เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงการพื้นฐานเอเชีย หรือ เอไอไอบี พร้อมทำงานร่วมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายความโกลาหลวุ่นวายและความไม่แน่นอน ภายหลังจากอังกฤษตัดสินใจถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือ อียู
ในพิธีเปิดการประชุมประจำปีครั้งแรกของคณะกรรมการผู้ว่าการเอไอไอบี ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันเสาร์ ( 25 มิ.ย.) นาย ยู อิล โฮ รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้และอยู่ในคณะกรรมการผู้ว่าการของเอไอไอบี ระบุว่า ตลาดการเงินพากันช็อกกับการตัดสินใจดังกล่าวซึ่งเป็นปล่อยหมัดใส่พวก ที่เชื่อเรื่องการร่วมกลุ่มประชาคมในโลก โดยตลาดการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญความผันผวนและความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เอไอไอบีสามารถมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์นี้ได้
ก่อนหน้านี้นาย โจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนได้กล่าวที่สำนักงานใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ในกรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ ( 24 มิ.ย.) ว่า จำเป็นต้องมีการศึกษา และร่วมมือกันทั่วโลกเพื่อรับมือกับผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียู หรือที่เรียกกันว่า เบร็กซิต ( Brexit) โดยธนาคารกลางจีนมีการจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ขณะที่นาย จิน ลี่ฉุน ประธานเอไอไอบี ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวไม่กระทบต่อฐานะของอังกฤษในเอไอไอบี
สำหรับการประชุมในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของเอไอไอบีนั้น รองนายกรัฐมนตรี จาง เกาลี่ ของจีน เรียกร้องให้เอไอไอบีสร้างความเป็นหุ้นส่วน ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับธนาคารเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ เช่น ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย อย่างไรก็ตาม นายยูแนะว่า หากทำเช่นนั้น เอไอไอบีจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรและนโยบาย โดยบทบาทการบริหาร และการทำหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ว่าการต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนมากกว่าในปัจจุบันภายใต้มาตราต่างๆ ของข้อตกลงในการก่อตั้งธนาคาร
นอกจากนั้น นายโหลว จี้เหว่ย ประธานคณะกรรมการผู้ว่าการ ระบุว่า ภายหลังการประชุมประจำปี เอไอไอบี จะเริ่มกระบวนการรับสมาชิกใหม่ในทันที และหวังว่า ชาติสมาชิกใหม่จะได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า
จนถึงขณะนี้มีชาติ ซึ่งมีแนวโน้มยื่นใบสมัครจำนวน 24 ชาติ โดยปัจจุบัน เอไอไอบี ซึ่งจีนเป็นผู้เสนอความคิดริเริ่มในการก่อตั้ง มีสมาชิกทั้งหมด 57 ชาติ รวมทั้งฮ่องกง และแคนาดา
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) ของเอไอไอบีได้ประกาศอนุมัติเงินกู้ประเดิม 4 โครงการแรก รวมทั้งสิ้น 509 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 17,815 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโครงการด้านพลังงาน การขนส่ง และการขยายเมือง ในบังคลาเทศ อินโดนีเชีย ปากีสถาน และทาจิกิสถาน นอกจากนั้น ในโครงการเหล่านี้มี 3 โครงการ ที่ให้เงินกู้ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนายุโรป
ประธานเอไอไอบี ระบุว่า เอไอไอบีจะเป็นผู้นำเฉพาะในโครงการที่บังคลาเทศ เพื่อปรับปรุงระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเงินกู้จากเอไอไอบีจำนวน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,775 ล้านบาท โดยเอไอไอบีต้องการช่วยแบ่งเบาภาระการใช้จ่ายของรัฐบาลชาติสมาชิก ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนั้น คณะกรรมการบริหารยังอนุมัติให้มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษ เพื่อสนับสนุนชาติสมาชิกในการเตรียมดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยกองทุนพิเศษจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณเดือนก.ย.-ต.ค. โดยจีนเป็นผู้ลงขันรายแรกจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,750 ล้านบาท
เอไอไอบีตั้งเป้าปล่อยกู้สำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 42,000 ล้านบาทในปีนี้