xs
xsm
sm
md
lg

“โรคเดือนห้า”...พาย้อนความหลัง ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เดือนห้านำพาความหดหู่

ที่ญี่ปุ่นมี “โรคเดือนห้า”

เดือนพฤษภาคมคือเดือนที่ 2 ของปีงบประมาณใหม่ นักศึกษาใหม่และพนักงานใหม่จำนวนมากในญี่ปุ่นเป็น “โรคเดือนห้า” ซึ่งเรียกว่า “โกะงะสึเบียว” (五月病;gogatsubyō) อาการคือ หดหู่ เศร้าสร้อย สาเหตุคือปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ไม่ได้ การแพทย์ไม่ได้ถือว่านี่เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ เพียงแต่มองว่าเป็นกลุ่มอาการความผิดปกติด้านการปรับตัว แต่คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปก็ใช้คำนี้สื่อความเข้าใจกันอย่างแพร่หลาย

ผมเองก็รู้สึกตงิดๆ อยู่ว่าตัวเองอาจเป็นโรคเดือนห้าไปกับเขาแล้ว เพราะซึมๆ หงอยๆ มาพักใหญ่ และนี่มีฝนปลายฤดูใบไม้ผลิตกลงมาเป็นระยะๆ อีก พานทำให้หดหู่หงอยเหงาเข้าไปอีก แต่ทั้งหมดนี้คงไม่ได้เกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ไม่ได้ เพราะผมเก่าเกินกว่าจะเกร็งแล้ว แต่คงเป็นเพราะยังโหยหาวันหยุดอันสดชื่นเสียมากกว่า ก็เดือนห้าคือเดือนที่มีวันหยุดยาว พอกลับมาทำงานอีกจึงเกิดอาการ post-holiday blues คือ ซึมเศร้าเหงาหงอยหลังวันหยุด (หรือพูดง่ายๆ คือไม่อยากทำงาน) แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมจึงคิดเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยเรื่องราวของฟุกุโอะกะเมื่อครั้งกระโน้นดังนี้

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ไปจังหวัดฟุกุโอะกะเป็นครั้งแรก สมัยก่อนไม่มีเครื่องบินราคาประหยัดมากมายเหมือนปัจจุบัน จึงต้องนั่งรถไฟชิงกันเซ็งไป เวลา 5-6 ชั่วโมงให้ความรู้สึกเหมือนนานเป็นอาทิตย์...ไม่ใช่เพราะระยะทาง แต่เป็นเพราะความรู้สึกบางอย่าง
ตำแหน่งจังหวัดฟุกุโอะกะ
เมื่อลองนั่งเงียบๆ แล้วทบทวนดู รู้สึกว่าวันเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นเหมือนกระดาษสีขาวที่ในแต่ละหน้ามีบันทึกเกี่ยวกับหลายสิ่งจดอยู่ และยังจำได้ดีถึงช่วงเวลาหนึ่งที่กระดาษกลายเป็นสีดำ หน้ากระดาษสีดำตอนนั้นปิดตัวเองลงเมื่อถึงวันที่ผมเดินทางกลับจากจังหวัดฟุกุโอะกะ

อันที่จริงในระยะเวลาราวหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น ทุกนาทีก็มีแต่ลายหมึกที่แสนอึมครึมอยู่แล้วด้วย

จากฟุกุโอะกะ วันนั้นผมกำลังเดินทางสู่กรุงโตเกียวหลังจากไปพบเพื่อน มุ่งหน้ากลับบ้าน ผมไม่อาจคลายความคิดเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้ได้ ผมคาดว่าเพื่อนคงเดินทางถึงที่หมายของเขาแล้ว แต่เราผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งรวมทั้งตัวผมด้วย ไม่ใคร่ยินดีกับเขา
สถานีฮะกะตะ
รถไฟชิงกันเซ็งออกจากสถานีฮะกะตะของจังหวัดฟุกุโอะกะมาได้สักพักแล้ว ผมนั่งอยู่ในเบาะนุ่ม อยู่ในท่าเอนหลังแนบพนักพิงพร้อมกับเงยหน้า ตาหลับแน่น เบาะข้างๆ ไม่มีใคร ผมถอนหายใจราวกับเหนื่อยจากการวิ่งทางไกลมาหลายสิบกิโล ใช่...คงเหนื่อย แต่หากวิเคราะห์ให้ชัดยิ่งขึ้น นั่นอาจไม่ใช่ความเหนื่อยก็ได้ คงเป็นความหดหู่ และความเสียใจ หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้รู้สึกเหมือนมีก้อนแข็งๆ ติดแน่นอยู่ที่หน้าอกและลำคอ จะกลืนก็ลำบาก หรือจะคายก็ไม่หลุด ต้องหายใจลึกๆ สลับกับการหลับ...ลืม...หลับ...ลืมตาอยู่หลายต่อหลายที ผมอยากให้ถึงที่หมายของตัวเองเร็วๆ อยากจะไปให้ห่างจากฟุกุโอะกะมากที่สุดทั้งๆ ที่เป็นครั้งแรกที่ได้ไปจังหวัดนี้

