xs
xsm
sm
md
lg

สังคมบ้าวัตถุ แข่งขันสูง กลัวเสียหน้า ขี้นินทา เร่งคนไทยป่วยจิตเวช ฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สังคมบ้าวัตถุ แข่งขันสูง กลัวเสียหน้า เร่งเร้าคนไทยป่วยจิตเวช ซึมเศร้า ยิ่งเจอสังคมซุบซิบนินทา ยิ่งเร่งปฏิกิริยาฆ่าตัวตาย ถูกตีตรา อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ เสี่ยงป่วยซ้ำ ชู อ.แม่ทา จ.ลำพูน ลดอัตราฆ่าตัวตายหลังเพิ่มการเข้าถึงบริการ ปรับทัศนคติคนในชุมชน เอ็นจีโอชงบรรจุหลักสูตรโรคทางจิตเวชในการศึกษาภาคบังคับ ช่วยสังเกตอาการเด็กป่วยก่อนสายเกินไป

วันนี้ (28 มี.ค.) ในงานเสวนา “ฆ่าตัวตาย สุขภาวะคนไทยบนปากเหว” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยยืนยันว่าไม่ใช่อันดับที่ 3 ของโลก แต่อยู่ที่อันดับ 57 ของโลก อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 3,000 คนต่อปี แต่เชื่อว่าน่าจะมีการฆ่าตัวตายมากกว่านั้น เพราะยังพบว่า มีการปกปิดข้อมูลอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยข้อมูลที่เคยมีการสำรวจในกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ทุก 1 ใน 4 คน จะมีโอกาสมีปัญหาทางสุขภาพจิตเกิดขึ้น เนื่องจากครั้งหนึ่งในชีวิตจะมีความทุกข์จนสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิต แต่ที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชจะพบประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด

“สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยป่วยด้านจิตเวช นำไปสู่โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายนั้น พบว่า มาจากค่านิยมที่ต้องการประสบความสำเร็จเร็ว เน้นวัตถุ การแข่งขัน การอยากเอาชนะ การกลัวเสียหน้า ต้องการสร้างภาพลักษณ์ ทำให้เกิดความเครียด การเกื้อกูลกันหายไป น้ำใจ และการช่วยเหลือลดลง เมื่อมีปัญหาก็ไม่ขอรับการช่วยเหลือเพราะกลัวเสียหน้าอีก บางพื้นที่มีการซุบซิบนินทา ก็ยิ่งทำให้คนเข้าไม่ถึงบริการรักษา และเกิดการฆ่าตัวตาย” นพ.ประเวช กล่าวและว่า การป้องกันการฆ่าตัวตายต้องดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ 1.เพิ่มการเข้าถึงบริการทางจิตเวช 2.ชุมชนมีความเข้าใจ และ 3.การนำเสนอของสื่อมวลชนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

นางพัชรี คำธิตา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (จิตเวช) โรงพยาบาลแม่ทา จังหวัดลำพูน กล่าวว่า จ.ลำพูน แม้จะมีสถิติความสุขเป็นอันดับ 3 ของประเทศ แต่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะ อ.แม่ทา มีสถิติสูงที่สุดในจังหวัด อยู่ที่ 34.51 ต่อแสนประชากร หรือปีละ 20 คน โดยพบว่า สาเหตุหนึ่งที่เป็นเหตุผลในการเร่งให้คนฆ่าตัวตาย คือ ถูกเล่าขวัญ หรือนินทา การรักษาหน้า อย่างใครที่เดินทางไปรับบริการที่ รพ.สวนปรุง เมื่อกลับมาจะถูกนินทา ถูกตีตรา แม้จะรักษาหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีก จึงทำให้เกิดการปกปิด ไม่ไปรับบริการ กลายเป็นปัญญาไปเรื่อยๆ จึงพยายามแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ โดยจัดให้มีบริการคลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน และพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพโดยกระทรวงสาธารณสุข มีทุนให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านจิตเวช นอกจากนี้ ยังดำเนินการปรับทัศนคติของชุมชนใหม่ โดยการให้ความรู้ผู้นำในชุมชน รวมถึงพระสงฆ์ เกิดเป็นโครงการบิณฑบาตความทุกข์ และขอความร่วมมือจากร้านค้าห้ามจำหน่ายสุราในวันพระ และงานศพ ล่าสุด อัตราการฆ่าตัวตายของพื้นที่ อ.แม่ทา ดีขึ้น อยู่ที่ 7 ต่อแสนประชากร

นางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังด้วย โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งช่วงนี้ปัญหาสุขภาพจิตจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการคือ 1.อาการไม่คลุกคลีกับใคร ซึมเศร้า ไม่เข้าสังคม ไม่สดใส 2.อาการก้าวร้าว ไฮเปอร์ ซึ่งคนมักจะมองว่าเป็นเด็กเกเร ทั้งที่จริงไม่ใช่ โดยภาวะนี้เมื่อเติบโตไปไม่กี่ปีจะเป็นภาวะซึมเศร้า หรืออาจฆ่าตัวตายได้ ซึ่งเคยเจอเคสเช่นนี้แล้วที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน 1 ราย ปัญหาของเด็กเหล่านี้คือ ครูไม่ทราบอาการ จึงเสนอว่าควรจะมีการบรรจุการเรียนรู้เรื่องโรคทางจิตเวช อยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เด็กทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค รู้จักวิธีสังเกตโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตเวชในเด็กเป็นอย่างไร สามารถเข้าสู่การรักษาได้โดยไม่ต้องอายใคร หรือกลัวว่าสังคมจะรังเกียจ



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น