็ยังออกมาเดินถนน จับจ่ายซื้อของ ทานอาหาร และทำงานเหมือนเดิม
เรื่องน่าขายหน้าเกี่ยวกับสื่อญี่ปุ่น
เป็นที่น่าเสียดายที่สื่อญี่ปุ่นเอาแต่นำเสนอข่าวในแง่ที่ว่า “ประเทศไทยกำลังปั่นป่วนหลังจากที่ไม่มีกษัตริย์” “มีบริษัทที่ต้องปิดตัวลง” “ต้องไว้ทุกข์นาน 1 ปี (จริงๆแล้วเฉพาะข้าราชการ)” “นี่เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาก” และ “เศรษฐกิจชะลอตัวลงหรือถึงขั้นหยุดชะงัก” มีแต่ข่าวทำนองนี้ คนญี่ปุ่นในประเทศไทยหลายๆคนคงจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่างของเนื้อหาข่าวจากสื่อญี่ปุ่นกับความจริงที่ตัวเองได้เห็นตรงหน้าบวกกับความเคลื่อนไหวของคนไทยทั่วไป มันเป็นความรู้สึกคล้ายๆกับช่วงที่เกิดความวุ่นวายของกลุ่มเสื้อแดงหรือช่วงที่มีรัฐประหาร ฉันคิดว่าเพื่อนๆคนญี่ปุ่นที่อาศัยในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยก็คงรู้สึกเหนื่อยหน่ายและไม่พอใจกับการนำเสนอข่าวเหล่านี้ของสื่อญี่ปุ่น
ส่วนคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยเมื่อดูสื่อญี่ปุ่นแล้วก็ลือและตื่นตระหนกไปต่างๆ นานา ฉันรู้สึกอยากถามคนเหล่านั้นเหลือเกินว่า “ข่าวเหล่านั้นพวกคุณได้เช็คความถูกต้องแล้วหรือยัง” “คุณได้ไปดูด้วยตาตัวเองหรือเปล่า” “คุณได้ไปสัมผัสและรู้สึกด้วยตัวเองหรือเปล่า” โดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจของไทยนั้นห่างไกลจากการเมืองมากนัก (ปัญหาการเมืองเป็นคนละเรื่องกันกับเศรษฐกิจ เรียกว่า private economy ซึ่งแน่นอนว่าการไม่มีปัญหาเป็นสิ่งที่ดีกว่า) เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทรงพระชราภาพมากแล้ว ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนการเมืองนั้นก็ไม่ได้เสถียรภาพมาแต่แรกอยู่แล้ว
แล้วอย่างนี้การพูดลือไปต่างๆนั้นจะมีความหมายอะไรกัน? ข่าวแบบนี้จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นลดลงหรือเปล่า? คนญี่ปุ่นจะยกเลิกการมาทำงานที่ประเทศไทยไหม? ถ้ามีคำถามแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ เรื่องพวกนี้อาจจะกลายเป็นจริงขึ้นมาก็ได้ โชคดีที่ลูกค้าของฉันไม่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ แต่กับบริษัทท่องเที่ยว ธุรกิจที่เกี่ยวกับอีเว้นท์ หรือธุรกิจงานแต่งงานก็คงจะได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน แต่ว่าไม่ได้นานเป็นปีนะ น่าจะแค่ประมาณ 30 วันกว่าๆเท่านั้น
ปฏิทินในหลวงที่อยู่ข้างตัว
เมื่อวานนี้ที่โรงเรียนที่ลูกสาวเรียนอยู่ในประเทศไทยก็มีพิธีการไว้อาลัยด้วย แกบอกว่าร้องไห้หนักมาก แต่ “ตอนเย็นก็จะกลับมาร่าเริงเหมือนเดิม!” ทำให้ฉันอดหัวเราะออกมาไม่ได้
แต่จะว่าไป เช้าวันที่ 14 เจอลุงโชเฟอร์ที่ขับรถส่งลูกสาวหน้าเศร้าตาบวมเป่งมาแต่เช้า แต่หลังจากที่ทำงานมาทั้งวัน พอตกเย็นลุงก็กลับมายิ้มแย้มเหมือนเก่าแล้ว เอ๋? หรือว่าลุงหายเศร้าแล้วเหรอ? ระหว่างทางกลับบ้านฉันเห็นป้ายในเมืองเปลี่ยนจากภาพของในหลวงเป็นภาพพระราชินี แล้วก็รู้สึกเศร้าๆ ขึ้นมา “ไม่เห็นต้องเปลี่ยนเร็วขนาดนี้เลย ยังอยากเห็นพระพักตร์ของพระองค์อยู่เลยแท้ๆ” พูดไปน้ำตาซึม แต่ลุงโชเฟอร์กลับบอกว่า “พระพักตร์ของพระองค์ก็อยู่ในปฏิทินไง ดูปฏิทินแทนก็ได้ครับ” นึกได้ว่าที่บ้านเราก็มีนะปฏิทินในหลวง ทำให้นึกอ๋อขึ้นมา หรือว่าคนที่ยึดติดอาลัยอาวรณ์มากที่สุดจะมีแต่คนญี่ปุ่นอย่างฉันอยู่คนเดียว??
