xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” การันตีไม่ใช้ ม.44 สอย “ชายหมู” ยังนั่งผู้ว่าฯ ได้ ชี้ประชามติใครทำเสี่ยงก็ระวังไว้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีการันตี “สุขุมพันธุ์” ยังนั่งผู้ว่าฯ กทม.ได้ อ้างเป็นข้อสังเกตจาก สตง. ถ้า ป.ป.ช.มีมติค่อยว่ากันอีกเรื่อง ยันไม่มีคำสั่งจาก คสช.แน่ ชี้ กกต.แนะนำอะไรทำได้ไม่ได้ในประชามติแบบกว้างๆ คงห่วงหากไปถึงศาลแล้วตัดสินตรงกันข้ามจะงานเข้า แจงใส่เสื้อไม่รับร่าง รธน.ไม่น่าผิด แต่ถ้าใส่มา 5 คนอาจถูกแปลว่ายั่วยุได้ ยันไม่ได้ปิดปาก ถ้าพูดเป็นเจตนาดีไม่ผิด ใครคิดทำอะไรเสี่ยงก็ระวังไว้

วันนี้ (4 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.40 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงผลการตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ว่า ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นการตั้งข้อสังเกตจาก สตง.ที่จะต้องแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สตง.ไม่สามารถไปลงโทษใครได้ สตง.สามารถทำได้คือการแจ้งเจ้าตัวให้ชี้แจง กับแจ้งเรื่องไปรวมที่ ป.ป.ช. เมื่อถามว่าหากหน่วยงานอย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติออกมาว่าผิดอีก นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าไปขั้นนั้นก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง หรือเหมือน คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ให้ใครหยุดปฏิบัติงานนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่า เรื่องนี้เข้าข่ายที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ต้องเข้าไปดูด้วยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ได้ยินว่าสตง.จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. และเมื่อส่งไปเรื่องทั้งหมดจะไปรวมอยู่ที่ ศอ.ตช.เพื่อกลั่นกรอง เมื่อถามอีกว่าเรื่องดังกล่าวจะมีคำสั่ง คสช.หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มี ตอนนี้ผู้ว่าฯ กทม.ยังปฏิบัติงานได้ตามปกติ จนกว่าจะอะไรสักอย่างที่มันยังไม่เกิดขึ้น ก็เหมือนกับคนที่อยู่ในข่ายความผิดต่างๆ ในประเทศไทย จนกระทั่งไปถึงจุดหนึ่ง

นายวิษณุยังให้สัมภาษณ์ถึงการแสดงความคิดเห็นระหว่างช่วงเวลาการทำประชามติว่าข้อกฎหมายถ้าเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันสุดท้ายต้องให้ศาลตัดสิน อะไรที่เสี่ยงจึงต้องระวัง เมื่อถามว่าบางฝ่ายยังไม่เข้าใจที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าอะไรทำได้ไม่ได้ นายวิษณุตอบว่า กกต.เองก็อาจไม่เข้าใจในบางเรื่อง เลยแนะนำกว้างๆ กลางๆ ไว้ก่อน เพราะกังวลถ้าเรื่องไปถึงศาลแล้วตัดสินในทางตรงกันข้ามกับที่แนะนำไป คนจะมาโทษ กกต.ได้ แต่เมื่อมีคำแนะนำออกมาเชื่อว่าคนจะไม่ทำอะไรที่เสียง คำในกฎหมายที่ต้องระวังมีแค่ 5-6 คำ คือ ส่วนใหญ่เชื่อว่าคนเขาเข้าใจ แต่ที่ไม่แน่ใจน่าจะเป็นคำว่า ไม่ปลุกระดม เพราะเป็นคำที่กว้าง ในพจนานุกรมอธิบายความหมายคำนี้ว่า ทำให้คนฮึดขึ้นต่อสู้คัดค้าน หรือทำอะไรสักอย่าง มีคนยกตัวอย่างว่าการใส่เสื้อไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะผิดเพราะเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าใส่กันมา 5-10 คน อาจจะถูกแปลว่ายั่วยุ ทุกอย่างอยู่ที่เจตนา ไม่ได้ปิดปากห้ามพูดเสียหมด ถ้าพูดเป็น ระวังเวลาสถานที่ และเจตนาดี เชื่อว่าไม่ผิด ตนก็พูดไปเยอะแต่ไม่กลัวเพราะไม่ได้เสี่ยง ดังนั้นคนคิดจะทำอะไรเสี่ยงก็ขอให้ระวังไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น