xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดสั่งรับคำร้องยื่นฟ้อง กทม.ละเลยเรียกคืนเขตทางสาธารณะซอยร่วมฤดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
ศาลปกครองสูงสุดสั่งรับคำร้องเจ้าของตึกสูงซอยร่วมฤดี ยื่นฟ้อง กทม. ละเลยไม่จัดการเรียกคืนเขตทางสาธารณะจากเจ้าที่ดินแปลง 99 ที่แนวรั้วล้ำเขตถนน จนส่งผลให้เขตทางซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตร และทำให้บริษัทต้องรื้อแก้ไขอาคารตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

วันนี้ (1 เม.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของบริษัท ลาภประทาน จำกัด, บริษัท ทับทิมทร จำกัด ฟ้องผู้อำนวยการ (ผอ.) เขตปทุมวัน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - 2 กรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จากการปล่อยให้ที่ดินแปลงเลขที่ 99 ในซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน รุกล้ำเขตทางสาธารณประโยชน์ โดยไม่ดำเนินการเรียกคืนเขตทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกันตามมาตรา 89 วรรคหนึ่ง (10) ประกอบมาตรา 90 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.544 /2557 ลงวันที่ 30 ต.ค. 2557 ให้ ผอ. เขตปุทมวัน กรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการให้บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมดิเอทัส บางกอก ที่เป็นการอาคารสูง 24 ชั้น และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ดิ เอทัส เรสซิเดนซ์ 18 ชั้น รื้อถอน หรือแก้ไขอาคารที่มีการก่อสร้างสูงขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากสร้างบนถนนในซอยร่วมฤดี - เพลินจิต ที่มีขนาดความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

แต่ทั้งสองบริษัทเห็นว่า ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครองชั้นต้นที่มีการเดินเผชิญสืบเพื่อพิสูจน์แนวเขตทางสาธารณประโยชน์บริเวณซอยร่วมฤดี และข้อเท็จจริงของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.588/2557 พบว่า จุดที่ 1 ที่ดินแปลงเลขที่ 99 ต่อที่ดินแปลงเลขที่ 100 ในการรังวัดเขตทางตามลักษณะทางกายภาพนอกแนวรั้วมีความกว้างเขตทางไม่ถึง 10 เมตร และนายกฤษฎา กิตติพันธ์เลิศ ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ทำบันทึกลงวันที่ 10 ก.ย. 2550 ยอมรับว่า ที่ดินแปลงเลขที่ 99 รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ในซอยร่วมฤดีจริง เป็นเหตุให้เขตทางถนนภายในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตร จนนำมาสู่การมีคำสั่งรื้อแก้ไขอาคาร ทางบริษัททั้งสองก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 ก.พ. 2558 และ 1 เม.ย. 2558 ถึง ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม. ให้ดำเนินการรักษาเขตทางสาธารณประโยชน์ในซอยร่วมฤดีตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด แต่จนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการ และไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่อาจปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้มีการรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา ระบุว่า เมื่อทั้งสองบริษัทอ้างว่ามูลเหตุแห่งการนำคดีมาฟ้อง เนื่องจากข้อมูลในการเดินเผชิญสืบของศาลปกครองชั้นต้นที่พบแนวเขตรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ และผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวยอมรับว่ามีการรุกล้ำจริง ถือว่าทั้งสองบริษัทรู้หรือควรรู้ว่า ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม. ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลรักษาเขตทางของซอยร่วมฤดี นับแต่วันที่ทราบผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ.588/2557 ลงวันที่ 30 ต.ค. 2557

และแม้ข้อเท็จจริงจะไม่ปรากฏว่าทั้งสองบริษัทได้ทราบผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อใด แต่การที่ทั้งสองบริษัทมีหนังสือลงวันที่ 26 ก.พ. 2558 ให้ ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการรักษา เรียกคืนเขตทางสาธารณะประโยชน์จจากผู้รุกล้ำภายหลังคดีถึงที่สุด แต่ไม่มีการดำเนินการ เท่ากับทั้งสองบริษัทรู้ถึงการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอย่างเร็วที่สุด คือ ในวันที่ 26 ก.พ. 2558 ที่ได้ยื่นหนังสือถึง ผอ. ปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม.

ดังนั้น กรอบระยะเวลา 90 วัน ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นร้องต่อศาลปกครองนับแต่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ภายในวันที่ 27 พ.ค. 2558 ซึ่งสองบริษัทได้ยื่นคำฟ้องในวันที่ 21 พ.ค. จึงถือว่าอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่ทั้งสองบริษัทขอให้ศาลเดินเผชิญสืบเพื่อพิสูจน์ทราบถึงการละเลยต่อหน้าที่ของ ผอ.เขตปทุมวัน และ ผู้ว่าฯ กทม. นั้น เป็นการขอให้ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดี เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น