- “Peter Senge”ระบุ “ยุคอุตสาหกรรม” ตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม
- ทำให้เกิดการไร้สมดุลโลกในทางนิเวศวิทยาและสังคม
- แนะทำธุรกิจควรมองภาพใหญ่ สร้างคุณค่าเชื่อมโยงสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบ ทั้งระบบใหญ่และระบบย่อย
สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จัดงานสัมมนานานาชาติฉลองครบรอบ 50 ปี เรื่อง Building People Capability for Organization Sustainability
ปีเตอร์ เช็งเก้ ศาสตราจารย์แห่ง MIT ,Sloan School of Management ได้รับเชิญมาเป็นผู้แสดงปาฐกถานำในเรื่องนี้ได้ กล่าวว่า การทำธุรกิจไม่ใช่คิดแค่ระดับองค์กรตัวเอง แต่อยากให้มองถึงผลกระทบในระดับที่ใหญ่กว่า องค์กรของเรา โดยชวนให้คิดถึงผลประโยชน์มวลมนุษย์ ไม่ใช่แค่ประเทศของเรา หรือองค์กรของเรา เขายกตัวอย่าง Oxfam International เป็นองค์กรของ 14 บริษัทที่ทำงานทั่วโลกเพื่อต่อสู้เพื่อคนยากจน ความเสมอภาค และความอยุติธรรมว่าเป็นองค์กรที่สนใจใผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางสังคม และชี้ให้เห็นถึงปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน
Industrial Age หรือยุคอุตสาหกรรม ถูกมองเป็นผู้ร้ายในสายตาของ Senge ถึงแม้ว่ามันจะมีประโยชน์มากมาย เช่น ในยุคอุตสาหกรรมนี้เองที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นมากมาย แต่ก็ Industrial Age นี่เอง ที่ส่งผลกระทบมากมาย ต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มของเสีย เพิ่มขยะ เพิ่มสารพิษ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดหายไป ฯลฯ ซึ่งตอนที่คนเราคิดค้น และพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นนี้ มักจะไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา
เช็งเก้ ยกตัวอย่างหลายครั้งว่า คงไม่มีธุรกิจอาหารบริษัทใด จะคิดว่าตั้งบริษัทมาเพื่อให้เกษตรกรยากจนลง ทั้งๆ ที่ตอนนี้ผลกระทบนั้นได้แสดงผลแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ Senge ชวนให้คิดก็คือ คนที่อยู่ในโลกธุรกิจ คนที่เป็นผู้นำ ควรจะเข้าใจภาพใหญ่หรือ Big picture ของโลกให้มากขึ้น ปัญหาที่เจอกันส่วนใหญ่ในโลกนี้เกิดจากคนที่มีการศึกษาสูงๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่เกิดจากคนที่มีการศึกษาน้อย ขณะนี้ธรรมชาติไม่เคยสร้างของเสีย (waste)เพราะผลิตภัณฑ์ ของระบบนิเวศน์หนึ่งจะกลายไปเป็นสารอาหาร หรือวัตถุดิบให้กับอีกระบบนิเวศน์หนึ่ง แต่คนและอุตสาหกรรม กลับเป็นตัวผลิตของเสียอย่างมหาศาล
ขณะ GDP กลายเป็นตัวชี้วัดมหัศจรรย์ที่ทุกคนพูดถึง ที่ทุกชาติใช้อ้างอิง ทั้งๆ ที่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า GDP คำนวณมาได้อย่างไร (เราอาจจะรู้สูตรแต่รู้หรือไม่ว่าแต่ละส่วนประกอบได้มาอย่างไร?) เรามัวแต่หลงอยู่ภาพมายา ภาพลวงตา แต่ไม่มองปัญหาที่แท้จริง ทั้งที่ฟองสบู่ของยุคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และสร้างปัญหาไปทุกหย่อมหญ้า วัฒนธรรมอันดีงามต่างๆ ที่ถูกปลูกฝังกันมาเป็นพันๆ ปี กำลังจะถูกทำลายหายไปภายในสองถึงสามเจเนอเรชั่น เช็งเก้ ยกตัวอย่างคนจีนว่า มองภายนอกอาจจะดูเหมือนเป็นคนจีน แต่ภายในได้ถูก westernized หรือเป็นตะวันตกไปหมดแล้ว
เช็งเก้ เริ่มจากการให้เห็นปัญหาก่อน นั่นก็คือที่ขั้วโลกเหนือซึ่งในเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนนั้นมีน้ำแข็งอยู่เต็มพื้นที่ แต่พอมาถึงปัจจุบันปริมาณน้ำแข็งกลับลดลง โดยสาเหตุจะเกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะเกิดจากการที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว EU หรือสหรัฐอเมริกานั้นปล่อยคาร์บอนออกมา ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นแล้วเกิด Global Warming ถึงแม้จะมีการทำสัญญากันในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอน แต่ประเทศต่างๆ ที่กำลังจะเข้าสู่โหมดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ จึงกลายเป็นการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นไปอีก
เช็งเก้ มองว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆนั้น เกิดขึ้นจากระบบ ที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันประชาชนกำลังจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และถ้าธุรกิจปล่อยให้เป็นปัญหาอย่างนี้ไปเรื่อยๆอาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มเป็น 4.5 องศาภายในปี 2100 ถึงแม้จะมีการทำสัญญาในการลดคาร์บอน แต่บางประเทศก็ยังไม่หยุดยั้งในเรื่องอุตสาหกรรม ก็อาจจะทำให้อุณหภูมิโลกลด เป็น 2.6 องศาซึ่งก็ถือว่ายังหนักอยู่
