เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี ขณะที่เศรษฐกิจจีนรุ่งเรืองรุดหน้า แต่ปัญหาของญี่ปุ่นไม่ใช่การแข่งขันกับแดนมังกร หากแต่เป็นรากฐานความคิดของภาคธุรกิจและรัฐบาลญี่ปุ่นเองที่ผูกมัดประเทศจนไม่อาจหวนคืนสู่ความรุ่งโรจน์ได้
ในวันที่ 1 ตุลาคมซึ่งเป็นวันชาติจีน สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานข่าวสำคัญ 2ข่าว คือ IMF เพิ่มเงินสกุลหยวนเข้าเป็นเงินสกุลหลักลำดับที่ 3 ในตะกร้าเงิน และธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ AIIB ซึ่งริเริ่มโดยจีน จะมีสมาชิกมากกว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ประกาศเพิ่มสกุลเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตะกร้าสกุลเงินหลักและกำหนดให้เงินสกุลหยวนเป็นเงินสกุลหลักลำดับที่ 3 ต่อจากเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร
ตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม เงินสกุลหยวนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าสิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ SDR ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศที่บรรดาประเทศสมาชิกใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างกัน
สัดส่วนสกุลเงินในตะกร้าเงินของ IMF ประกอบด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ 41.73% , ยูโร 30.93% , เงินหยวน 10.92%, เงินเยน 8.33% และเงินปอนด์ 8.09%
การตัดสินใจของ IMF ถือเป็น “ของขวัญ” วันชาติที่รัฐบาลจีนพอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากถือเป็นการลบข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลจีนแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า และยังเป็นการยืนยันรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนสามารถเล่นในกติกาของระบบทุนนิยมได้อย่างเหนือชั้น
ถึงแม้จีนจะแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกมานานแล้ว แต่หลายประเทศยังบใช้ข้ออ้างเรื่อง “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” เพื่อกีดกันจีน การยอมรับบทบาทเงินหยวนของ IMF จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการผลักดันเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลสากล
จีนหวังปั้น AIIB ลดอิทธิพลสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น
ในวันที่ 30 กันยายนธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ AIIB ซึ่งริเริ่มโดยจีน มีสมาชิกใหม่จำนวนกว่า 20 ประเทศสมัครเป็นสมาชิกซึ่งจะทำให้ AIIB มีขนาดใหญ่กว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ที่นำโดยญี่ปุ่นกับสหรัฐที่มีสมาชิก 67 ประเทศ
AIIB ริเริ่มจัดตั้งขึ้นโดยจีนเมื่อปีที่แล้วเพื่อช่วยสร้างสาธารณูปโภคในเอเชีย สมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ เช่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศในเอเชียเป็นสมาชิกของ AIIB
ญี่ปุ่นกับสหรัฐปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับ AIIB โดยอ้างว่าต้องรอดูว่า AIIB มีความโปร่งใสในการดำเนินงานได้มาตรฐานระหว่างประเทศหรือไม่ ขณะที่มีรายงานว่าสหรัฐฯพยายามโน้มน้าวชาติพันธมิตร เช่น อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไม่ให้เข้าร่วมกับธนาคารที่จีนจัดตั้งขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผล
รัฐบาลจีนสร้างความโปร่งใสในการบริหาร AIIB โดยจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา 9 คน ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หนึ่งในนั้น คือนายยุกิโอะ ฮะโตะยะมะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายพอล สเปลซ์ อดีตผู้อำนวยการบริหารของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ซึ่งเป็นชาวสหรัฐ
มังกรผงาด อาทิตย์อัสดง
ข่าวสำคัญทั้ง 2 เรื่องแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นไม่เพียงไม่สามารถหยุดยั้งการถดถอยของเศรษฐกิจตัวเองได้ แต่ยังสูญเสียศักยภาพบนเวทีโลกไปเรื่อยๆ ในญี่ปุ่นเองมีทั้งกลุ่มที่ต้องการผูกมิตรกับจีน และกลุ่มที่มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับเห็นว่า ญี่ปุ่นไม่ได้แข่งขันกับจีน เพราะความจริงแล้วโครงสร้างการผลิตและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นกับจีนยังคงแตกต่างกันมาก แต่คู่แข่งตัวจริงของญี่ปุ่น คือ “เกาหลีใต้”
สินค้าของญี่ปุ่นถูกประเมินว่ามีคุณภาพมากกว่าสินค้าเกาหลีเพียงเล็กน้อย หากแต่ราคาแพงกว่ามาก ผู้บริโภคในยุค “ใช้แล้วทิ้ง” “เปลี่ยนของใหม่ดีกว่า” จึงเลือกซื้อสินค้าของเกาหลีมาใช้
ปัญหาของญี่ปุ่นไม่ได้เกิดจากการเติบโตของจีน แต่เป็นแนวคิดและวิธีปฏิบัติอันล้าหลังของธุรกิจและรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ทั้งการไม่ให้โอกาสบุคลาการชาวต่างชาติ, ความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิง-ผู้ชาย, พนักงานประจำและลูกจ้างชั่วคราาว โดยเฉพาะระบบการจ้างงานในญี่ปุ่นเป็นตัวถ่วงสำคัญที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่อยากจะทำงาน เพราะไม่เห็นอนาคตที่ดี นายกฯชินโซ อะเบะ เคยพูดหลายต่อหลายครั้งว่าจำเป็นต้องปฏิรูประบบการทำงานอยุติธรรมนี้ หากแต่ก็เป็นเพียง “ลมผ่านหู” เท่านั้น
“เติ้งเสี่ยวผิง” อดีตผู้นำจีนเคยประกาศในช่วงที่แดนมังกรยังทุกข์ยากว่า จีนต้องยอมเล่นในกติการที่คนอื่นกำหนดไว้ก่อน แต่เมื่อเราปีกกล้าขาแข็ง เราก็จะสร้างกติกาของเราขึ้นมาเอง.... ณ วันนี้ จีนได้ทำอย่างที่เติ้งเสี่ยวผิงเคยกล่าวไว้แล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงฝันค้างอยู่กับวันวาน.