xs
xsm
sm
md
lg

ทิ้งความปวดร้าว เหงา ซึมเศร้า มาเป็น “ผู้เฒ่า” ที่มีความสุขกันเถอะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามวัย โรคเรื้อรังที่รุมเร้าเข้าใส่ ลูกหลานเพิกเฉยไม่ดูแล หลากสารพันปัญหาที่รายล้อม “ผู้เฒ่าผู้แก่” ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง ยิ่งซ้ำเติมให้พลังใจถดถอยลง ทั้งที่ไม่รู้ว่า “พลังชีวิต” จะหมดลงไปในวันใด

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมรสุมในช่วงบั้นปลายชีวิตที่ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งกำลังเผชิญปัญหา และรอวันปะทุจนกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต ทั้งความเครียด โรคซึมเศร้า จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ล้านกว่าคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด ที่น่าห่วง คือ ผู้สูงอายุร้อยละ 95 หรือประมาณ 9.5 ล้านคน สุขภาพไม่ดี มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม พิการ ซึมเศร้า และนอนติดเตียง มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่มีสุขภาพดี

ขณะที่การถูกลูกหลานเพิกเฉยทอดทิ้งนั้น จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แนวโน้มการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็น ร้อยละ 6.5 ในปี 2545 และเพิ่มเป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2550 ที่น่ากังวลคือ สัดส่วนของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับลูกลดลงตามลำดับ จากร้อยละ 73.6 ในปี 2537 เหลือ 65.7 ในปี 2545 และเหลือร้อยละ 60.2 ในปี 2550 และยิ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ปัญหาเหล่านี้ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ด้วยปัญหาเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่จะพบว่า ผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 มีความเปราะบางทางจิตใจ และรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง สอดคล้องต่ออัตราการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไปที่พบว่า มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีจำนวน 500 กว่าคนในปี 2553 เพิ่มเป็น 600 กว่าคนในปี 2554

นางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว เปิดเผยว่า สภาพร่างกายที่แก่ตัวลง รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ลูกหลานทอดทิ้ง ล้วนเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเหงา เกิดการป่วยทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาสำคัญของเมืองไทย คือ การกลายเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ลูกหลานไม่อยู่กับพ่อแม่เหมือนแต่ก่อน แต่แยกออกไปสร้างครอบครัว โดยปล่อยพ่อแม่อยู่กันเองตามประสาสามีภรรยา ซึ่งหากมีใครคนใดคนหนึ่งจากไปก็ยิ่งกระตุ้นให้อีกฝ่ายเกิดการฆ่าตัวตายขึ้นได้ง่าย

“การแยกออกไปอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวตามลำพัง จริงๆ แล้วผู้สูงอายุจะไม่เจ็บปวดเท่ากับการอยู่ด้วยกันในครอบครัวกับลูกหลาน แต่กลับไม่ได้รับการเอาใจใส่ หรือเมินเฉย ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้สูงอายุปวดร้าวได้มากกว่า เพราะเหมือนตัวเองไม่มีความสำคัญ อย่างตัวป้าเองก็เคยรู้สึกเช่นกันที่บางครั้งเหมือนลูกชายไม่เอาใจใส่ เพราะเขาเห็นว่าแม่ตัวเองเป็นคนเก่ง ยังออกไปทำงานต่างๆ เพื่อสังคมได้ แต่จริงๆ แล้วป้าเป็นคนโลว์เทค ส่งอีเมลยังไม่เป็น พอขอให้เขาช่วยเขาก็อ้างว่าแม่ขี้เกียจเรียนรู้มากกว่า ก็เลยย้อนคิดว่าอย่างตอนเขาเป็นเด็กเขาไม่รู้อะไรก็พยายามสอนให้เขาพูดได้ ทำนู่นทำนี่เป็น พอมาเจอแบบนี้ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าขึ้นมา ซึ่งแบบนี้ก็ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในครอบครัว” นางรัชนี กล่าว

สอดคล้องต่อ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายเสื่อมถอย โรคที่พบมากคือ วิตกกังวล ซึมเศร้า ความจำเสื่อม สมองเสื่อม โดยสาเหตุหลักมาจาก 3 เรื่อง คือ 1.การย้ายถิ่นของคนวัยทำงาน ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น หรือต้องเลี้ยงดูหลาน รับภาระในวันที่ที่ไม่ควรมีแล้ว 2.สุขภาพจากการเจ็บป่วย และ 3.เงิน เนื่องจากเป็นวัยที่หยุดทำงานจึงขาดความภาคภูมิใจ ไม่มีรายได้ ก็ทำให้ร่างกายจิตใจโดดเดี่ยว และเกิดความเครียดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความสุขของคนไทย พบว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความสุขน้อยที่สุดในทุกวัย แต่หากไม่พิจารณาเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือการเงินเข้ามาร่วม ผู้สูงอายุจะเป็นวัยที่มีความสุขสูงที่สุดในทุกกลุ่มวัย ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันปัจจัยต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ คือ 1.ต้องเริ่มเก็บเงินไว้ใช้ในยามชรา หรือมีเงินออม ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยพยายามผลักดันเรื่องกองทุนเงินออมแห่งชาติ 2.รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะวัยทำงานมักจะทำงานจนลืมดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ยามแก่เฒ่านั้นเจ็บป่วยหลายโรค และ 3.การสร้างความสัมพันธ์ภายในบ้าน และครอบครัว บางคนพอแก่ตัวแล้วอยู่กับคนในครอบครัวไม่เป็นก็จะเกิดปัญหา