ความรู้สึกเรื่องเวลาของคนไทยสั้นมาก ตรงกันข้ามกับคนญี่ปุ่นที่มีความรู้สึกเรื่องเวลาที่แสนยาวนาน คนญี่ปุ่นมักจะมองอะไรในระยะยาวเสมอ แต่ก็เป็นคนที่ฝังใจกับเรื่องแย่ๆ ในอดีตมากเช่นกัน คนไทยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่กับ”ขณะนั้น”เสมอ ถึงแม้บางครั้งจะอยากให้คิดถึงสิ่งที่จะตามมาสักหน่อยก็เถอะ แต่คนไทยก็ปล่อยวางเรื่องเศร้าในอดีตได้เร็ว อย่างตอนน้ำท่วมใหญ่ ฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ
แน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่าจะลืมเรื่องทุกอย่างไปได้โดยสิ้นเชิงหรอกนะ แต่นิสัยคนไทยที่ไม่พยายามพูดเรื่องไม่ดีหรือเรื่องเศร้า ชอบอยู่กับรอบยิ้มและเสียงหัวเราะ (ในด้านศาสนาพุทธก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ) น่าจะเป็นแรงผลักดันให้คนไทยยืนหยัดขึ้นมาจากความโศกเศร้าได้เร็วก็เป็นได้
คนไทยจะหายเศร้าได้เร็วกว่าที่พวกเราคิด ตอนนี้เราอาจจะทำอะไรกับงานที่ถูกแคนเซิลไปไม่ได้แล้ว แต่เราสามารถพยายามที่จะป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่หรือ
ก็อนาคตยังรอเราอยู่ข้างหน้านี่นา
สิ่งสำคัญคือการส่งข่าวสารที่อยู่ตรงหน้าของแต่ละคน
สมัยนี้ไม่ได้มีแต่สื่อใหญ่ๆเท่านั้นที่สามารถเสนอข้อมูลข่าวสารได้ ข้อมูลที่แผ่ขยายจากสื่อออนไลน์ขนาดเล็กหรือโลกโซเชียลก็มีพลังเช่นเดียวกัน พวกเราที่อยู่ในประเทศไทย อยากให้ช่วยกันส่งสารเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยู่ตรงหน้าของท่าน ไม่ว่าเรื่องดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศ ไม่ว่าจะพูดภาษาไทยได้หรือไม่ สิ่งที่เราทุกคนได้เห็นนั้นแตกต่างกันไป แต่การถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเห็นด้วยตาและรู้สึกออกมาฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ ว่าไหม
บางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย แต่ฉันคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ได้ ทั้งการท่องเที่ยวและการยกเลิกการเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย การเลื่อนกำหนดงานเกี่ยวกับญี่ปุ่น และอื่นๆ การส่งข่าวสารจะช่วยป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้ (โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ)
ถึงจะเป็นเพียงน้ำฝนหยดเล็กๆ แต่ถ้ารวมกันเข้าก็กลายเป็นแม่น้ำที่มีกำลังมากพอที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมได้ อย่างที่คุณเออิจิ ชิบุซาวะได้กล่าวไว้ ตอนนี้ฉันรู้สึกได้ถึงพลังที่แข็งแกร่งนั้น
เรื่องก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะทุกคน ฉันตระหนักถึงเรื่องนี้มานานมากแล้ว จึงได้จัดระเบียบความคิดของตัวเอง แล้วเรียบเรียงออกมาเป็นข้อความข้างต้น
เขียนมาเสียยืดยาวเลย ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ ทั้งประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และไม่ว่าประเทศไหนๆ หวังว่าพลังความดีของทุกคนจะช่วยกันนำไปสู่อนาคตที่สดใสได้
ขอบคุณค่ะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org