xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นแดนปลาดิบ ทำไมคนญี่ปุ่นกินปลาดิบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้วครับ ช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูฝนแล้ว ผมรู้สึกว่าฟ้าฝนเมืองไทยนี่ตกแบบกระหน่ำมากจริง ๆ เลยแถมบางทีลมก็แรง ฟ้าแลบฟ้าร้องเปรี้ยง ๆ เหมือนอยู่ในช่วงพายุเลย แต่ยังดีที่ไม่นานมากนัก จะต่างจากฝนที่ญี่ปุ่นหน่อย ถ้าเป็นฟ้าฝนแรง ๆ แบบนี้จะเป็นช่วงที่พายุไต้ฝุ่นเข้าซะมากกว่า ถ้าฝนตกปกติตามการพยากรณ์อากาศละก็ อาจจะตกแบบปรอย ๆ ถึงหนักมากตามสภาพภูมิอากาศ บางทีตกแบบปรอย ๆ เรื่อย ๆ แต่ไม่หยุดเลยนะครับบางทีสามวันสามคืนยังตกต่อเนื่องก็มี

ที่เมืองไทยพอฝนตกหนัก ๆ เข้า บางซอยมีน้ำท่วมใช่ไหมครับ วันหนึ่งผมมีธุระต้องเดินทางไปข้างนอก ตอนนั้นในซอยมีน้ำท่วมขัง ผมจึงเรียกแท็กซี่ รถก็ลุยน้ำออกไปแบบเสียมิได้ หน้าตาคนขับนี่กังวลกับระดับน้ำมากและคงเป็นห่วงรถด้วย น้ำท่วมตามถนนและซอยเล็ก ๆ นี่ทำผมเหลือเชื่อจริง ๆ นึกว่านั่งเรือซะอีกแน่ะ เพื่อน ๆ ล่ะครับเป็นอย่างไรกันบ้างสบายดีไหมครับ

อีกครั้งหนึ่งผมเดินเข้าทางลัดจากสถานนีรถไฟใต้ดิน ระหว่างทางได้ผ่านตลาดเจอร้านขายปลาไหล มีเยอะมาก เลื้อยอยู่ในกะละมังใบเล็ก ๆ ผมตกใจมากนึกว่างู เลยวิ่งหนี เป็นเหตุให้ผมเล่าเรื่อง Unagi (ปลาไหลญี่ปุ่น) ในคอลัมน์ครั้งที่แล้วครับ คนญี่ปุ่นชอบกิน Unagi (ปลาไหลญี่ปุ่น) มาก แต่ก็เป็นอาหารที่มีราคาแพงมาก ๆ เช่นกัน สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาต้องห่างจากบ้านมาเรียนที่โตเกียว ตอนนั้นไม่ค่อยมีเงิน คิดจะกินข้าวหน้าปลาไหล (Unagi Donburi) นี่ยกเลิกไปได้เลย ผมจะทานได้เฉพาะตอนที่คุณปู่พาไปเท่านั้นละครับ แฮ่ม.. (^ー^)ノ

เหตุผลที่ว่าทำไมปลาไหลญี่ปุ่นจึงมีราคาแพง ก็คงเพราะมีความต้องการซื้อมากแต่มีสินค้าน้อย ก็คล้ายกับสินค้าอื่น ๆ เช่นกัน เช่น ทองคำ เคยได้ยินมาว่าถึงแม้ว่าจะรวบรวมทองทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกมาใส่ในสระขนาดใหญ่ (Yoyogi-pool) ก็คงไม่เต็ม น่าตกใจนะครับ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องตำนานเทพเจ้ากรีกเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ชื่อว่า Midas ในตอนนั้นเทพเจ้าบอกว่าให้ขอพรอะไรก็ได้มาหนึ่งอย่าง เขาขอพรว่าขอให้ไม่ว่าเอามือจับไปที่ไหนก็ให้ที่นั่นกลายเป็นทองคำ ท้ายที่สุดไม่ว่าเขาจะจับอะไร แก้ว น้ำดื่ม องุ่น ทุกอย่างก็กลายเป็นทองคำไปหมด จนเขาไม่สามารถทานอะไรได้เลย มันกลายเป็นทองคำไปซะหมดนั่นเองสุดท้ายเขาต้องขอพรให้มือกลับไปเป็นเหมือนเดิม (。-_-。)

ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงทุก ๆ ที่ก็จะกลายเป็นทองคำ และทุกคนก็จะไม่ให้ความสนใจ ทองคำอาจจะมีราคาถูกกว่าเหล็ก หรือทองแดงก็เป็นไปได้

