xs
xsm
sm
md
lg

คสช.สั่งเปิดคุกรอแก๊งป่วน ลั่นใช้กม.จัดการ-เลิกปรับทัศนคติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึง การดำเนินการกับ กลุ่มนักศึกษา และนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหว ต่อต้าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) และ ร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงนี้ ว่า ขอร้องว่าให้ทำตามกฎหมาย ตอนนี้ขอให้หยุด จะมีการลงประชามติแล้วในเดือนส.ค. ทุกอย่างจะเดินไปตามโรดแมป แล้วทุกอย่างก็จบ จะออกมากวนทำไม
เมื่อถามว่า มองคนกลุ่มนี้เป็นตัวถ่วงประชาธิปไตย หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็นั่นแหละ เขาบอกว่าเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เราก็กำลังเดินไปสู่ประชาธิปไตย แล้วจะมาเรียกร้องอะไร ตนก็ไม่เข้าใจ จะบอกว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาทั้งหมด ก็คงไม่ใช่ เมื่อวานนี้ก็มีพวกที่ไม่ชอบใจ ก็ออกมา ตนขอให้พอได้แล้ว
" คสช. ใช้กฎหมายแน่นอน ต่อไปนี้เราจะเดินเข้าไปสู่กฎหมายทั้งหมด เพราะว่าเราคุยกันมาเยอะแล้ว ปรับทัศนคติก็ทำแล้ว ไม่รู้จะปรับอย่างไรแล้ว ผู้บัญชาการทหารบก ก็บอกว่าหมดมุกแล้ว ที่ผ่านมาก็เอาจริง และก็อะลุ่มอล่วยด้วย คราวนี้เราก็ไม่ได้ว่าจะเอาจริงอะไร ก็ว่าไปตามกฎหมาย ให้ศาลว่าไป ถ้ามีจำนวนมากก็ให้กรมราชทัณฑ์ ว่าไป เตรียมที่ไว้ " พล.อ.ประวิตร กล่าว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการรายงานว่า มีเพจของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง มีการประกาศจำหน่ายเสื้อตัวละ 300 บาท ในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองให้เกิดการออกเสียงประชามติ เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งอาจขัดกับประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 ข้อ 5 (5) ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้
"เข้าใจว่า ภาพที่เผยแพร่เกี่ยวการดำเนินการขายเสื้อดังกล่าว น่าจะดำเนินการก่อนวันที่ 23 เม.ย.59 ก่อนที่ พ.ร.บ. จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่เนื่องจากภาพโฆษณาดังกล่าว ยังคงค้างอยู่ในเพจของกลุ่มการเมืองดังกล่าวในปัจจุบัน จึงขอเตือนว่า ควรนำภาพโฆษณาดังกล่าวออก มิเช่นนั้น หากมีบุคคลไปแจ้งความกล่าวโทษ อาจมีการจับกุมผู้ดำเนินการได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการไม่ยาก เพราะมีชื่อผู้เปิดบัญชีที่ธนาคารชัดเจน และหากสืบสวนเพิ่มเติม พบว่าเป็นคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกระทำการดังกล่าว บทลงโทษจะรุนแรงกว่าการกระทำโดยคนๆ เดียว ตาม ม. 61 วรรค 4 " นายสมชัย กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับการการแสดงความคิดเห็น ในช่วงเวลาการทำประชามติ ว่า เรื่องข้อกฎหมาย ถ้าเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน สุดท้ายก็ต้องให้ศาลตัดสิน ดังนั้นอะไรที่เสี่ยง จึงต้องระวัง การที่บางฝ่ายยังไม่เข้าใจที่ กกต. ระบุว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้นั้น กกต.เองก็อาจไม่เข้าใจในบางเรื่อง เลยแนะนำกว้างๆ กลางๆ ไว้ก่อน เพราะกังวลว่า ถ้าเรื่องไปถึงศาลแล้วตัดสินออกมาในทางตรงกันข้ามกับที่แนะนำไป คนจะมาโทษ กกต.ได้ แต่เมื่อมีคำแนะนำออกมา เชื่อว่าคนจะไม่ทำอะไรที่เสี่ยง คำในกฎหมายที่ต้องระวังมีแค่ 5-6 คำ คือ ส่วนใหญ่เชื่อว่า คนเขาเข้าใจ แต่ที่ไม่แน่ใจ น่าจะเป็นคำว่า ไม่ปลุกระดม เพราะเป็นคำที่กว้าง ในพจนานุกรม อธิบายความหมายคำนี้ ว่า ทำให้คนฮึดขึ้นต่อสู้ คัดค้าน หรือทำอะไรซักอย่าง มีคนยกตัวอย่างว่า การใส่เสื้อไม่รับร่างรธน.ไม่น่าจะผิด เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าใส่กันมา 5-10 คน อาจจะถูกแปลว่า ยั่วยุ ทุกอย่างอยู่ที่เจตนา ไม่ได้ปิดปากห้ามพูดเสียหมด ถ้าพูดเป็น ระวังเวลา สถานที่ และเจตนาดี เชื่อว่าไม่ผิด ตนก็พูดไปเยอะ แต่ไม่กลัว เพราะไม่ได้เสี่ยง ดังนั้นคนคิดจะทำอะไรที่เสี่ยง ก็ขอให้ระวังไว้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณี องค์กรต่างชาติจะขอเข้ามาสังเกตการณ์ การทำประชามติร่างรธน. ว่า รธน.เป็นเรื่องของบ้านเรา คงไม่ต้องเชิญต่างชาติเข้ามา เพราะตอนที่ต่างชาติเขาเลือกตั้ง เขายังไม่เชิญเราไปดู ส่วนองค์กรต่างชาติ จะร้องขอเข้ามาสังเกตการณ์ หากอยากมา ก็มาในลักษณะของนักท่องเที่ยว ส่วนตัวมองว่าการทำประชามติ ก็เหมือนกับคนในครอบครัวเขาจะคุยกัน หากมีคนอื่นนั่งอยู่ด้วย คงไม่สะดวก หรือเหมือนกับสื่อประชุมเพื่อเขียนบทบรรณาธิการ หากมีคนอื่นอยู่ ก็คงลำบากใจ หรือเหมือนคนกำลังจะปูผ้านอนแล้วมีคนอยู่ด้วย ก็คงไม่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น