ไม่บ่อยนักที่จะล่องใต้ไปเกาะคิวชู การเดินทางไปและกลับครั้งนี้สำคัญนัก หลายอย่างในการเดินทางนี้คือครั้งแรกของผม ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ทำบางอย่างซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตซึ่งคิดว่าหากไม่ได้ทำคงเป็นเพื่อนที่บกพร่องที่สุดในโลก

ระหว่างการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นหลายปี ผมได้พบกับคนญี่ปุ่นมากหน้าหลายตา กลายเป็นเพื่อนกับหลายคน สี่ห้าคนในจำนวนนี้กลายเป็นเพื่อนสนิทที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ในญี่ปุ่นเป็นไปอย่างราบรื่น และในไม่กี่คนนี้ หนึ่งคนคงกำลังยิ้มให้ผมอยู่ ณ ที่ใดสักแห่ง...

เราเป็นเพื่อนกันเพราะบังเอิญเจอกันตอนไปดูซูโม่ เราพบกันเกือบจะเป็นครั้งสุดท้ายในงานเลี้ยงส่งเขาไปเรียนที่ออสเตรเลีย และเราพบกันครั้งสุดท้ายจริงๆ ที่ฟุกุโอะกะอันเป็นบ้านเกิดของเขา เราจากกันครั้งแรกหลังจากดูซูโม่ จากกันเกือบจะเป็นครั้งสุดท้ายในงานเลี้ยงส่งก่อนที่เขาจะไปเรียนที่ออสเตรเลีย และจากกันครั้งสุดท้ายจริงๆ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา...ที่ฟุกุโอะกะ

ราวหนึ่งเดือนก่อนที่หน้ากระดาษเวลาของผมจะถูกละเลงด้วยสีดำ ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเขาผ่านทางมะซะฮิโระ ซึ่งเป็นเพื่อนญี่ปุ่นอีกคนหนึ่ง

“เอ่อ...มีเรื่องจะบอก...ตอนนี้คุยได้ไหม?” มะซะฮิโระโทร.หาผมขณะที่ผมอยู่บนรถไฟ ผมจึงไม่สะดวกที่จะคุยยาว แต่จับน้ำเสียงของเขาได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องไม่สู้ดีนัก

“ทำไมเหรอ เรื่องด่วนรึเปล่า? ถ้าด่วน ก็รีบพูดมาเลย” ผมป้องปากพูดใส่โทรศัพท์เพื่อกันเสียงกระจายไปรบกวนผู้โดยสารคนอื่น หาไม่แล้วอาจเป็นการเสียมารยาทเมื่อขึ้นรถไฟของญี่ปุ่น

“อย่าเลย...เอาไว้กลับให้ถึงบ้าน แล้วรีบโทร.กลับมานะ” มะซะฮิโระกำชับ

ผมใจไม่ดี เพราะรู้สึกว่าช่วงเดือนสองเดือนนี้มีแต่เรื่องหดหู่เกิดขึ้นกับตัวเอง ด้วยความกังวลและอยากรู้ ผมจึงรุดกลับบ้านโดยไม่แวะซื้อของอย่างที่ตั้งใจไว้ เพื่อจะรีบโทร.กลับไปหามะซะฮิโระ

ผมทำใจเตรียมพร้อมที่จะฟังเรื่องราวที่อาจเป็นเรื่องไม่คาดฝัน

“โมชิ โมชิ – ฮัลโหล” ผมไม่รอช้า กดโทรศัพท์ทันทีที่ถึงห้อง
“...มะซะฮิโระเหรอ? กลับถึงห้องแล้ว มีเรื่องอะไรก็ว่ามา” น้ำเสียงผมบ่งว่าขัดอกขัดใจที่กว่าจะได้รู้เรื่องก็ต้องกังวลอยู่พักใหญ่
“อะโนะเนะ – เอ่อ” เขาค่อย ๆ เริ่ม ขณะที่ความวิตกของคนฟังทบทวีแล้ว
“มีเรื่องอะไรไม่ดีล่ะ?” ผมชิงพูดขึ้นโดยไม่อาจซ่อนความหงุดหงิดไว้ได้ เพราะตกอยู่ในสภาพอารมณ์แปรปรวนและซึมเศร้ามาก่อนหน้านั้นได้สักระยะแล้ว อีกทั้งยังไม่อยากรับฟังอะไรที่จะทำให้จิตตกมากไปกว่าที่เป็นอยู่

