xs
xsm
sm
md
lg

ร้อน แล้งทุกหย่อมหญ้า ชาวสวนแตงโม มะม่วง มะยงชิด อ่วมหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระเมธีธรรมประนาท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร นำคณะลงดูกระบวนการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ก่อนหาทางเปิดลานวัดสร้างโรงเรือนสอนศรัทธาปลูกสู้แล้ง
พิจิตร/พิษณุโลก - ทั้งร้อน ทั้งแล้ง ทำเกษตรกรชาวนา ชาวสวนแถบพิจิตร พิษณุโลก สวนมะม่วง มะยงชิด ผลผลิตวูบหาย อาจเหลือแค่ 10% ชาวนาบางรายหนีไปปลูกแตงโม เจอร้อนวิปริตเพลี้ยระบาด ผลเล็ก บิดเบี้ยวไม่ได้ราคาอีก ด้านพระดังเมืองชาละวัน เล็งตั้งโรงเรือนกลางวัดสอนคนปลูกเมล่อนสู้แล้ง

วันนี้ (19 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพระเมธีธรรมประนาท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร นายอนันต์ ตั่นฉ้วน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และคณะไปดูงานการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ของนายธนนน ธีระวงศ์ไพศาลกุล อยู่บ้านเลขที่ 401/4 หมู่ 9 บ้านหนองจิกสี อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ซึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงฤดูแล้งนี้

พระเมธีธรรมประนาท บอกว่า ภัยแล้งที่รุนแรงทำให้คนจน และชาวนาต่างเดือดร้อนเรื่องอาชีพ จึงอยากจะใช้วัดมาบแฟ่บ ต.หนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจรวมศรัทธาของชาวบ้านเป็นที่ทดสอบการเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะเรื่องการปลูก “เมล่อน” ซึ่งใช้พื้นที่เพียง 72 ตารางเมตร ใช้เวลาประมาณ 90 วัน ก็คว้าเงินหมื่นใส่กระเป๋า ซึ่งดีกว่าทำนา 25 ไร่เสียอีก

โดยวัดจะเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงเรือน และระบบการให้น้ำ การให้ปุ๋ย ฯลฯ จะเริ่มต้นจากพระเณรและผู้ที่ถือศีลที่วัดในวันพระให้ได้มาสัมผัส และเรียนรู้เรื่องการปลูกเมล่อน เชื่อว่า ถ้าศรัทธาได้รู้ ได้เข้าใจ ได้ทำกับมือ รวมถึงทำบัญชีรับ-จ่าย พอมีเงินจากการขายผลผลิต ทุกคนก็จะมีศรัทธา และหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนา

สำหรับการปลูกเมล่อนในโรงเรือนของ นายธนนน เกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นโรงเรือนขนาด 6x12 เมตร หรือ 72 ตารางเมตร ใช้ระบบน้ำหยด ปลูกเมล่อนได้ 316 ต้น คาดว่าจะได้ผลผลิต 270 ลูก แต่ละลูกมีน้ำหนักประมาณ 1.8-2.5 กก. ขณะนี้จำหน่ายอยู่ กก.ละ 90 บาท ใช้ระยะเวลาประมาณ 75-85 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตออกจำหน่ายได้ โดยในช่วงนี้ใกล้เทศกาลปีใหม่ มีผู้สั่งจองซื้อล่วงหน้าไปหมดแล้ว

ปีนี้มะม่วง มะยงชิดพิจิตรผลผลิตวูบ

ด้าน นายสายันต์ บุญยิ่ง เลขาธิการสมาคมชาวมะม่วงไทย-กรรมการกลุ่มพัฒนาไม้ผล ต.วังทับไทร อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร เปิดเผยว่า เขตตำบลวังทับไทร และใกล้เคียงมีการปลูกไม้ผลมะม่วง มะปราง มะยงชิด บนพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ ปกติก็จะได้ผลผลิต 1 ไร่ 1 ตัน แต่ภัยแล้งปีนี้ทำให้ได้ผลผลิตเพียง 10% เท่านั้น นับว่าเป็นช่วงที่ชาวสวนวิกฤตที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ต.วังทับไทร ยังเป็นแหล่งรวบรวมผลไม้จาก อ.วังทอง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก อ.วังโป่ง อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และผลไม้จากนครสวรรค์ กำแพงเพชร ก่อนส่งออกเวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป โดยทุกปีจะมีเงินเข้าพิจิตรไม่น้อยกว่า 600-700 ล้านบาท แต่ปีนี้น่าจะมีผลการประกอบการเพียงแค่ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น