สมัยก่อนคนญี่ปุ่นยากจนมาก ยิ่งหลังสงครามโลกทุกที่ลำบากมาก อาหารการกินน้อยไม่เพียงพอ อย่างเช่น เรื่องคุณปู่ผม ถึงแม้ว่าในบั้นปลายจะสบายขึ้นแต่ช่วงต้นชีวิตท่านมีความยากลำบากมาก คุณปู่ของผมรับราชการเป็นสภาผู้แทนราษฎร์ท้องถิ่น ถึงแม้ว่าตอนนั้นท่านจะมีอายุ 84 ปีแล้วก็ตาม คุณปู่ยังคงเดินทางไปกลับโตเกียวได้เพียงลำพัง เพื่อยื่นคำร้องทุกข์ของชาวบ้านให้กับนักการเมือง คุณปู่เคยผ่านสงครามเอเชียบูรพาที่ประเทศจีน และได้รับอุบัติเหตุทำให้ตาข้างหนึ่งมองไม่เห็น หลังจากจบสงครามได้เดินทางกลับมาที่ต่างจังหวัด ตอนนั้นประเทศญี่ปุ่นยากจนมาก คุณปู่แบกหัวไชเท้าน้ำหนัก 20 kg ทุกวันเดินทางวันละ 8 km เพื่อนำไปขาย ก่อนที่จะเข้าฤดูหนาวจะดองหัวไชเท้าเอาไว้ก่อน เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีทาน นอกจากหัวไชเท้าก็มีอย่างอื่นด้วยที่นำมาดอง

และนอกจากเรื่องเล่าจากคุณปู่แล้วผมมีเพื่อนรุ่นคุณตาคุณยายที่บังเอิญรู้จักกันครั้งที่นั่งเครื่องบินจากโตเกียวมาเมืองไทย ผมจะมากรุงเทพฯ ส่วนเขาจะมาต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ ไปเที่ยวอินเดีย เรานั่งติดกันและได้พูดคุยกันนิดหน่อยพอทราบที่อยู่ และอาจจะเป็นเพราะชะตาตรงกันเขาชวนผมไปเที่ยวบ้านหลังจากที่กลับถึงญี่ปุ่นกันแล้ว ผมจึงซื้อซูชิขึ้นชื่อของจังหวัดโทยามาบ้านเกิดผมไปฝากเขา พอเขาเห็นของฝากเท่านั้นแหละเขาตกใจมากว่าผมรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นคนโทยามา!! ทีนี้ละครับคุยกันถูกคอมาก แถมเป็นรุ่นพี่โรงเรียนผมอีกด้วย แต่ความน่าสนใจของคุณตา (ต้องบอกว่าคุณตาเพราะตอนที่รู้จักกันท่านน่าจะมีอายุเกิน 85 ปีแล้ว ) คือท่านจบการศึกษาจากคณะที่เข้าเรียนยากที่สุดของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คือ มหาวิทยาลัยโตเกียว ผมทึ่งในความสุขุม เฉลียวฉลาดและความดีของท่านมาก เราจะนัดไปทานอาหารกันเป็นประจำเมื่อมีเวลาตรงกัน ท่านก็จะเล่าเรื่องราวมากมาย เล่าเรื่องสงครามที่ไม่ค่อยอยากจดจำนัก เล่าเรื่องความลำบากสมัยเด็ก ๆ เรื่องนี่คล้าย ๆ กับที่คุณปู่ของผมเล่าเลย แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ผมชอบความมุ่งมั่นของท่านมากและอยากนำมาถ่ายทอดคือ ตอนที่ท่านเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาและต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย ที่บ้านมีตั๋วรถไฟให้แค่ขาไป และมีใบเดียว จังหวัดที่ท่านอยู่สามารถเลือกจะไปเรียนที่เกียวโต หรือโตเกียวได้แค่หนึ่งที่เท่านั้น!! ส่วนตั๋วขาไปใบเดียวถ้าสอบไม่ติดไม่มีตังค์กลับบ้าน ต้องสอบให้ติดเท่านั้น !! ท่านมุ่งมั่นและเลือกอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง และออกเดินทางเข้าโตเกียวทันที ท่านบอกว่า “ไม่มีทางเลือก ถ้าจะเลือกทำแล้วก็ต้องเลือกที่ดีที่สุดและทำให้เต็มที่ที่สุด” นั่นเองเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจของผมเช่นกันครับ

นอกจากนี้ สมัยก่อนที่ญี่ปุ่นยังคงยากลำบากนั้น มีหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในหุบเขามากมาย ที่นั่นไม่มีแพทย์ ไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์อย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน ถ้ามีคนในหมู่บ้านป่วย จะต้องเดินทางข้ามภูเขาซึ่งไกลมากกว่า 20 km. ทุกคนจะช่วยกันพาคนป่วยไปส่งถึงมือแพทย์ ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นเผชิญความยากลำบากแร้นแค้นมากเช่นที่ผมเล่าไป แต่ช่วงที่ผมเกิดนั้น เป็นช่วงที่บ้านคนธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยมากก็สามารถมีรถยนต์หนึ่งคันหรือมากกว่านั้นเป็นของตนเองได้แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสังคม จนการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สังคมญี่ปุ่นค่อย ๆ กลายเป็นสังคมที่ไม่มีของที่อยากได้ เพราะมีทุกอย่างไว้ในครอบครองแล้ว ไม่มีของที่อยากซื้อ จึงทำให้เศรษฐกิจไม่ค่อยหมุนเวียนแล้วเช่นในปัจจุบัน จนมีสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า「金を使わない奴が勝ちの世の中になった」ความหมายประมาณว่า 「ถ้าคนไม่ใช้เงิน ไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ทำให้ของมีมูลค่าลดลง แต่คนที่มีเงินเก็บคือคนที่จะชนะ 」 แตกต่างกับสมัยที่เพิ่งจบสงคราม ตอนนั้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้ดีนัก

