การถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษไม่เพียงส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง แต่ยังเป็นบทเรียนที่ญี่ปุ่นต้องเรียนรู้ เพราะทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษมีความเหมือนกันในหลายเรื่อง จนเหมือนเป็นเงาสะท้อนอดีตและอนาคตของกันและกัน
นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนในญี่ปุ่น ระบุว่า วันที่ 24 มิถุนายน ได้กลายเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ เพราะหลายคนเคยคาดการณ์ว่าฝ่ายที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไปจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ผลการลงประชามติกลับกลายเป็นว่าฝ่ายที่รณรงค์ให้อังกฤษถอนตัวออกจากอียูเป็นฝ่ายชนะไปในที่สุด
ผลการลงประชามติในอังกฤษทำให้ตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนหนัก บรรดานักลงทุนพากันเทขายเงินปอนด์และยูโรเป็นจำนวนมาก และหันไปซื้อเงินเยนของญี่ปุ่นทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์
นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นระบุว่า ผลการลงประชามติในอังกฤษจะส่งผลสะเทือนเป็นลูกโซ่ ทำให้บรรดาประเทศต่าง ๆ ขอลงมติถอนตัวจาก EU เช่นเดียวกัน และจะทำให้ค่าเงินเยนกลายเป็น “ที่มั่นใหม่” ของนักลงทุน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าจนแม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นและชาติอุตสาหกรรม หรือ จี 7 ก็อาจไม่สามารถหยุดยั้งได้
นายกรัฐมนตรี ชินโซ อะเบะ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกคืนเสถียรภาพในตลาดเงินหลังจากชาวอังกฤษลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป ผู้นำญี่ปุ่นระบุว่าผลประชามติในครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตลาดเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าธนาคารกลางของญี่ปุ่นจะรับมือกับวิกฤตรอบนี้ได้อย่างไร
อังกฤษทิ้งยุโรป เปิดช่องกระชับสัมพันธ์จีน
นักวิชาการในญี่ปุ่น ประเมินว่า หลังถอนตัวจากสหภาพยุโรป อังกฤษจะแนบแน่นกับจีนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลและราชวงศ์อังกฤษต้อนรับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนอย่างเต็มยศแบบราชพิธี
นอกจากนี้ อังกฤษยังร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB ซึ่งจีนริเริ่มขึ้น เพื่อช่วงชิงบทบาทกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียซึ่งญี่ปุ่นเป็นแกนนำมาตลอด
นักวิชาการญี่ปุ่น ระบุว่า ถึงแม้อังกฤษจะยอมรับมติของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือ จี 7 ที่คัดค้านการขยายอิทธิพลในทะเลของแดนมังกร หากแต่เมื่อออกจากอียูแล้ว อังกฤษมีแนวโน้มสูงมากที่จะลดทอนท่าที่แข็งกร้าวต่อจีนลง เพราะอังกฤษรู้ดีว่าจำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนและการสนับสนุนจากแดนมังกรเพื่อบรรเทาความปั่นป่วนหลังจากเลือกเก็บกระเป๋าออกจากบ้านใหญ่แห่งยุโรป
สหภาพยุโรปยังมีมติระงับการขายอาวุธในกับจีนตั้งแต่ปี 1989 หลังจากรัฐบาลจีนใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน มาตรการดังกล่าวยังมีบทอยู่จนถึงทุกวันนี้ หากแต่อังกฤษอาจจะยกเลิกข้อห้ามส่งออกอาวุธไปยังจีนเมื่อถอนตัวจากอียูแล้ว
อังกฤษกับญี่ปุ่น ความเหมือนที่แตกต่าง
ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งให้ความเห็นหลังอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป ว่า ในมุมหนึ่งญี่ปุ่นกับอังกฤษมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นประเทศที่เป็นเกาะเหมือนกัน และเคยรุ่งเรืองเหมือนกัน ขณะที่ชาวอังกฤษและญี่ปุ่นต่างภูมิใจในวัฒนธรรม “ผู้ดี” อันเก่าแก่ และมีความชาตินิยมสูง
ความเป็นประเทศเกาะทำให้ทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นต้องแสวงหาทรัพยากรจากต่างแดน จนขยายแสนยานุภาพไปทั่วโลก อังกฤษทำสำเร็จในการล่าอาณานิคมทั่วโลกจนได้สมญานามว่า “ดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดิน” ส่วน “ลูกพระอาทิตย์” อย่างญี่ปุ่นต้องบอบช้ำอย่างหนักจากพิษสงคราม หากแต่ก็กลับมาผงาดได้อย่างน่าอัศจรรย์
หากแต่ในวันนี้ ทั้งสองประเทศกลับไม่สามารถปรับตัวทันกับกระแสโลกได้ จนความรุ่งเรืองในอดีตกลายเป็น “อาทิตย์อัสดง” ที่ยากจะหวนคืนสู่รุ่งอรุณอีกครั้ง.