ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
สิ่งที่ญี่ปุ่นจับตามองเป็นพิเศษในขณะนี้เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังสนใจคือ ผลกระทบที่จะตามมาหลังจากอังกฤษตัดสินใจยุติสมาชิกภาพของตนในสภาพยุโรป ในเบื้องต้น ปรากฏผลแล้วทันทีต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลก โดยสะท้อนออกมาเป็นการร่วงลงของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ทั่วโลก และในญี่ปุ่น อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูขึ้นมาทันทีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้คือ “เอ็ง-ดะกะ”—“ค่าเงินเยนแข็ง”
ก่อนเข้าสู่การนำเสนอความหมาย ประวัติ และภาพกว้างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ “เอ็ง-ดะกะ” (円高;endaka) ต้องเท้าความให้ทราบกันเสียก่อนว่า คนญี่ปุ่นไม่ได้เรียกสกุลเงินของตัวเองว่า “เยน” (yen) อย่างที่คนทั่วโลกเรียก แต่เรียกว่า “เอ็ง” (円;en) เช่น 1 หมื่นเยน พูดว่า “อิชิมัง-เอ็ง” (一万円; ichiman-en), 2 หมื่นเยน พูดว่า “นิมัง-เอ็ง” (二万円;niman-en)
แล้วทำไมถึงเรียกต่างกัน? เรื่องนี้ “นิชิกิง” (日銀;nichigin) หรือ “ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น” อรรถาธิบายไว้ว่า เมื่อย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 1872 (พ.ศ. 2415) เมื่อรัฐบาลสมัยเมจิออกธนบัตรเป็นต้นมา ก็ปรากฏว่าอักษรโรมันที่ระบุหน่วยเงินญี่ปุ่นเขียนว่า “YEN” อยู่แล้ว ไม่ได้เขียนว่า “EN” และไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่มีข้อสันนิษฐาน 3 ประการ คือ
1) เหตุผลด้านการออกเสียง เนื่องจากคำว่า “EN” นี้ เมื่อคนต่างชาติออกเสียง จะฟังคล้ายเสียง “IN” (อิง) จึงใส่ตัว Y ลงไปที่หน้า “EN” และกลายเป็น “YEN” ทั้งนี้ ตัวอย่างเทียบเคียงคือคำว่า EDO (เอะโดะ—ชื่อเดิมของโตเกียว) ในบันทึกของชาวต่างชาติช่วงปลายสมัยเอะโดะ (พ.ศ. 2146 - 2411) เขียนชื่อ “เอะโดะ” ว่า YEDO
2) เพื่อเลี่ยงความสับสนกับภาษาต่างประเทศ คำว่า “EN” มีความหมายว่า “—กับ” หรือ “แล้วก็” ในภาษาดัตช์, มีความหมายว่า “ใน—” ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็เป็นคำที่ใช้บ่อย เมื่อญี่ปุ่นจะระบุหน่วยเงินของตัวเองจึงใส่ Y ลงไปที่หน้า “EN” และกลายเป็น “YEN”
3) แผลงมาจาก “หยวน” ของจีน ที่ด้านหน้าธนบัตรเงินหยวนของจีน เขียนว่า “〇圓” และที่ด้านหลังเขียนว่า YUAN สันนิษฐานว่าส่วนหลังนี้กลายมาเป็นคำว่า “YEN” ของญี่ปุ่น
เมื่อย้อนกลับมาที่โครงสร้างของคำว่า “เอ็ง-ดะกะ” (円高;endaka) อีกครั้ง ก็จะเห็นได้ว่า คำว่า “เอ็ง” หมายถึง “เงินเยน” นั่นเอง ส่วนคำว่า “ทะกะ” (高;taka) หมายถึง “สูง” เมื่อนำมาประกอบกันและแผลงเสียง จะได้เป็น “เอ็ง-ดะกะ”—“ค่าเงินเยนแข็ง” ตามความหมายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาษาญี่ปุ่น
“เอ็ง-ดะกะ” เป็นคำที่คนญี่ปุ่นคุ้นชินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แล้ว เพราะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวกว้างๆ คือ เมื่อเศรษฐกิจมั่นคงขึ้น ค่าเงินก็จะสูงขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ค่าที่สูงขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป เพราะถ้าค่าสูงก็หมายความว่าสินค้าของประเทศนั้นก็จะแพงไปด้วย “เอ็ง-ดะกะ” จึงเป็นสิ่งที่บรรดาธุรกิจของญี่ปุ่นที่เกี่ยวพันกับการส่งออกหวั่นเกรงกันมาก เพราะถ้าเงินเยนแข็ง บริษัทจะขายของได้น้อย ทำให้ผลประกอบการซบเซาอย่างที่เคยเกิดมาหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่หนักหนาสาหัสในช่วงต้นทศวรรษ 2010