ว่าด้วยเรื่องอาหารการกินของญี่ปุ่นและรากเหง้าทางวัฒนธรรม ก่อนที่ผมจะมาเที่ยวประเทศไทยครั้งแรก เคยได้ยินว่าถึงแม้ว่าจะทานข้าวไม่หมด ก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียมารยาทนัก ทำให้ผมนึกถึงภาพของประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะแตกต่างจากญี่ปุ่นมาก ที่ต้องทานทุกอย่างให้หมดอย่างรู้คุณค่า มาลองคิดเล่นๆ ดูเหตุผลทางด้านศาสนาพุทธนิกายที่คนญี่ปุ่นนับถือ สมัยตั้งแต่ยุคเอโดะคนญี่ปุ่นไม่สามารถทานเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ได้ จะทานได้เฉพาะชาวคริสต์ แต่คนญี่ปุ่นโดนห้ามนับถือคริสต์ ทำให้คนสมัยนั้น จึงต้องหาสารอาหารโปรตีนจากการทานเต้าหู้ ปลาและหอยเท่านั้น (150 ปีก่อนชาวยุโรปเป็นผู้ริเริ่มการทานเนื้อสัตว์ให้หลากหลายประเภทมากขึ้น และมีความเปลี่ยนแปลงทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มทานเนื้อวัวโดยนำมาทำเป็นสุกี้ยากี้) สมัยนั้นถ้าเทียบจำนวนประชากรแล้วคนญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยกว่าคนไทยมาก ด้วยเหตุเพราะอาหารไม่มีทาน ไม่นิยมมีลูกเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูได้ มีความยากแค้นขัดสน ถ้ามีลูกออกมาก็ฆ่าทิ้งเสีย เรื่องนี้ผมเคยเขียนเล่าไปบ้างแล้วในคอลัมน์ก่อนหน้านี้ครับ สมัยนั้นมีคำพูดเกี่ยวกับอาหารการกินไว้ว่า 「食べ物の恨みは恐ろしい ความเจ็บแค้นที่เกิดจากปากท้อง (อาหารการกินไม่เพียงพอ)เป็นสิ่งน่ากลัว」

สมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า คนจีนก็เคยยากแค้นเรื่องอาหารการกินเช่นกัน เวลาทานติ่มซำ (Dim Sam) ของประเทศจีน เขาสอนให้ทานเนื้อที่อยู่หลังนิ้วข้างล่างเล็บของไก่ เพราะมีโปรตีนมากกว่าที่ส่วนอื่น

ส่วนชาว Eskimo (เป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่อเมริกาเหนือ) มีคำที่ใช้เรียก 「หิมะ 」มากมายถึง 100 คำ ผมเกิดที่เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีหิมะตกมากที่สุดในญี่ปุ่น ส่วนคำที่ใช้เรียกหิมะเท่าที่ผมนึกออกมีแค่ 2 คำ คือ 「粉雪 KONAYUKI」( powder snow, หิมะที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบน้อย) , 「 ベチャ雪 Becha yuki」(ตรงกันข้ามกับคำก่อนหน้านี้คือหิมะที่มีปริมาณน้ำเป็นส่วนประกอบมาก, หิมะที่หนัก) แต่สำหรับชาว Eskimo ที่อาศัยอยู่ขั้วโลกเหนือต้องใช้ชีวิตอยู่กับหิมะ เพราะฉะนั้นเรื่องหิมะจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากพวกเขา ที่จริงแล้วคำว่า Eskimo มีความหมายว่า 「คนกินเนื้อดิบ 」แต่สมัยมัธยมต้นตอนที่เรียนวิชาสังคมเคยถูกสอนมาว่าควรเลี่ยงใช้คำที่แบ่งแยกทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างมนุษย์เหมือนเช่นคำนี้ สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่อากาศหนาวมาก ๆ และเพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดต่อไป มีจำเป็นต้องได้รับ vitamin ที่เหมาะสมเพราะฉะนั้นไม่มีทางอื่นนอกจากการทานเนื้อดิบ (ถ้าเนื้อโดนความร้อน vitamin ก็จะสลายหายไป และขั้วโลกเหนือไม่สามารถปลูกผักได้) เนื่องด้วยต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่โหดร้าย การรับมือที่ชาญฉลาดด้วยการ「สร้างวัฒนธรรมการทานเนื้อดิบ」เป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่ประการใด ชาวญี่ปุ่นด้วยเหมือนกันครับ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่รอดจึงทานปลาดิบและถูกเรียกว่า「คนทานปลาดิบ」เป็นต้นมา นี่ก็เป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมที่วิเศษที่ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการทานปลาดิบขึ้นมาที่ญี่ปุ่นนั่นเอง

วันนี้เล่าเรื่องอาหารการกินอีกแล้ว ถ้าเพื่อน ๆ สนใจอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับอะไรฝากคำแนะนำไว้ได้นะครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น