ทั้งนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่คนมักจะลืมนึกถึง เช่นปัญหาในเรื่องของพลังงาน อาหาร น้ำ ของเสีย ของมีพิษ และปัญหาทางสังคม ที่เป็นผลกระทบจากระบบ ซึ่งระบบที่เป็นตัวกระตุ้นจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ ระบบการศึกษา การค้า และการเมืองการปกครอง ซึ่งเช็งเก้ได้โยงไปถึงอีกระบบที่สำคัญ ก็คือระบบวิธีคิดแบบอุตสาหกรรม เพราะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อปี 1910 จะเป็นจุดเริ่มต้นสังคมในยุคอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ จากเริ่มปฏิวัติในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น มาเรื่อยๆ ทำให้อุตสาหกรรมนั้นโตขึ้นเรื่อยๆจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการที่อุตสาหกรรมขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวการที่ทำเกิดการไร้สมดุลโลกในทางนิเวศวิทยาและสังคม
มอง“Senge ”ผ่าน“สมบัติ กุสุมาวลี”
ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และอาจารย์ประจำ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (สพบ.) (นิด้า) กล่าวว่าปีเตอร์ เช็งเก้ เป็นนักคิดที่มีมุมมองทั้งในด้าน Hard และในด้าน Softในด้าน Hard เป็นผลมาจากพื้นฐานที่ป็นนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และ ได้รับอิทธิพลจากอาจารย์ที่ชื่อ Jay Forrester ผู้สร้างทฤษฎี Systems Dynamic ทำให้เช็งเก้เมื่อมองอะไร คิดอะไร ก็จะมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบ ทั้งระบบใหญ่และระบบย่อย ทุกสิ่งอย่างล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ Inter-relate และ Inter-connect ถึงกันหมด ตรงนี้เรียกว่า Systems Thinking
ดังนั้น การนำเสนอครั้งนี้จึงเป็นการพยายามชี้ชวนให้ผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานด้าน HR ได้มี Systems thinking คือคิด เห็นว่า HR เป็น Sub-system หนึ่งที่สำคัญอยู่ในระบบใหญ่ การทำงานของคน HR ในระบบ HR ก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่หนุนเนื่องระบบใหญ่
ระบบทางสังคมของมนุษย์ ที่เดิมเป็นระบบการใช้ชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ (Living systems) แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม นับจากทศวรรษที่ 1910 ทำให้ระบบสังคมของมนุษย์เปลี่ยนจาก “ระบบชีวิตตามธรรมชาติ” (Natural system) ไปสู่ “ระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม” (Industrial age system)
ในด้านหนึ่ง “ระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม” ช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในเชิงวัตถุ แต่ก็กลายเป็นระบบชีวิตที่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และช่องว่างทางสังคมมากขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่อง และถ้าปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ต่อไป มันก็จะถึงจุด “หายนะ” ของมนุษยชาติและโลกใบนี้
การที่ระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ก็เพราะมีระบบย่อยๆ เช่น ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ฯลฯ ที่หนุนเนื่องเชื่อมโยงจนสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม
เช็งเก้จึงต้องการให้พวกเราพยายาม “เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเท่าทัน” กับระบบต่างๆที่หนุนเนื่องเชื่อมโยงกัน เราจะมองข้ามระบบใดระบบหนึ่งแยกออกจากกันไม่ได้โดยเด็ดขาด
คนทำงาน HR คือระบบย่อยที่สำคัญระบบหนึ่งที่ ถ้าไม่ตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ช่วยส่งเสริมเสริมแรงให้กับระบบชีวิตในยุคอุตสาหกรรม ดังนั้น คน HR ต้อง “เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเท่าทัน” กับระบบความคิดแบบอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือต้องช่วยกัน พัฒนา “นวัตกรรมใหม่” เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมและระบบคิดใหม่
ถึงตรงนี้ มาถึงจุดที่เป็นด้าน Soft ของ เช็งเก้ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็คือต้องพัฒนา “วัฒนธรรม” (Culture) ใหม่ และวัฒนธรรมใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็คือต้องปรับเปลี่ยน กระบวนทัศน์ วิธีคิด จิตใจของผู้คน ซึ่งตรงนี้ Senge เรียกว่า Mental Model
เช็งเก้เป็นนักคิดที่เอาจริงเอาจังกับการ “ทำสมาธิ” (Meditation) ตามแนวทางแบบพุทธนิการเซน จึงให้ความสำคัญกับ “การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง” (Profound change) มากกว่าการเปลี่ยนแปลงระดับผิวเผิน
“การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง” (Profound change) จะเกิดขึ้นได้ก็คือต้องปรับเปลี่ยนในระดับของความคิดจิตใจ หรือการเจริญสติ ของผู้คน
สุดท้ายแล้ว นี่คือพันธกิจใหม่ของคนทำงานทางด้าน HR ที่จะต้อง “ตื่นเรียนรู้ รู้คิด เท่าทัน และพัฒนา” นวัตกรรมใหม่ๆที่จะสร้างเสริมวัฒนธรรมและกระบวนการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งที่จะทำให้มนุษย์ องค์กรและสังคมสามารถอยู่ร่วมกับระบบธรรมชาติได้อย่างสันติสุข