หลังปี 2012 เป็นต้นมา เงินเยนเริ่มอ่อนลง ทำให้ภาคธุรกิจส่งออกได้ใจชื้นกันพักหนึ่ง จนกระทั่งมีสัญญาณว่าจะเกิด “เอ็ง-ดะกะ” ขึ้นอีกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016 แล้วความหวั่นไหวก็ถูกตอกย้ำด้วยการถอนตัวของอังกฤษจาก EU เมื่อนักลงทุนไม่มั่นใจในอนาคตของเศรษฐกิจโลกอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงใน EU ก็จะพยายามกระจายความเสี่ยงในการถือสินทรัพย์ เกิดการเทขายหุ้นบ้าง เกิดการเปลี่ยนสัดส่วนการถือสินทรัพย์บ้าง และเงินเยนคือสกุลเงินที่ ‘ไว้ใจได้’ เสียด้วย ประกอบกับการเกิดเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเข้าไปอีก ค่าเงินเยนจึงกลับมาเริ่มแข็งอย่างรวดเร็ว
ด้วยโครงสร้างระบบแลกเปลี่ยนเงินตรา ค่าเงินของญี่ปุ่นก็ถูกอิงอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นเดียวกับเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก โดยที่ญี่ปุ่นเทียบค่าเงินด้วยอัตรา 1 ดอลลาร์ต่อหน่วย 100 เยน เช่น 1 ดอลลาร์ = 100 เยน หรือ 1 ดอลลาร์ = 300 เยน สำหรับท่านที่อาจจะนึกภาพไม่ออกว่า 100 เยนมีค่ามากน้อยแค่ไหน ผมเทียบค่าเงิน 100 เยน (เทียบกับเงินบาท ณ ขณะนี้คือ 35 บาท = 100 เยน) ให้เห็นภาพคร่าวๆ ได้ดังนี้ เช่น ค่าน้ำเปล่าบรรจุขวดพลาสติกขนาด 500 มล. = 110-120 เยน, ค่ารถไฟ 1 ป้ายเริ่มต้นที่ 160 เยน, ค่าแท็กซี่เริ่มต้นที่ประมาณ 700 เยน, ค่าราเม็ง 1 ชาม ประมาณ 500 เยน
เมื่อญี่ปุ่นเป็นประเทศหลักของโลกประเทศหนึ่งในเชิงเศรษฐกิจ เงินเยนจึงถูกใช้เป็นแหล่งรองรับความเสี่ยงสกุลหนึ่ง หากเศรษฐกิจของสหรัฐผันผวนเมื่อไร เงินเยนก็จะแข็ง เศรษฐกิจยุโรปสั่นคลอนเมื่อไร เงินเยนก็จะแข็ง แนวโน้มจะเป็นเช่นนั้นจนกว่าจะมีปัจจัยอื่นมาถ่วงดุลให้ความเขม็งเกลียวคลายตัว ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติการเปลี่ยนแปลงค่าของเงินเยนครั้งสำคัญ อาจแบ่งช่วงที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างคร่าวๆ ได้ดังนี้ คือ ยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ, ช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนก่อนหน้าวิกฤติน้ำมันไม่นาน, และช่วงต้นทศวรรษ 2010 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่
เดือนกันยายน ปี 1945 เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หมาดๆ นั้น อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ = 15 เยน แต่ด้วยสภาพเงินเฟ้อหลังสงคราม ค่าเงินเยนจึงลดลงเรื่อยๆ สภาพการณ์โดยสังเขปประมวลได้ดังนี้
ปี 1947, 1 ดอลลาร์ = 50 เยน
ปี 1948, 1 ดอลลาร์ = 270 เยน
ปี 1949, 1 ดอลลาร์ = 360 เยน
และตั้งแต่ปี 1949 (พ.ศ. 2492) เงินเยนก็ถูกตรึงด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ต่อมาอีกนานหลายสิบปีที่อัตรา 1 ดอลลาร์/360 เยน ผ่านช่วงฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในทศวรรษ 1960 จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 1970 จึงเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่
สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในกลไกการเงินของโลกและสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งขึ้น การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจาก “คงที่” มาเป็น “ลอยตัว” จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และในที่สุด ต้นปี 1973 (พ.ศ. 2516) ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทันทีที่เปลี่ยน เงินเยนก็แข็งค่าทันที ไปอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ = 260 เยน