โรคซึมเศร้า

ช่วงนั้นรู้สึกว่าตัวเองซึมเศร้าด้วยหลายสาเหตุ ทั้งนอนไม่พอ เป็นหวัดบ่อย เป็นโรคแพ้เกสรดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ ถ้าวันไหนฝนตกลงมา อารมณ์ยิ่งหม่นหมอง ตอนอยู่เมืองไทย จับความรู้สึกแบบนี้ได้ไม่ชัดเจนเท่ากับตอนอยู่ญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นผมมีเวลาอยู่คนเดียวมากกว่า และบรรยากาศบางอย่างก็รัดตัวกว่าตอนอยู่เมืองไทยจนไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ถึงแม้ทราบว่าอาการแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่องานยุ่ง แล้วสักพักก็จะหายไปเอง แต่ก็รู้ตัวดีว่าไม่ควรปล่อยอาการเอาไว้เนิ่นนานเกินไป

ความซึมเศร้าที่เรามองกันว่าเป็นสภาวะทางอารมณ์อย่างหนึ่ง อาจรุนแรงกลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้ อารมณ์เศร้าหมองและหดหู่เป็นเรื่องปกติของชีวิต แต่ถ้ามีอารมณ์หดหู่ค้างอยู่นานหรือกลับรุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมกับมีอาการอย่างอื่นตามมา เช่น เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ หมดความสนใจต่อสิ่งรอบตัว หมดสนุกกับสิ่งที่เคยเป็นความสุขของตัวเอง รวบรวมสมาธิไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เหล่านี้อาจเข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียด ความผิดหวัง สิ้นหวัง ปัญหาชีวิต เป็นต้น

เชื่อกันว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนบนโลก ทุก 1 คนใน 14 คน เป็นโรคซึมเศร้า ในกรณีของญี่ปุ่น แม้แต่เด็ก ผลวิจัยโดยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชเด็กประจำมหาวิทยาลัยฮอกไกโดก็ชี้ว่า มีเด็กประถมและมัธยมต้น 1.5% เป็นโรคซึมเศร้า คนดังระดับโลกที่เป็นโรคซึมเศร้าก็มี เช่น เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (นักเขียนรางวัลโนเบลปี พ.ศ. 2497), วินสตัน เชอร์ชิล (นายกรัฐมนตรีอังกฤษปี พ.ศ.2483-2488 และ 2494-2498), ออเดรย์ เฮปเบิร์น (นักแสดงชาวอังกฤษผู้ล่วงลับ) ในบรรดาเพื่อนชาวญี่ปุ่นของผม ก็มีคนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องไปพบแพทย์ และกินยาอยู่ตลอด

คนญี่ปุ่นมองว่า คำว่าซึมเศร้ากับคนไทยดูเหมือนห่างไกลกัน เพราะไทยเป็นประเทศแห่งความไม่เป็นไร ทำอะไรๆ ก็ไม่เป็นไร สบายไปเรื่อย สนุกสนานร่าเริงอยู่ตลอด ความเครียดของคนไทยจึงน่าจะน้อยกว่าคนญี่ปุ่น ความซึมเศร้าที่จะลุกลามถึงขั้นเป็นโรคจึงไม่ค่อยเป็นประเด็นให้กังวลกันมากเท่ากับในญี่ปุ่น สำหรับคนไทยจำนวนมาก ความซึมเศร้าอาจเป็นแค่อาการตามปัจจัยของชีวิต ไม่ใช่โรคที่จะอยู่ทนกับคนคนนั้นไปเนิ่นนาน ผมเองก็คิดเช่นนั้น และสำหรับตัวเอง อาการนั้นก็มักจะหายได้ไม่ยากเย็นขอเพียงได้เปลี่ยนบรรยากาศ

แต่เมื่อได้ยินเรื่องราวจากเพื่อนญี่ปุ่นแล้ว จึงได้ทราบว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านความซึมเศร้าไปได้ง่ายๆ บางคนอาจต่อสู้กับอาการไม่ไหวจนเสียชีวิตไปในที่สุด คงมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าโรคซึมเศร้าที่อาจฟังดูธรรมดา แท้จริงแล้วเป็นโรคทางจิตที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง และในญี่ปุ่นโรคนี้ยังเป็นสาเหตุใหญ่ที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายด้วย

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น