ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ราวปี ๒๔๓๐ ได้เกิดกระแสความนิยมเครื่องลายครามจีนขึ้นอย่างคึกคัก มีการจัดเป็นโต๊ะบูชาขึ้นประกวดประชันกัน แม้จะใช้เครื่องลายครามจีนจัด แต่ก็จัดกันตามรสนิยมไทย ไม่ได้จัดตามแบบจีน และถึงกับออกเป็น “พระราชบัญญัติข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙” ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๔ กำหนดกฎกติกาเพื่อใช้ในการตัดสิน งานใหญ่ๆในสมัยนั้นจึงมีการจัดประกวดเครื่องโต๊ะเป็นรายการสำคัญอย่างขาดไม่ได้ และตั้งชื่อถนนในกรุงเทพฯเป็นชื่อเครื่องลายครามจีนทั้งชุด
ทั้งนี้ในปี ๒๔๔๑ แพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า ในพระบรมมหาราชวังที่ประทับนั้น มีพระตำหนักปลูกสร้างอย่างแออัดปิดทางลม ลมถ่ายเทไม่สะดวกและอบอ้าว ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ประชวรอยู่เป็นประจำ จึงควรเสด็จประพาสไปประทับในที่โล่งแจ้งบ้าง จึงโปรดเกล้าฯให้ซื้อที่ชายทุ่งระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมไปจดคลองสามเสน แล้วสร้างพลับพลาที่ประทับชั่วคราวขึ้น รับสั่งว่าที่นี่เย็นสบายดี
พระราชทานนามว่า “สวนดุสิต” ตามนามของสวรรค์ชั้น ๔ เมื่อเสด็จฯมาประทับที่สวนดุสิตบ่อยครั้ง จึงทรงสร้างเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับถาวรขึ้น พระราชทานนามว่า “วังสวนดุสิต” พร้อมกับโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนโดยรอบเพื่อการคมนาคมของวังสวนดุสิต เมื่อใช้สถานที่แห่งนี้ประกอบพระราชพิธีเช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวังแล้ว จึงเปลี่ยนนามวังสวนดุสิตเป็น “พระราชวังสวนดุสิต” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “พระราชวังดุสิต”
ในระยะที่ทรงสร้างพระราชวังดุสิตนี้ เป็นระยะที่การเล่นเครื่องลายครามจีนได้รับความนิยมอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามถนนรอบพระราชวังดุสิต รวมทั้งถนนและสถานที่ภายในพระราชวัง เป็นนามจากเครื่องลายครามจีนทั้งหมด ทำให้ถนนชุดนี้มีชื่อแปลกๆ บางสายก็มีชื่อเป็นภาษาจีน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีประกาศของกระทรวงนครบาล โดยเจ้าพระยายมราช เป็นเสนาบดี ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๒ ให้เปลี่ยนชื่อถนนรอบพระราชวังสวนดุสิตที่ได้ชื่อตามเครื่องลายครามจีน ๑๕ สายคือ
๑. ถนนซางฮี้ ได้ชื่อตามเครื่องลายครามที่มีอักษรจีนคู่กัน ๒ ตัว หมายถึง ความสุข สนุก สบาย ใช้เป็นเครื่องหมายในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน และใช้เป็นลวดลายประดับเพื่อความเป็นสิริมงคล ตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดส้มเกลี้ยงหรือวัดราชผาติการาม ไปจนถึงถนนราชปรารภ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนราชวิถี” แต่ยังทิ้งรอยอดีตที่เรียก “สะพานกรุงธน” ว่า “สะพานซางฮี้” มาจนปัจจุบัน
๒. ถนนฮก จากเครื่องลายครามที่เป็นเทพเจ้าถือม้วนกระดาษหรืออุ้มเด็กด้วย หมายถึงความสุขสมหวัง ตัดจากถนนลูกหลวง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล ข้ามถนนพิษณุโลก มาสุดที่หน้าวัดเบญจมบพิตร เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนนครปฐม”
๓. ถนนลก จากเครื่องลายครามที่เป็นเทพเจ้าสวมหมวกมีใบพัดกางออก ๒ ข้าง มือถือสิ่งล้ำค่ามงคล เช่นก้อนตำลึงทองหรือหยกหยู่อี้ มีความหมายถึงความมั่งคั่งและเกียรติยศ ตัดจากถนนลูกหลวง ตรงข้ามฝั่งคลองกับทำเนียบรัฐบาล ขนานคลองเปรมประชากร จนไปบรรจบกับถนนเตชะวณิชที่สะพานแดง เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพระรามที่ ๕”
๔. ถนนสิ้ว หรือ ซิ่ว จากลายครามที่มักเป็นรูปชายชราศีรษะล้านและงอกสูงขึ้นไป หนวดเคราขาว ถือผลท้อและไม้เท้า ยืนอยู่ใต้ต้นสนใหญ่ ซึ่งต้นสน ผลท้อ และความชรา หมายถึงความเป็นผู้มีอายุยืน ตัดจากสะพานยมราชขนานทางรถไฟไปถึงคลองสามเสน เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนสวรรคโลก”
๕. ถนนดวงตะวัน จากเครื่องลายครามจีนภาพพระอาทิตย์โผล่ขึ้นจากท้องทะเลที่มีลูกคลื่นเหมือนเกล็ดปลา หมายถึงให้แสงสว่างแก่ชีวิต มีโชควาสนา ตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างวัดเทวราชกุญชร ข้ามถนนสามเสน ผ่านหน้าบ้านสี่เสา ไปจนถึงถนนราชปรารภ เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนศรีอยุธยา”
๖. ถนนดวงเดือน จากเครื่องลายครามที่มีรูปพระจันทร์ ที่มีพลังอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง หมายถึงบันดาลโชคลาภให้ขึ้นลงได้ คนจีนจึงมีประเพณีไหว้พระจันทร์ ตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปจดถนนซิ่ว เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนศุโขทัย” (ภาษาที่เขียนในสมัยนั้น)
๗. ถนนดวงดาว จากเครื่องลายครามลายดาว มีความหมายไม่ขึ้นไม่ลง คงอยู่ในท้องฟ้าได้ยั่งยืน และหมายถึงเซียนต่างๆด้วย ตัดจากถนนพิษณุโลกถึงคลองสามเสน เปลี่ยนชื่อเป็น“ถนนนครราชสีมา”
๘. ถนนพุดตาน จากเครื่องลายครามลายดอกพุดตานหรือดอกโบตั๋น ซึ่งจีนถือเป็นดอกไม้วิเศษ ต้นไม้อื่นรอบด้านจะโน้มหรือหันดอกเข้าหา ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจวาสนา ตัดจากถนนซางฮี้ไปถึงคลองสามเสน เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพิชัย”
๙. ถนนเบญจมาศ จากเครื่องลายครามที่มีลายดอกเบญจมาศ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีกลีบสลับซับซ้อน แสดงถึงความมั่งคั่ง ตัดจากสะพานมัฆวานรังสรรค์เข้าสู่พระราชวังวังสวนดุสิต เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนราชดำเนิน” จึงเป็นส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก
๑๐. ถนนประทัดทอง จากเครื่องลายครามที่เป็นลายต้นประทัดทอง หมายถึงความยืดยาว ตัดจากถนนประทุมวัน ผ่านถนนประแจจีนที่สี่แยกอุรุพงษ์ ไปเลียบคลองประปาจนถึงถนนเตชะวณิชที่บางซื่อ เรียกกันเพี้ยนเป็น “บรรทัดทอง” เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพระรามที่ ๖”
๑๑. ถนนส้มมือ จากเครื่องลายครามที่เป็นภาพส้มมือ ซึ่งถือเป็นโอสถที่ทำให้อายุยืน เช่นเดียวกับผลท้อ ตัดจากถนนสุโขทัยถึงคลองสามเสน เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนสุพรรณ”
๑๒. ถนนใบพร จากเครื่องลายครามที่มีลายคล้ายใบว่าน ส่วนที่ตัดจากถนนสามเสนหน้าท่าวาสุกรีถึงถนนนครราชสีมา เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนอู่ทองนอก” กับอีกส่วนจากลานพระบรมรูป เลียบข้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ผ่านหน้ารัฐสภาจดถนนราชวิถี เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนอู่ทองใน”
