ผู้จัดการรายวัน 360 - เคเอฟซี ขายสิทธิ์ 130 สาขาเดิมให้พันธมิตรใหม่ RDC ที่บริหารโดยกองทุน AIGF ลุยคู่ขนานกับซีอาร์จี มั่นใจสามค่ายขยายสู่ตามแผน 800 สาขาในปี 2563
นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย ) จำกัด เปิดเผยว่า ยัมประเทศไทย ได้ขายสาขาเดิมของเคเอฟซีให้แก่บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด หรืออาร์ดีซีแอล เบื้องต้นจำนวน 130 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 50% และในภาคใต้ 50%
“ช่วงเวลาปีกว่าที่เราประกาศกลยุทธ์นี้ออกไป และเราก็ประสานงานกับทั้งเครือข่ายเคเอฟซีทั่วโลก มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาเจรจาเป็นพาร์ตเนอร์มากกว่า 100 ราย แต่คัดเหลือ 20 ราย ก่อนสรุปเป็น RDC” และกล่าวต่อถึงคำถามที่ว่า ทำไมเลือกเป็นกองทุนเข้ามารับสิทธิ์ แทนที่จะเป็นบริษัทผู้ประกอบการด้านอาหารอยู่แล้วว่า เหตุที่เราตัดสินใจเลือกรายนี้ เพราะ 1. เป็นบริษัทที่มีกำลังทุนที่จะขยายสาขาได้ และมีความเข้าใจในธุรกิจและมาตรฐานดำเนินการในเรื่องคิวเอสเอาร์และฟูดเซฟตี้ของเคเอฟซีเป็นอย่างดี และบริษัทนี้ต้องดำเนินธุรกิจในระยะยาวอยู่แล้ว การที่จะเปลี่ยนผู้ถือหุ้นอะไรอย่างไร ก็เปลี่ยนได้แต่ว่าเราก็ต้องพิจารณาทุกอย่าง
ทั้งนี้ เป็นกลยุทธ์ที่เคเอฟซีหลายประเทศก็ดำเนินการเพื่อให้ยัมฯ เน้นไปที่นวัตกรรมและการตลาด การพัฒนาอื่นๆ โดยให้พาร์ตเนอร์เป็นผู้ลงทุนขยายสาขาร่วมกัน เช่น ในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย รัสเซีย เป็นต้น และประเทศที่มีจำนวนสาขาใกล้เคียงกับไทย
โดยพันธมิตรรายใหม่จะได้รับสิทธิ์ในภาคใต้ และพื้นที่กรุงเทพฯ ในการเปิดสาขาใหม่อีก 100 สาขา จากนี้ ขณะที่บริษัทเซ็นทรัล เรสเตอรองต์ส กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี พันธมิตรรายเดิมก็ยังคงมีสิทธิ์ขยายสาขาในเครือข่ายอสังหาของเซ็นทรัลกรุ๊ป เช่น เซ็นทรัล โรบินสัน เหมือนเดิม ส่วนพื้นที่อื่นก็อยู่ที่ทางยัมฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ใครเปิดสาขาในพื้นที่ใด ซึ่งทั้งสองรายมีสิทธิ์เหมือนกัน เป็นเหมือนเดิมที่ก่อนหน้านี้ซีอาร์จีจะเปิดสาขาใหม่ก็ต้องให้ยัมฯ เป็นผู้อนุมัติก่อนทุกครั้ง
ปัจจุบันเคเอฟซีมีสาขาเปิดบริการในไทยสิ้นสุดปี 2558 เท่ากับ 550 สาขา (เป็นของยัมฯ 345 สาขา และของซีอาร์จี 205 สาขา และคาดว่าในปี 2559 นี้จะมีรวมเป็น 585 สาขา (แยกเป็นของยัมฯ 238 สาขา ของซีอาร์จี 217 สาขา และของอาร์ดีซี 130 สาขา) โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านเคเอฟซีให้ครบจากทั้งสามรายรวมกันเป็น 800 สาขาภายในปี 2563 ตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งเงินลงทุนนั้นอยู่ระหว่าง 15-30 ล้านบาทต่อสาขา ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ หากรวมแล้วก็คำนวณจากสาขาที่ยังต้องขยายอีก 215 สาขาใหม่คูณกับ 15-30 ล้านบาทโดยเฉลี่ย
จากนี้ทางยัมฯ หรือเคเอฟซี ก็จะทุ่มเทให้กับการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งการพัฒนาเมนู พัฒนาร้าน การบริการ ต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งช่วง 7 เดือนแรกปี 2559 นี้ เคเอฟซีเติบโต ตามแผนงาน เป็นแบรนด์ที่ครองสัดส่วนจำนวนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการที่ 65% ของตลาดอาหารจานด่วน และคาดว่าถึงปลายปีนี้จะเปิดสาขาใหม่รวมได้อีก 35 สาขา ปัจจุบันเคเอฟซีให้บริการลูกค้ากว่า 200 ล้านคนต่อปีทั่วไทย และในแต่ละวันเคเอฟซีให้บริการลูกค้า 350,000 มื้อต่อวัน
นายแอนดรูว์ นอร์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทนี้ก่อตั้งในไทย มีผู้ถือหุ้นทั้งไทยและอาเซียน ซึ่งบริหารโดยกองทุนอาเซียนอินดัสเตรียลโกรทฟันด์ หรือ เอไอจีเอฟ /AIGF ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น และคาดว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านจากเคเอฟซีมาสู่บริษัทฯ จะเรียบร้อยภายในปลายปีนี้
โดยนายแอนดรูว์มีประสบการณ์กว่า 20 ปีทั้งในไทยและต่างประเทศ ออสเตรเลีย อังกฤษ สิงคโปร์ และไทยด้วย โดยอยู่ในวงการคิวเอสอาร์มานานกว่า 13 ปี ทั้งพิซซ่าฮัท เคเอฟซี และทาโก้เบลล์ โดยทำงานในไทยนาน 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น