เทศกาลไทย หรือ Thai festival ที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมเหมือนทุกปี หากแต่เบื้องหลังแล้ว อาหารไทยในต่างแดนกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก จนอาจนำไปสู่ความถดถอยและสูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นไทยในที่สุด
“ไทยเฟสติวัล” คือเทศกาลแนะนำประเทศไทย ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากชาวญี่ปุ่นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงโตเกียว, นครโอซากา และเมืองนาโงยะ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากอดทนเข้าแถวนานนับชั่วโมงเพื่อชิมอาหารไทยในโอกาสพิเศษนี้
แต่หากเปรียบเทียบกันแล้ว “ไทยเฟสติวัล” ในปีหลังๆ ความคึกคักลดลงอย่างชัดเจน ไม่ต้องเบียดเสียดผู้คน ขณะเดียวกันก็มีเสียงบ่นเรื่องรสชาติอาหาร มนต์เสน่ห์ของอาหารไทยที่เริ่มเสื่อมคลายนั้น ไม่ใช่เพราะคนญี่ปุ่น “เบื่อ” อาหารไทย แต่สะสมจากปัญหาของกิจการร้านอาหารไทยในต่างแดน
ร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นมีไหมที่ “ไทยแท้” ?
ร้านอาหารไทยทั่วประเทศญี่ปุ่นมีหลายร้อยร้านทั้งใหญ่และเล็ก อาหารไทยได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวญี่ปุ่น เทียบเท่าอาหารจีน,อิตาลี หรือเกาหลี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับชาติอาเซียนแล้ว อาหารไทยเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นแทบจะหาไม่ได้ที่มีรสชาติไทยแท้ ส่วนใหญ่อ้างว่าต้องปรับรสชาติให้เข้ากับลิ้นของคนญี่ปุ่นบ้าง คนญี่ปุ่นไม่กินเผ็ดบ้าง คนญี่ปุ่นไม่กินเครื่องเทศรสจัด ฯลฯ ซึ่งความจริงแล้วคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยกินรสจัด และยังรู้จักอาหารไทยรวมทั้งประเทศไทย มากกว่าคนไทยบางคนด้วยซ้ำ
ไม่เพียงแต่ “มโน” ที่ทำให้อาหารไทยสูญเสียเอกลักษณ์ แต่ความบีบคั้นทางธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาหารไทยในต่างแดนเสื่อมมนต์ขลัง
สถานกงสุลไทยในญี่ปุ่นอาจไม่รู้ว่า ร้านอาหารไทยชื่อดังที่ใช้บริการเป็นประจำนั้น แทบไม่ได้ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพเลย เพราะวัตถุดิบที่ผลิตในญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างแพง ทางร้านจึงใช้อาหารแช่แข็งที่ส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นส่วนใหญ่ เช่น เนื้อจากเม็กซิโก, ปลาจากเวียดนาม, กุ้งจากพม่า ขณะที่ผักหรือเครื่องเทศที่ส่งมาจากไทยก็เหี่ยวเฉาเพราะถูกเก็บไว้นานเกินไป อาหารปรุงเสร็จรสเด็ดอาจมีเบื้องหลังที่น่าตกตะลึง หากได้มาเยือนหลังครัว!
เจ้าของร้านอาหารหลายแห่งมั่นใจในสูตรอาหารของตัวเอง และคิดว่าถึงแม้ใช้วัตถุดิบแช่แข็งราคาถูกก็สามารถปรุงแต่งเป็นอาหารไทยรสชาติจัดจ้านได้ และก็ยังถูกปากลูกค้าจำนวนมาก แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่คุ้นเคยกับประเทศไทย พวกเขารู้สึกได้ว่า “นี่ไม่ใช่อาหารไทยที่มีคุณภาพ!”
ร้านเล็กอยู่ยาก ร้านใหญ่คนญี่ปุ่นยึด
ถึงแม้อาหารไทยได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ร้านอาหารไทยในต่างแดนอยู่ยากขึ้นทุกวัน ร้านเล็กๆที่รสชาติดี ไม่มีเงินทุนที่จะหาทำเลดีๆได้ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในการหาพ่อครัว รวมทั้งความยุ่งยากในการขอวีซ่าทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ร้านอาหารเหล่านี้มักเป็นกิจการของ “แม่บ้าน” ที่มีสามีเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ปรุงอาหารแบบบ้านๆ ไม่ได้มีตำรับมาตรฐาน
ขณะที่ร้านชื่อดังขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นกิจการของคนญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีเงินจ้างพ่อครัวเดือนละนับแสนบาท แต่พ่อครัวและพนักงานต้องทำงานสายตัวแทบขาด ทำให้ส่วนมากทนความเหนื่อยได้เพียง 1-2 ปีก็ขอลากลับเมืองไทย
ปัญหาพ่อครัวขาดแคลนทำให้มาตรฐานอาหารไทยในต่างแดนแทบจะไม่มี ร้อยร้านร้อยรสชาติ ร้านเล็กไม่มีทุน ร้านใหญ่มุ่งกำไรจนต้องใช้วัตถุดิบราคาถูก หรือแม้กระทั่งกลวิธีต่างๆ เช่น “เพิ่มความเผ็ด” เพื่อให้ลูกค้าทานได้น้อยลงในกรณีที่เป็นอาหารบุฟเฟต์
ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากชื่นชอบอาหารไทยและประเทศไทย และมาเที่ยวงานThai festival ทุกปี หากแต่งานที่จัดขึ้นเพียงข้ามวันคงเป็นเพียงความคึกคักชั่วครั้งชั่วคราว เพราะในชีวิตประจำวันแล้ว ร้านอาหารไทยในต่างแดนต่างใช้อาหารไทยเพื่อหาประโยชน์ตามอำเภอใจเท่านั้น หลายร้านประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น "อาหารไทยฟิวชั่น" จนชาวต่างชาติแทบไม่รู้ว่าอาหารไทยที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร?
ชาวต่างชาติที่คุ้นเคยกับเมืองไทยต่างบ่นเสียดายที่เมืองไทยหาอาหารนานาชาติอร่อยทานได้ไม่ยาก แต่ ณ ต่างแดน อาหารไทยที่อร่อยหายากยิ่ง.