ชาวนาหนีปลูกแตงโม ยังอ่วมซ้ำ

ขณะที่ชาวนา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่เปลี่ยนจากการทำนาหันมาปลูกแตงโม ขณะนี้ก็ต้องอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันทั่ว เมื่อผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ แตงโมผลเล็ก บิดเบี้ยว อากาศที่ร้อนจัดยังทำให้ใบไหม้แห้งเหี่ยว ซ้ำร้ายยังเจอโรคเพลี้ยระบาดหนัก

นางนงลักษณ์ อยู่นาน อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 486/2 หมู่ 8ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก บอกว่า หน้าแล้งปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกแตงโม เพราะเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย และเชื่อว่าจะมีรายได้ดี แต่ผลผลิตที่ออกมากลับไม่ได้ดังหวัง สภาพอากาศที่ร้อนมากทำให้ใบแตงโมไหม้ ยอดเหี่ยวแห้ง และมีเพลี้ยระบาด ผลบิดเบี้ยว ขณะที่น้ำหนักแตงโมปกติทั่วไป 1 ลูก ต้องหนัก 3-4 กิโลกรัม แต่ของตนหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม ทำให้ขายไม่ได้ราคา ต้องเหมาขายให้พ่อค้าลูกละ 5-10 บาท ส่วนแตงโมผลใหญ่สวยชั่งขายเป็นกิโลกรัมๆ ละ 15-18 บาท

“การที่จะกลับไปทำนาปลูกข้าวต้องรอน้ำ ถ้าน้ำยังน้อยก็ไม่กล้าเสี่ยง เพราะราคาข้าวก็ไม่ได้ดีมาก ช่วงนี้ทำให้ชาวนาก็รู้สึกท้อบ้าง แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรให้มีรายได้ ต้องทนหมุนเวียนปลูกพืชอายุสั้นไปก่อน เพื่อให้มีรายได้มาดูแลจุนเจือครอบครัวบ้างเท่านั้น”

ด้าน นายละมาย นาคคงคำ อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 162 ม.2ต.พรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนและครอบครัวยึดอาชีพทำสวนดอกเบญจมาศ ดอกดาวเรือง มานานกว่า 17 ปี โดยจะมีลูกค้าประจำมารับซื้อถึงบ้าน แต่ในช่วงนี้อากาศร้อนจัด จึงต้องเฝ้าระวังโรคเพลี้ยไฟไรแดง โรคหนอนชอนใบ และโรคเชื้อราที่จะแพร่ระบาดในช่วงที่อากาศร้อน

นายละมาย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากต้องเฝ้าระวังโรคที่มากับอากาศร้อนแล้ว ช่วงนี้ดอกเบญจมาศ ดอกดาวเรือง เริ่มเฉา ดอกถีบตัวบานไม่เต็มที่ ตนต้องมีการเพิ่มการให้น้ำให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ตนคงต้องกางมุ้งสแลน ป้องกันแสงแดดในที่ร้อนจัดในช่วงนี้ และในช่วงเย็นจะต้องมีการคลุมผ้าดำ เพื่อให้ดอกเบญจมาศสังเคราะห์แสง และออกดอกได้ตามที่ต้องการ

ด้านศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ระบุว่า ช่วงนี้จะอากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันโดยมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส พร้อมเตือนเกษตรกร ว่า นอกจากต้องระวัง และป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน โรงเก็บผลผลิตแล้ว ควรระวังการระบาดของศัตรูพืช จำพวกปากดูด เช่น เพลี้ย และไรต่างๆ ในไม้ผล และพืชผัก



มะม่วง-มะยงชิด ผลไม้ที่ทำรายได้เข้าพิจิตรปีละหลายร้อยล้านบาท ปีนี้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัด-แล้งรุนแรง
มะยงชิด ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัด-แล้งรุนแรง

ชาวนาวังทอง จ.พิษณุโลก ที่หนีไปปลูกแตงโม ที่ได้ชื่อว่าเป็นพืชใช้น้ำน้อย ทนแล้ง แต่ต้องเจอสภาพเหมือนหนีเสือปะจระเข้



เกษตรกรชาวสวนดอกดาวเรือง-เบญจมาศ ที่ยึดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 17 ปี วันนี้ต้องดูแลสวนดอกตัวเองมากขึ้นเป็น 2 เท่า


กำลังโหลดความคิดเห็น