ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า “ความเคลื่อนไหว” หรือ “สิ่งที่อยู่ในความสนใจ” ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน “คำสำคัญ” หรือ “คำเด่น” ในช่วงเวลา หรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบัน หรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียน หรือสนใจภาษาญี่ปุ่น ได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
ภาษาอังกฤษมีสำนวน The end justifies the means. หมายความว่า ผลลัพธ์สร้างความชอบธรรมให้แก่กระบวนการ (ไม่ว่ากระบวนการนั้นจะดีหรือเลวขนาดไหนก็ตาม) ตัวอย่างหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์บางคนคงหยิบยกขึ้นมา คือ การที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมะ และ นะงะซะกิ ในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ถึงแม้เป็นการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน แต่ในเมื่อผลที่เกิดขึ้นคือสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ดังนั้น วิธีการ (ในที่นี้คือระเบิดปรมาณู) ที่สหรัฐฯ นำมาใช้กับญี่ปุ่นจึงถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้ว
ในภาษาญี่ปุ่น มีสำนวนที่สื่อความหมายคล้ายคลึงกัน คือ “อุโซะ โมะ โฮเบ็ง” (嘘も方便; Uso mo hōben) “อุโซะ” (嘘) แปลว่า คำโกหก, “โมะ” (も) แปลว่า ก็, “โฮเบ็ง” (方便) มาจากภาษาสันสกฤต “อุปาย” แปลว่า อุบาย เมื่อรวมแล้ว “อุโซะ โมะ โฮเบ็ง” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “คำโกหกก็เป็นอุบาย” หมายความต่อไปว่า “บางครั้งก็จำเป็นต้องโกหกเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์บางอย่าง” หรืออาจจะหมายความต่อไปว่า ต่อให้กระบวนการชนะเป็นอย่างไรก็ช่าง สุดท้ายแล้วทีมวอลเลย์บอลหญิงของญี่ปุ่นก็ชนะทีมไทยอยู่ดี!
ความไม่ยุติธรรมเป็นความจริงของชีวิต หลายคนคงยอมรับว่าชีวิตมนุษย์เป็นเช่นนั้นจริง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะ “มีอารมณ์” เมื่อเห็นความไม่ยุติธรรมในหลาย ๆ กรณี ดังนั้น จึงมีคนมากมายที่คิดว่าหากกระบวนการบรรลุสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งอยู่บนความไม่ยุติธรรม ผลที่ออกมานั้นย่อมไม่มีวันที่จะชอบธรรมไปได้ และแน่นอนว่า แนวคิด “ผลลัพธ์สร้างความชอบธรรมให้แก่กระบวนการ” ไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์มากมายหลายอย่างในโลกนี้เข้าข่าย The end justifies the means. รวมทั้งชัยชนะของทีมวอลเลย์บอลหญิงของญี่ปุ่นที่ดับฝันทีมไทยในการไปโอลิมปิกอย่างน่าเศร้า หรือจริง ๆ คือ น่าเจ็บใจมากกว่า เพราะไทยไม่ได้แพ้กีฬา แต่แพ้กระบวนการ สำหรับเหตุการณ์เดียวกันนี้ หากเป็นสมัยก่อน ชนะแล้วก็คงแล้วกัน ผู้ชมอาจจะหงุดหงิดหลังรายการสักพัก แล้วเดี๋ยวคนก็ลืม ๆ ไปเอง แต่ในปัจจุบัน ต้องขอบคุณเทคโนโลยีของยุคนี้ที่จะทำให้ means หรือกระบวนการ ถูกบันทึกไว้อย่างแพร่หลาย และมันจะไม่ถูกลืมง่าย ๆ
