MGR ONLINE—สื่อจีน ไชน่า เดลี่ รายงาน เส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบตฉลอง “วันคล้ายวันเกิด” ครบรอบปีที่ 10 ในวันที่ 1 ก.ค. 2016 นี้ นับจากโครงการก่อสร้างเฟสที่สอง ที่เชื่อมเมืองโกลมุด หรือในภาษาจีนคือ เกอเอ่อร์มู่ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลชิงไห่ กับเมืองลาซาของเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต โดยเส้นทางสายฯนี้เปิดบริการขนส่งผู้โดยสารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2006
เส้นทางรถไฟช่วงโกลมุด-ลาซา มีความยาว 1,142 กิโลเมตร จากเส้นทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ที่มีความยาวทั้งสิ้น 1,956 กิโลเมตร ทำให้ทิเบตกลายเป็นดินแดนที่เข้าถึงได้โดยเส้นทางรถไฟ
เส้นทางรถไฟช่วงโกลมุด-ลาซา ได้ทุบสถิติโลก ได้แก่ เป็นเส้นทางรถไฟสายยาวที่สุดบนที่ราบสูงที่สุด มีอุโมงค์เฟิงหั่วซานบนเขตชั้นดินเยือกแข็งคงตัว* (permafrost) ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 4,910 เมตร และมีสถานีรถไฟถังกูลาซานตั้งอยู่บนที่ราบสูง 5,068 เมตรจากระดับน้ำทะเล
นอกจากนี้ยังมีสะพานใหญ่ชิงสุ่ยเหอ เป็นสะพานทางรถไฟบนชั้นดินเยือกแข็งคงตัวที่ยาวที่สุดในโลก 11.7 กิโลเมตร ใน โฮ ซิล (Hoh Xil) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลชิงไห่
ขบวนรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต วิ่งผ่านจุดกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญของโลกถึงห้าสายคือ หวงเหอหรือแม่น้ำเหลือง แยงซีเกียง แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นต้นธารอารยธรรมสำคัญของโลก อาทิ อารยธรรมจีนและอารยธรรมอินเดีย
รายงานข้อมูลสถิติระบุว่า จากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ปี ค.ศ. 2006 มีผู้โดยสารมากกว่า 100 ล้านคน ที่ได้เดินทางฝ่าเส้นทางรถไฟสายหลังคาโลกนี้ และมีการขนส่งสินค้า กว่า 500 ล้านชิ้น ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพีของทิเบต ทะลุ 1 แสนล้านหยวน หรือราว 5 แสนล้านบาท
*ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) คือ ชั้นดินหรือหินดานที่อยู่ใต้ผิวดินหนาตั้งแต่ 30 เซนติเมตร จนถึงมากกว่า 1000 เมตร ปกคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 5 ส่วนของพื้นแผ่นดินของโลก มีอุณหภูมิอยู่ใต้จุดเยือกแข็งต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายร้อยปีหรือหลายพันปี ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวนี้เกิดอยู่ในบริเวณซึ่งความร้อนของอากาศในฤดูร้อนไม่ อาจซึมซาบลงไปถึงชั้นดินนี้ได้ และพบในบริเวณที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศประจำปีประมาณ 5 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น เช่น บริเวณพื้นที่แถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ที่มา: พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน