รอยเตอร์ - บรรดาแหล่งข่าวภายในรัฐบาลสหรัฐฯ เผยว่า วอชิงตัน และ สหภาพยุโรป (อียู) มีแผนยุติโครงการสำรวจน้ำมันมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในรัสเซีย ของบรรดาบริษัทพลังงานใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึง “เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชัน” และ “บีพี พีแอลซี”
เจ้าหน้าที่ 2 คนของสหรัฐฯ ซึ่งขอสงวนนาม เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชน ได้ระบุว่า การคว่ำบาตรพฤติกรรมก้าวร้าว ที่รัสเซียแสดงออกต่อวิกฤตยูเครน ที่วางเอาไว้นั้น มุ่งขัดขวางไม่ให้บรรดาบริษัทอเมริกันและยุโรปสามารถร่วมมือกับรัสเซียในการสำรวจน้ำมันดิบในแถบขั้วโลกเหนือ เขตพื้นทะเลลึก และชั้นหิน
มาตรการดังกล่าวซึ่งหนึ่งในแหล่งข่าวกล่าวว่า ยังเป็นเพียง “ความคิดขั้นต้น” จะเป็นการขยายขอบเขตการคว่ำบาตรที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม และจะห้ามไม่ให้สหรัฐฯ และยุโรปมีส่วนร่วมในธุรกิจการจัดการพลังงาน และเทคโนโลยีด้านพลังงาน ในบ่อน้ำมันที่ไม่ใช่แหล่งพลังงานดั้งเดิม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรก่อนหน้านี้เพียงแต่ห้ามไม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีบางประเภทในพื้นที่สำรวจน้ำมันแห่งใหม่เท่านั้น
รัสเซีย คือหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำของโลก และยังเป็นผู้จัดหาพลังงานรายสำคัญของทวีปยุโรป เช่นเดียวกับสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย แต่บ่อน้ำมันหลักของมอสโกเริ่มมีปริมาณร่อยหรอ ประเทศนี้จึงต้องหันไปหาแหล่งทรัพยากรตามแนวพรมแดนในแคว้นไซบีเรีย และแถบขั้วโลกเหนือเพื่อส่งออกน้ำมันต่อไป
เมื่อปี 2011 เอ็กซอนได้ลงนามข้อตกลงมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ร่วมกับบริษัท “รอสเนฟต์” ของรัสเซียเพื่อพัฒนาบ่อน้ำมันแถบขั้วโลกเหนือ โดย เอ็กซอน ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่ในมลรัฐเทกซัส สหรัฐฯ ถูกยกให้เป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่มีศักยภาพในการขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำที่มีคลื่นลมแรง และลึกเช่นนั้นได้
มาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ ซึ่งถ้าหากถูกนำมาประกาศใช้จริงก็จะสร้างความเสียหายให้แก่โอกาสทางธุรกิจในอนาคตของรัสเซีย เนื่องจากลงโทษเหล่านี้มุ่งขัดขวางไม่ให้มีการผลิตน้ำมันจากแหล่งพลังงานดังกล่าวนาน 5 ถึง 10 ปี แต่รัสเซียก็อาจป้องกันการคว่ำบาตรได้ หากมอสโกปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงที่ประกาศใช้ทางภาคตะวันออกของยูเครนอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึง พฤติการณ์ของสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ บลูมเบิร์ก คือสำนักข่าวเจ้าแรกที่นำเสนอข่าวมาตรการคว่ำบาตรภาคพลังงานรัสเซียที่สหรัฐฯ และ อียู วางเอาไว้
บรรดาเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปได้เลื่อนการตัดสินใจว่า จะประกาศคว่ำบาตรรัสเซียหรือไม่ออกไป โดยพวกเขาจะเข้าหารือกันต่อไปในวันนี้ (11 ก.ย.)
ทันทีที่อียูประกาศใช้มาตรการลงโทษระลอกใหม่ต่อบรรดาบริษัทจัดการ และเทคโนโลยีด้านพลังงานของรัสเซีย สหรัฐฯ ก็จะออกมาประกาศมาตรแบบเดียวกัน รวมถึงการห้ามไม่ให้สหรัฐฯ ส่งออกอุปกรณ์ และและเผยแพร่ความรู้ด้านการสำรวจน้ำมัน ที่ชาวรัสเซียยังมีศักยภาพไม่เพียงพอจะทำได้เอง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม กล่าวกับรอยเตอร์ ว่า วอชิงตันกำลังพิจารณาแผนควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูงไปให้แก่บรรดาอุตสาหกรรมพลังงานแถบขั้วโลกเหนือของรัสเซีย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการคว่ำบาตร
โรเบิร์ต แม็คแนลลี ที่ปรึกษาด้านพลังงานประจำทำเนียบขาวของอดีตประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช ซึ่งในเวลานั่งเก้าอี้ประธานบริษัทให้คำปรึกษาด้านพลังงาน “เรพิแดน กรุ๊ป” ชี้ว่าการประกาศมาตรการคว่ำบาตรใดๆ ต่อบริษัทจัดการพลังงาน และเทคโนโลยีด้านพลังงาน ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจน้ำมันในพรมแดนรัสเซียจะเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกำลัง “จะกระโดดลงไปในความขัดแย้งอย่างจริงจัง และพุ่งเป้าไปที่แหล่งสำคัญ ที่อาจการกระตุ้นการเติบโตในด้านการผลิตพลังงานให้แก่รัสเซียในอนาคต”
เขาเตือนว่า แผนการใหม่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ อียู และสหรัฐฯร่วมมือกันอย่างแข็งขัน “ทั้งสองต้องสร้างความมั่นใจว่า ประเทศอื่นๆ จะไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยรัสเซีย ด้วยการจัดหาบริการและเทคโนโลยีด้านพลังงานแทนที่บริษัทของวอชิงตัน และสหภาพยุโรปที่กำลังจะถอนตัวออกไป”
เมื่อเดือนกรกฎาคม เอ็กซอนได้เริ่มนำแท่นขุดเจาะน้ำมันชื่อ “เวสต์ อัลฟา” จากนอร์เวย์ ไปตั้งในแถบขั้วโลกเหนือ ในอาณาเขตรัสเซีย โดยบริษัทนี้ตั้งความหวังว่าจะค้นพบแหล่งน้ำมันปริมาณมหาศาลในทะเลคารา ร่วมกับรอสต์เนฟต์
อลัน เจฟเฟอร์ส โฆษกเอ็กซอนไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรกับแท่นขุดเจาะน้ำมันในแถบขั้วโลกเหนือต่อไป แต่กล่าวว่า การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นนโยบายของบริษัท พร้อมทั้งระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างประเมินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย
เบรตต์ แคลนตัน โฆษกบีพีกล่าวว่า บริษัทจะศึกษารายละเอียดของการคว่ำบาตร และ “เราจะปฏิบัติตามมาตรการทั้งหมดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังที่เราทำเสมอมา”