ภาวะแวดล้อมโดยทั่วไประหว่างที่ญี่ปุ่นเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม คือ ใช้การส่งออกเป็นหัวหอก โดยพื้นฐานแล้ว ญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ จึงพึ่งพาการนำเข้าอย่างสูง ขณะเดียวกันก็ต้องการส่งเสริมการส่งออกเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ และตั้งแต่สมัยสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1970 อุตสาหกรรมภายในประเทศก็ได้รับการส่งเสริมโดย “นโยบายส่งเสริมการส่งออก” (輸出振興政策; yushutsu-shinkō-seisaku) และ “การจำกัดการนำเข้า” (輸入規制;yunyūkisei) ระหว่างที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในยุคเติบโตสูงช่วงทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นลงทุนอย่างมากในโรงงานและสินค้าทุน พอถึงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ทำให้ราคาต้นทุนการผลิตแพงขึ้น ตลาดภายในประเทศก็เกิดความซบเซา อุตสาหกรรมหลายอย่างจึงพุ่งเน้นไปที่การส่งออก
แม้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำมัน แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ปรับตัวได้ และแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วงทศวรรษ 1980 สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความแข็งแกร่งคือ เงินเยนแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ และได้กลายเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนมองว่ามีเสถียรภาพ เป็นเป้าหมายหนึ่งของการกระจายความเสี่ยงในการถือเงินสกุลหลักของโลก และปี 1994 คือครั้งแรกที่ “เอ็ง-ดะกะ” ส่งผลให้ 1 ดอลลาร์ก็ไม่สามารถแลกได้ถึง 100 เยน
หลังจากนั้นอัตราก็ปรับตัวขึ้นๆ ลงๆ อยู่แถวๆ 1 ดอลลาร์/ประมาณ 100 เยน มาเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาของญี่ปุ่นยุคหลังฟองสบู่ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา กระทั่งเกิดความหวั่นไหวต่อเศรษฐกิจยุโรปเป็นวงกว้างในช่วงปลายทศวรรษ 2000 เงินเยนจึงแข็งค่าจนเป็นที่หวั่นเกรงอีก และพอนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งช่วงปลายปี 2012 พร้อมกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับการขนานนามว่า “อะเบะโนะมิกส์” ค่าเงินเยนก็เริ่มอ่อนลงมาเรื่อยๆ ไปอยู่แถวๆ 1 ดอลลาร์ = 110-120 เยนพักใหญ่ เกิดกระแสขานรับจากภาคธุรกิจด้านการส่งออกว่าช่วยกระตุ้นสภาพคล่อง ทำให้ขายของได้มากขึ้น จนกระทั่งเกิดสัญญาณว่าจะกลับมาแข็งค่าอีกแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016 ภาพกว้างๆ ประมวลได้ดังนี้
ปลายปี 1986, 1 ดอลลาร์ = 160 เยน
ปี 1987, 1 ดอลลาร์ = 120 เยน
ปี 1995, 1 ดอลลาร์ = 80 เยน (ช่วงสั้นๆ)
ปลายปี 2011, 1 ดอลลาร์ = 76 เยน
ปี 2016, 1 ดอลลาร์ = 102 เยน (24 มิถุนายน 2559)
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า “เอ็ง-ดะกะ” เป็นสิ่งที่น่ากลัวในระยะนี้ และยังคงเป็นแนวโน้มที่จะเกิดต่อไปอีกพักใหญ่ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็คงมองคล้ายกัน จึงได้รีบหารือกันว่าจะรับมืออย่างไร เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ทำท่าจะว่าฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว และ “เอ็ง-ดะกะ” ก็น่ากลัวสำหรับคนไทยที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วย เพราะมันจะทำให้การไปเที่ยวญี่ปุ่นแพงขึ้นทันที ที่เห็นได้ตอนนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว คือ ต้องใช้ถึง 35 บาทเพื่อจะแลกให้ได้ 100 เยน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th