อันที่จริง สิ่งที่กลายเป็นข่าวหนาหูที่ญี่ปุ่นในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากเรื่องการประชุม G7 ที่อิเซะชิมะ กับการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนฮิโระชิมะเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ก็มีข่าวเกี่ยวกับโอลิมปิกออกมาอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ไม่ใช่ข่าวดีนัก ยกเว้นเรื่องการสรุปผลว่าจะใช้ตราสัญลักษณ์ใดสำหรับโตเกียวโอลิมปิก 2020 (ซึ่งก็มีเสียงค่อนขอดอยู่ดีว่าไม่เห็นจะสวยเลย) เมื่อไล่เรียงดู จะพบว่าแต่ละเรื่องที่ว่าด้วยโตเกียวโอลิมปิกนั้นทำให้ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นเสื่อมเสียไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความไม่ลงตัวของการสร้างสนามกีฬา ตราสัญลักษณ์โอลิมปิกตราแรกที่ถูกวิจารณ์ว่าลอกเลียนแบบมาจากที่อื่น การจ่ายเงิน “ค่าคำปรึกษา” ให้แก่บริษัทในสิงคโปร์เพื่อให้ตนได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และกระทั่งล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง คือ การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง ซึ่งถึงแม้ว่าทีมญี่ปุ่นจะชนะไทย แต่ก็ถูกชาวโลกและชาวญี่ปุ่นอีกมากมายมองด้วยความกังขา พร้อมทั้งถูกคนไทยอีกไม่น้อย “ด่า” ว่าโกง พานให้คนที่ชื่นชอบญี่ปุ่นในแง่มุมต่าง ๆ รู้สึกเหมือนถูกหักหลังทั้ง ๆ ที่อุตส่าห์ชื่นชม
ด้วยบรรยากาศแบบนี้ จริง ๆ แล้วผมน่าจะเขียนเรื่องโอลิมปิกแบบตรงไปตรงมา ทว่าผมเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น และจะไม่ “ด่า” ญี่ปุ่นแบบเหมารวมเรื่องวอลเลย์บอล เพราะมีคนทำแทนไปเยอะแล้ว และเพราะคนญี่ปุ่นเองอีกมากมายก็คิดว่าชัยชนะครั้งนี้ไม่ใช่ชัยชนะที่ขาวสะอาด...ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง...เป็นชัยชนะที่โกหก...เป็นชัยชนะที่สุดแสนจะบังเอิญ ผมไม่ได้ “ด่า” นะ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ และเพราะเรื่องนี้มีสาเหตุมาจากระบบที่พยายามสร้างความขาวสะอาดในการแข่งขันให้รวดเร็วผ่านแท็บเล็ตที่ทำให้คนไทยน้ำตาแทบเล็ด...เป็นระบบที่พยายามสร้างชัยชนะอย่างแท้จริงโดยไม่อิงป้ายอัตโนมือ แต่ยึดถือเทคโนโลยีอัตโนมัติ...เป็นระบบที่กรรมการไม่หลอกผู้ชม เพราะตอนก้มจับใบแดงออกมาก็ทำให้เห็นจะจะ โดยไม่มีอาการหืดหอบ...เป็นระบบที่สุดแสนจะตรงไปตรงมา ระบบตรงมาตรงไปซึ่งทำให้ไทยแพ้แต่ญี่ปุ่นชนะโดยที่ไทยร้องเรียนไม่ทันนั้นเป็นอย่างไร คงหาอ่านกันได้ทั่วไปตามสื่ออยู่แล้ว ผมจะไม่เอ่ยซ้ำ แต่ขอมองในอีกมุมหนึ่งที่ลึกลงไปในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งคงเป็นมุมที่เปลี่ยนไปแล้วเพราะสภาพแวดล้อมบีบคั้น และดังนั้นจึงขอเสนอคำว่า “ฮะจิ” (恥;haji)
