“คันจิ” หรือ อักษรจีน เป็นเรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับคนไทยที่เรียนภาษาญี่ปุ่น แต่การเรียกรู้อักษรคันจิจะเป็นเรื่องสนุกสนาน และเข้าใจญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อได้มาเยือน “พิพิธภัณฑ์คันจิ” ในนครเกียวโต
ชาวต่างชาติจำนวนมากที่เรียนภาษาญี่ปุ่น ต้องปวดหัวกับ “คันจิ” หรือ อักษรจีน ซึ่งญี่ปุ่นนำมาใช้ร่วมกับอักษรญี่ปุ่นประดิษฐ์ขึ้นอย่างฮิระงะนะ และ คะตะกะนะ ชาวต่างชาติหลายคนถึงกับบ่นว่า ทำไมญี่ปุ่นต้องใช้คันจิ ทั้ง ๆ ที่มีอักษรของตัวเอง?
หากแต่ผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นมาถึงระดับหนึ่งจะรู้ดีว่า หากไม่ใช้คันจิแล้ว ภาษาญี่ปุ่นจะสับสนถึงขนาดที่ไม่สามารถอ่านได้ คันจิจึงไม่เพียงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่สะท้อนถึงภูมิปัญญาอันยาวนานกว่า 5,000 ปี ซึ่งสืบทอดมาจากจีนจนถึงญี่ปุ่น เกาหลี และอีกหลายประเทศเอเชีย
“พิพิธภัณฑ์คันจิ” เปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน ปีนี้ ณ นครเกียวโต ที่นี่สร้างมิติใหม่ในการเรียนรู้อักษรคันจิอย่างเพลิดเพลิน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ควรพาลูกหลานมาควบคู่กับการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกและเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น
ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์จะมีภาพขนาดใหญ่แสดง “คันจิแห่งปี” ซึ่งมูลนิธิทดสอบการใช้อักษรคันจิแห่งญี่ปุ่นได้จัดทำการโหวตอักษรคันจิยอดนิยมเป็นประจำทุกปี เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์สำคัญของประเทศญี่ปุ่น และทั่วโลกในรอบปี โดยในปีนี้ ได้แก่ อักษร 安 ซึ่งแปลว่า ปลอดภัย, สงบสุข, มั่นคง
นักท่องเที่ยวจะได้รับแผ่นพับเพื่อใช้เล่นเกมต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์ เริ่มจากการแปลงชื่อของตัวเองให้เป็นอักษรคันจิ รวมทั้งเรียนรู้ชื่อประเทศต่างๆเป็นคันจิด้วย ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้พัฒนาการของคันจิจากยุคโบราณของจีนจนถึงการดัดแปลงคันจิของญี่ปุ่นเอง และสร้างเป็นอักษรฮิระงะนะและคะตะกะนะ
นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้คันจิในแง่มุมต่าง ๆ จากนิทรรศการที่จัดอย่างทันสมัย รวมทั้งเกมต่าง ๆ เป็นต้นว่า การแข่งเปิดพจนานุกรมแบบเล่ม ซึ่งทุกวันนี้แม้แต่ชาวญี่ปุ่นหลายคนก็เกือบจะลืมวิธีใช้ เพราะใช้แต่พจนานุกรมอิเลกทรอนิกส์
นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของคันจิในแง่มุมต่าง ๆ เช่น คันจิชื่อจังหวัดของญี่ปุ่น, ภาษาท้องถิ่น, ของใช้ในชีวิตประจำวัน, สุภาษิต รวมทั้งคันจิที่ญี่ปุ่นประดิษฐ์ขึ้นเองซึ่งไม่มีในภาษาจีน
ที่นี่ยังมีห้องสมุดที่ไม่เพียงรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับอักษรคันจิ และยังมีหนังสือเกี่ยวกับอักษรของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งอักขระไทยด้วย
ความโดดเด่นของ “พิพิธภัณฑ์คันจิ” คือ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเกมต่าง ๆ เด็ก ๆ ไม่เพียงจดจำอักษรคันจิได้ และยังเข้าใจที่มาของตัวอักษรด้วย
เด็ก ๆ ยังสามารถเข้าร่วม “เวิร์กชอป” เช่น เขียนพู่กัน หรือ ประดิษฐ์ของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับอักษรคันจิ การเรียนคันจิจึงไม่ได้พึ่งการ “จำ” แต่มีหลักการที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย และยังสร้างจินตนาการได้ด้วย โดยสะท้อนผ่านมุม “คันจิของฉัน” ซึ่งทุกคนสามารถสร้างสรรค์อักษรคันจิขึ้นได้เอง
.
เกียวโตเต็มไปด้วยวัด, วัง, ศาลเจ้า เป็นเมืองที่สะท้อนอารยธรรมญี่ปุ่นได้ดีที่สุด แต่อารยธรรมที่ใกล้ตัวคนเรามากที่สุด คือ ภาษา ตัวอักษรหนึ่งตัวไม่เพียงเป็นสื่อความหมาย แต่ยังสะท้อนแง่มุมต่อโลกและชีวิตจนเป็นสายธารแห่งอารยธรรม
“พิพิธภัณฑ์คันจิ” จึงเป็นกุญแจที่ทำให้เข้าใจญี่ปุ่นลึกกว่าที่คิด รู้จักญี่ปุ่นมากกว่าที่เคย
เว็บไซต์และแผนที่ของ “พิพิธภัณฑ์คันจิ” http://www.kanjimuseum.kyoto/