รอยเตอร์/MGR ออนไลน์ - รัฐมนตรีคลังของจีนและเหล่านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำต่างออกมาแสดงความกังวลในวันนี้ (26 มิ.ย.) เรื่องที่อังกฤษลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป โดยที่ขุนคลังแดนมังกรระบุว่ากำลังทำให้ตลาดเกิดความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดหมายว่าจะส่งผลกระทบเพียงระดับจำกัดต่อเศรษฐกิจของจีนเอง
การตัดสินใจ “เบร็กซิต” ของประชาชนชาวอังกฤษ “จะกลายเป็นเงาทะมึนเหนือเศรษฐกิจของโลก ... ผลสะท้อนกลับและผลพวงที่ติดตามมาของมัน จะปรากฏให้เห็นในช่วงเวลา 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า” โหลว จี้เหว่ย รัฐมนตรีคลังของจีน กล่าวในระหว่างการประชุมประจำปีครั้งแรกของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ในกรุงปักกิ่ง
“เป็นเรื่องลำบากที่จะพยากรณ์กันในตอนนี้” เขากล่าว” ปฏิกิริยาแบบฉับพลันอัตโนมัติจากตลาดบางทีอาจจะเกินเลยไปสักนิด และจำเป็นที่จะต้องใช้ความสุขุมและมองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นกลางไร้อคติ”
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกต่างไหลรูดในวันศุกร์ (24) ภายหลังทราบผลการลงประชามติในอังกฤษซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (23) ขณะที่ค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงก็ตกฮวบเช่นเดียวกัน
ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ก็ได้เสนอทัศนะเกี่ยวกับ “เบร็กซิต” ระหว่างเข้าร่วมการประชุมในจีนอีกงานหนึ่ง นั่นคือ งานซึ่งจัดขึ้นโดย “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” (WEF) ที่เมืองเทียนจิน (เทียนสิน) ทางภาคเหนือของแดนมังกร
“เป็นเรื่องลำบากที่จะพูดถึงและวินิจฉัยตัดสินถึงผลกระทบโดยตรงที่จะมีต่อเศรษฐกิจของจีน” หวง อี้ผิง (Huang Yiping) ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเวลานี้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรรมการกำหนดนโยบายการเงินของแบงก์ชาติจีน กล่าวที่เทียนจิน
“ถ้าหาก (เบร็กซิต) กลายเป็นหลักหมายสำคัญอย่างหนึ่งในแง่ของการกลับหันหลังของกระบวนการโลกาภิวัตน์แล้ว ผมคิดว่านั่นจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากสำหรับโลก มันจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากสำหรับประเทศจีน” หวงกล่าว
สำหรับ หลี่ เต้าคุย (Li Daokui) ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา และเป็นอดีตที่ปรึกษาของแบงก์ชาติจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ดูจะมองการณ์ในแง่ดีมากกว่า เกี่ยวกับผลกระทบของประชามติ “เบร็กซิต” ที่จะมีต่อเศรษฐกิจแดนมังกร
“บางทีจีนอาจจะเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในโลกจากเหตุการณ์ของการเกิดเบร็กซิต” เขากล่าวกับผู้ฟังในการประชุมของ WEF
“ผลกระทบระยะสั้นเพียงอย่างเดียวที่ผมสามารถคิดออก ก็คือผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินเหรินหมินปี้ (เงินหยวน) ... แต่ผมคิดว่าภายในช่วงการซื้อขายเพียงไม่กี่วันทำการ สถานการณ์ก็จะคลี่คลายบรรเทาลงอย่างรวดเร็วยิ่ง” หลี่ให้ความเห็น
นูรีล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายตุรกี ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการทำนายวิกฤตภาคการเงินของโลก เดินทางมาพูดในรายการของ WEF เช่นกัน โดยเขาแสดงทัศนะว่า การตัดสินใจของอังกฤษที่ผละจากอียูเช่นนี้ “ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างเต็มพิกัดทั้งในทางการเงิน, เศรษฐกิจ, การเมือง, และภูมิรัฐศาสตร์”
มันอาจจะเป็น “การเริ่มต้นแห่งการแตกสลาย” ของสหภาพยุโรป, ยูโรโซน (เหล่าชาติอียูที่ใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน) และสหราชอาณาจักร เขาระบุ
อย่างไรก็ดี รูบินีบอกว่า “ผมไม่คาดหมายว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หรือเกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง” เขากล่าวต่อไปว่า “ผมคิดว่าผลกระทบของเบร็กซิตนั้นมีความสำคัญ ทว่าไม่ได้อยู่ในขนาดเดียวกันหรือในขอบเขตเดียวกันกับที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่เราเจอใน (วิกฤตภาคการเงินทั่วโลก) ปี 2007 ถึง 2009”
สำหรับ ไมเคิล ฟัลคอน ซีอีโอทางด้านการบริหารจัดการการลงทุนทั่วโลกในเอเชียแปซิฟิก ของเจพี มอร์แกน กล่าวว่า เขาคาดหมายว่าตลาดยังจะเกิดการผันผวนวูบวาบมากขึ้นกว่านี้อีก แต่ไม่คิดว่าเบร็กซิตจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกถึงขั้นตกราง
“มันเป็นการช็อก ไม่ใช่เป็นวิกฤต และเท่าที่เห็นกันจนถึงเวลานี้ตลาดก็ดูสามารถรับมือได้เป็นอย่างดีทีเดียว” ฟัลคอนกล่าวในที่ประชุม WEF เช่นกัน