เอเจนซีส์ / MGR online - เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านภูมิศาสตร์ของรัสเซียยอมรับ ทางการแดนหมีขาวอาจจำใจต้องปิดตัวสถานีวิจัยของตนในขั้วโลกเหนือในปี 2016 นี้ ซึ่งจะถือเป็นการปิดทำการของสถานีวิจัยรัสเซียในพื้นที่ส่วนเหนือสุดของโลกครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา จากปัญหา “ขาดงบประมาณ”
รายงานข่าวที่มีการเผยแพร่ในวันเสาร์ (12 มี.ค.) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยของรัสเซียในเวลานี้ จากผลพวงของการถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรเพราะวิกฤตยูเครน รวมถึงภาวะราคาน้ำมันดิ่งเหวในตลาดโลกที่กระทบรายได้ของรัสเซีย ส่งผลทำให้รัฐบาลมอสโกภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จำเป็นต้องตัดลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ลง ซึ่งรวมถึงงบประมาณประจำปี 2016 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลภารกิจการวิจัยทั้งปวงของแดนหมีขาวในพื้นที่ขั้วโลกเหนือ
ด้าน อาร์ตูร์ ชิลินการอฟ รองประธานคนที่ 1 ของสภาภูมิศาสตร์แห่งรัสเซีย ออกมายอมรับว่า ทางการรัสเซียอาจไม่มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากต้องปิดสถานีวิจัยในพื้นที่ขั้วโลกเหนือในปีนี้ลง หากทางรัฐบาลมอสโกยังคงยืนกรานตัดลดงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และหากการปิดสถานีวิจัยขั้วโลกเหนือของรัสเซียเกิดขึ้นจริงในปีนี้เพราะปัญหาด้านงบประมาณก็จะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา และจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการวิจัยทั้งหลายในภูมิภาคอาร์กติกที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากสภาภูมิศาสตร์แห่งรัสเซีย ระบุว่า การเปิดสถานีวิจัยในขั้วโลกเหนือในปีนี้จะเดินหน้าต่อไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมอสโกจัดสรรงบประมาณจำนวน 200 ล้านรูเบิล (ราว 100.29 ล้านบาท) ให้เท่านั้น และงบประมาณก้อนนี้จะต้องถูกจัดสรรลงมาก่อนถึงวันที่ 18 มีนาคมนี้ ซึ่งตรงกับกำหนดในการเริ่มการวิจัยพื้นที่ขั้วโลกเหนือ และมหาสมุทรอาร์กติกของรัสเซียในปีนี้
ทั้งนี้ รัสเซียเริ่มตั้งสถานีวิจัยในพื้นที่ขั้วโลกเหนือตั้งแต่ปี ค.ศ.1937 ในยุคสหภาพโซเวียต โดยผู้อำนวยการคนแรกของโครงการวิจัยขั้วโลกเหนือของโซเวียต คือ อิวาน ปาปานิน นักสำรวจขั้วโลกชื่อดังชาวรัสเซียนั่นเอง