๑๓. ถนนคอเสื้อ จากเครื่องลายครามภาพค้างคาวต่อๆกันดูคล้ายกระจัง แต่ไทยว่าคล้ายคอเสื้อ ค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีแขน มีขา เหมือนสัตว์ ๔ เท้า แต่มีปีก และเป็นสัตว์ที่ไม่เคยลงเหยียบดิน มีความหมายถึงบุญวาสนา ตัดจากถนนสามเสนถึงสะพานยมราช เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพิษณุโลก”
๑๔. ถนนราชวัตร จากเครื่องลายครามลายลูกคลื่น แต่ไทยมองว่าเหมือนรั้ว จึงเรียกว่า ลายราชวัตร ตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ศรีย่าน ถึงถนนพระรามที่ ๖ เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนนครไชยศรี”
๑๕. ถนนประแจจีน จากลายที่เป็นรูปเหลี่ยมหักมุมไขว้กัน ใช้เป็นลายฉลุไม้ประกอบโต๊ะเครื่องตั้ง หรือขอบลายเสื้อผ้าของเทวรูปจีน และใช้เป็นลายของเครื่องลายครามอย่างหนึ่ง ตัดจากสะพานยมราชตรงไปถึงสะพานเฉลิมโลก เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนเพชรบุรี” ปัจจุบันยังเหลืออนุสรณ์คือ “ตลาดประแจจีน” ที่สี่แยกอุรุพงษ์
ยังมีถนนที่ได้ชื่อตามเครื่องลายครามในยุคนั้น แต่ไม่ได้ถูกประกาศให้เปลี่ยนชื่อไปด้วย คือ
“ถนนเขียวไข่กา” ได้ชื่อจากเครื่องลายครามที่มีสีเขียวเหมือนหยก เรียกกันว่าเขียวไข่กา ตัดจากถนนสามเสนข้างโรงเรียนราชินีบนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มี “ท่าเขียวไข่กา” อยู่ตรงนั้น
“ถนนขาว” ได้ชื่อจากเครื่องถ้วยชั้นดีที่มาจากเมืองกังไส เนื้อละเอียดเนียนเหมือนหยกขาว ตัดจากถนนซางฮี้ ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านหลังวชิรพยาบาล มาถึงถนนสุโขทัย
“ถนนสังคโลก” ได้จากชื่อเครื่องลายครามสีเขียวหยก ที่ไทยก็เคยทำในสมัยกรุงสุโขทัย ตัดจากถนนสามเสนข้าง ร.พ. วชิระฯด้านใต้ ไปเชื่อมถนนขาว
“ถนนทับทิม” จากลายครามที่เป็นลายทับทิม ซึ่งจีนมีคตินิยมว่าเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดมาก หมายถึงการสืบแซ่วงศ์ตระกูลได้มาก ตัดคู่ขนานกับถนนส้มมือ
นอกจากนี้ในรัชกาลที่ ๖ ยังมีการเปลี่ยนชื่อถนนที่ไม่เกี่ยวกับชื่อชุดเครื่องลายครามจีนนี้อีก เช่น
ถนนประทุมวัน ตั้งแต่สะพานยศเสถึงถนนราชดำริ ให้เปลี่ยนเป็น “ถนนพระรามที่ ๑”
ถนนหัวลำโพง ตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ถึงถนนหลวงสุนทรโกษา ให้เปลี่ยนเป็น “ถนนพระรามที่ ๔”
ถนนตลาด ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงถนนคอเสื้อ ให้เปลี่ยนเป็น “ถนนนครสวรรค์”
ในรัชกาลที่ ๗ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศร ทรงแจ้งไปยังเจ้าพระยายมราช ราชเลขาธิการ ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๗๐ ว่ามีคนปรารภเรื่องชื่อถนน “๒๒ กรกฎา” อยากให้เปลี่ยนชื่อ เพราะเป็นเรื่องการสงครามซึ่งแล้วกันไปแล้ว แต่เป็นชื่อพระราชทานครั้งรัชกาลที่ ๖ ขอให้นำความกราบบังคมทูลเรียนกระแสพระราชดำริ ถ้าจะทรงพระกรุณาให้เปลี่ยนชื่อแล้ว ขอพระราชทานนามใหม่ด้วย
มีพระราชหัตถเลขาเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๗๐ ว่า
เสนอคณะอภิรัฐมนตรี เรื่องเปลี่ยนชื่ออะไรต่างๆนี้ ข้าพเจ้าไม่ชอบ เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนชื่อถนนเป็นอันมาก ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นด้วย แต่ความจริงก็เคยรู้สึกเกลียดชื่อถนนหลายสาย เช่นพวกถนน “พระราม” ต่างๆ แต่ถนน ๒๒ กรกฎานี้ก็เกลียดเหมือนกัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังเห็นว่าไม่ควรเปลี่ยน ถ้าไม่เป็นการจำเป็นจริงๆ
ประชาธิปก