“ฮะจิ” แปลว่า ความละอาย ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในสังคมญี่ปุ่นมาช้านาน และสะท้อนออกมาทางความคิดและการกระทำ สังคมญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นสังคมที่อยู่ในจำพวก “วัฒนธรรมความละอาย” มากกว่า “วัฒนธรรมความผิด” สองคำนี้อาจไม่คุ้นหูคนไทย แต่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมญี่ปุ่นเพราะผลงานการศึกษาของนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมรูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict) ที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ “ดอกเบญจมาศกับดาบ” หรือมีชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษว่า The Chrysanthemum and the Sword: Patterns of Japanese Culture ซึ่งเป็นงานเขียนที่มุ่งศึกษาญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เบเนดิกต์วิจัยลักษณะของวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านเอกสารของสื่อมวลชนและการสัมภาษณ์คนในสหรัฐฯโดยไม่ได้ลงพื้นที่จริงในญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นกำลังทำสงครามกับสหรัฐฯ งานวิจัยนี้ถูกวิจารณ์ในหลายจุด แต่ก็มีมูลและได้จุดประกายให้มีการศึกษาเกี่ยวกับญี่ปุ่นอย่างจริงจังต่อมา หนึ่งในสิ่งที่เบเนดิกต์ระบุ คือ สังคมญี่ปุ่นจัดว่าเป็น “วัฒนธรรมความละอาย” ส่วนสังคมอเมริกันเป็น “วัฒนธรรมความผิด”
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้จักสองคำนี้ดีโดยเฉพาะคำแรก ซึ่งพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ฮะจิ โนะ บุงกะ” (恥の文化;haji no bunka) หรือภาษาอังกฤษ คือ shame culture คำว่า “โนะ” คือ คำที่ใช้เชื่อมคำนามกับคำนามเข้าด้วยกัน ส่วน “บุงกะ” แปลว่า วัฒนธรรม เมื่อแปลตามตัวอักษร “ฮะจิ โนะ บุงกะ” คือ “วัฒนธรรมแห่งความละอาย” หมายความว่า สังคมควบคุมความเรียบร้อยโดยใช้ความละอายเป็นเครื่องมือ เมื่อใครทำสิ่งใดผิดแผกไปจากมาตรฐานอันดีงาม ก็จะถูกสายตาของสังคมตำหนิให้รู้สึกอาย ด้วยกลไกนี้ สมาชิกของสังคมก็จะพยายามประพฤติตัวให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมด้วย ความละอายจะเกิดขึ้นเมื่อสร้างความเดือดร้อนให้แก่ส่วนรวม จึงต้องทำตัวให้ดีอยู่ตลอด ส่วนอีกคำหนึ่งคือ “สึมิ โนะ บุงกะ” (罪の文化 ; tsumi no bunka) หรือ ภาษาอังกฤษคือ guilt culture คำว่า “สึมิ” แปลว่า ความผิดหรือบาป เมื่อแปลตามตัวอักษรจะได้ว่า “วัฒนธรรมแห่งความผิด” หมายความว่า สังคมควบคุมความเรียบร้อยโดยใช้ความรู้สึกผิดเป็นเครื่องมือ
เมื่อประมวลเข้าด้วยกัน จะพบว่า ในขณะที่คนอเมริกันกลัวพระเจ้า คนญี่ปุ่นเกรงกลัวความละอาย โดยมีสำนวนสอนใจมาแต่โบราณหลายสำนวน เช่น ไม่ทำเรื่องน่าอายแม้ในที่ลับตา (屋漏に愧じず; Okurō ni hajizu) หรือถึงขั้นที่ว่า “ยอมตายดีกว่าอยู่อย่างขายหน้า” (恥を見んよりは死をせよ; Haji o minyori wa shi o se yo) หรือคำพูดเชิงตำหนิว่า “รู้จักอายซะมั่งนะ” หรือ “หน้าไม่อาย” (恥を知れ;haji o shire) ในชีวิตประจำวัน คนญี่ปุ่นทำตัวเป็นระเบียบเรียบร้อย พยายามไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้างเพราะถือว่านั่นเป็น “ฮะซุ เบะกิ โคอิ” (恥ずべき行為;hazubeki kōi) หรือ การกระทำอันพึงละอาย เช่น การที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวรบกวนผู้อื่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรละอาย หรือแม้แต่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สังคมญี่ปุ่นสมัยก่อนก็มองกันว่าการได้เงินมาง่าย ๆ โดยไม่ได้ออกแรงทำอะไรจริงจังเป็นเรื่องที่น่าละอาย
จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกละอายคือความดีงามที่ทำให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบ ประนีประนอม และเป็นกลไลที่ไม่บีบคั้นมากเกินไปนัก แต่ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน ความรู้สึกนั้นคงเปลี่ยนไปแล้ว ความละอายจางหายลงไปมาก ถึงได้มีข่าวบริษัทใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นตบแต่งบัญชีบ้าง ปกปิดข้อมูลบ้าง โดยไม่รู้สึกละอาย? หรือบนรถไฟก็มีเด็ก ๆ ส่งเสียงดังพลางวิ่งพล่านโดยที่ผู้ปกครองไม่ดุว่า คงเป็นเพราะระบบทุนนิยมกลืนกินญี่ปุ่นไปมากแล้วกระมัง ถึงได้ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นพยายามทำทุกอย่างโดยละเลยความละอาย เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าญี่ปุ่นยังอยู่และยังอยู่ในระดับท็อป ๆ ของโลกแทบจะทุกเรื่องเสียด้วย ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่กีฬา
หรือญี่ปุ่นตีความคำว่า “ความละอาย” เสียใหม่แล้ว ว่า หมายถึงการเสียหน้าหากไม่ได้ขึ้นที่สูง? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ความดีงามจะถูกความจมไม่ลงและศักดิ์ศรีที่ค้ำคออยู่กลืนกินทั้ง ๆ ที่การอยู่อย่างสง่าในสถานะที่เป็นจริงก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าอายแต่อย่างใด เพราะญี่ปุ่นมีอะไร ๆ ให้โลกทึ่งและชื่นชมในหลากหลายด้านอยู่แล้ว และการที่ทีมอันดับ 13 ของโลก (ปี 2015) จะชนะทีมอันดับ 5 ของโลกบ้าง จะกลายเป็นเรื่องที่น่าอายมากกว่าการถูกมองว่าทีมที่เหนือกว่าชนะมาด้วย “กระบวนการพิเศษ” อย่างนั้นหรือ...ฮื่ม คงมีบางคนคิดเช่นนั้น ผลที่ออกมาถึงได้เป็นอย่างที่เห็น
ถ้าว่ากันตามความจริง ผมคิดว่ายุคทองของญี่ปุ่นผ่านพ้นไปแล้ว และคิดว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย เพราะไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นแย่ลง เพียงแต่ประเทศอื่นดีขึ้นต่างหาก ตอนนี้ญี่ปุ่นคงไม่สามารถก้าวกระโดดและเพริดไปกับความฟู่ฟ่าเหมือนในยุคที่โตเกียวเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 2507 แต่ผมก็คิดว่านั่นไม่ใช่ความน่าอายอยู่ดี
ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นทั้งในระดับเอกชนและระดับรัฐบาลคงชั่งน้ำหนักในหลาย ๆ เรื่องแล้วว่าสิ่งไหนน่าละอายและสิ่งไหนไม่ อะไรหลาย ๆ อย่างของญี่ปุ่นถึงได้เป็นเช่นทุกวันนี้ บังเอิ๊ญเหลือเกินที่หนึ่งในนั้นมากระทบกับไทยเข้าพอดี
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเสียดาย “วัฒนธรรมความละอาย” ของสังคมญี่ปุ่น และจนถึงบรรทัดนี้ ผมก็ยังยืนยันว่าไม่ได้ด่าใครใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะละอายที่จะทำเช่นนั้น
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th