ส่วนการสร้างความสุขในผู้สูงอายุนั้น นพ.ประเวช แนะนำว่า ให้ยึดหลักความสุข 5 มิติ คือ 1.สุขสบาย (Health) คือ เรื่องของสมรรถภาพทางกายที่ดี เช่น การออกกำลังกาย 2.สุขสนุก (Recreation) คือ การเลือกวิถีชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนาน ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข 3.สุขสง่า (Integrity) คือ ความรู้สึกพอใจในตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง 4.สุขสว่าง (Cognition) คือ ความสามารถด้านการจำ การคิด การสื่อสาร การเรียนรู้ ต้องมีกิจกรรมช่วยลดความเสื่อมของสมอง และ 5.สุขสงบ คือ ความสามารถในการรับรู้ เข้าใจความรู้สึกของตนเอง สามารถจัดการต่อสภาวะอารมณ์ต่างๆ ได้

ขณะที่ นางรัชนี สะท้อนความเห็นในการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ว่า ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ ตัวผู้สูงอายุเอง จะต้องสร้างพลังใจให้แก่ตัวเอง วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเห็นคุณค่าในตัวเอง ใช้ประสบการณ์ชีวิตของตัวเองมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนอื่น และสังคม โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาชม มาดูแล มาเห็นคุณค่า ก็จะเป็นการสร้างพลังใจให้ตัวเองได้ ป้องกันความเครียด ลดการเกิดโรคซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตายลงไปได้

นางรัชนี กล่าวว่า จากการทำงานในสมาคมฯ จะพบว่า ผู้สูงอายุล้วนมีปัญหาเช่นนี้ สมาคมฯ ก็เข้าไปช่วยโดยพยายามทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองให้ได้ โดยมีการเชิญชวนผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้เห็นคุณค่าในตัวเอง คือ กิจกรรมปลาทู 4 เข่ง โดยจะเล่าเรื่องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าแม้แต่คนที่ติดคุก หรือเป็นขอทาน เขายังเหลือคุณค่าในตัวเอง ผู้สูงอายุอย่างเราก็ต้องมีคุณค่ามีข้อดีอยู่บ้าง จากนั้นจะให้ผู้สูงอายุจับคู่ มองตากัน แล้วลองบอกข้อดีกันมา โดยจะมีการเปรียบกับปลาทู 4 เข่ง คือ 1.ปลาทูหันหน้าเข้าหากัน หมายถึง เราเห็นข้อดีตัวเอง คนอื่นก็เห็น 2.ปลาทูหันหน้าไปทางเดียวกัน คือ เราเห็นข้อดีตัวเอง แต่คนอื่นไม่เห็น 3.ปลาทูหันหน้าทางเดียวกันอีกด้าน คือ เราไม่เห็นข้อดี แต่คนอื่นเห็น และ 4.ปลาทูหันหน้าออกจากกัน หมายถึง เราก็ไม่เห็นข้อดี เขาก็ไม่เห็น โดยเราจะอธิบายว่าปลาทูเข่งแรก แม้เราจะเห็นข้อดีตัวเอง และคนอื่นก็เห็น ก็ยังมีโอกาสเกิดความเครียด และซึมเศร้าได้ เพราะเราให้เขาชื่นชม รอให้เขาเห็นข้อดี แต่หากวันใดที่เขาไม่เห็นขึ้นมาก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้น การเห็นคุณค่าในตัวเองสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาเห็น แบบนี้จิตใจจะเป็นสุขมากกว่า

“อย่างป้าก็เห็นคุณค่าของตนเองที่ออกมาทำงานเพื่อสังคม รู้สึกว่าตนเองยังเป็นประโยชน์ ถึงเราจะแก่เราก็เป็นคนแก่อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหากผู้สูงอายุคนอื่นคิดได้เช่นนี้ก็จะเป็นการยกระดับจิตใจตัวเองขึ้น จิตใจก็จะเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการรู้สึกว่าเราเป็นผู้ให้แก่คนอื่นก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีค่า อย่างเราเป็นคนแก่ไม่มีแรงไปไหน ก็อาจทำประโยชน์โดยการสอดส่องว่ามีใครแปลกหน้าเข้ามาในชุมชนหรือไม่ ช่วยเฝ้าระวังในชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจจะต้องทำความเข้าใจลูกหลานด้วยว่าอาจจะเบื่อกับสิ่งที่เราพูดหรือเล่า ก็อาจจะต้องปรับตัวเข้าหากัน”

นางรัชนี กล่าวว่า อีกสวนหนึ่งก็คือ ลูกหลาน ก็เช่นเดียวกับผู้สูงอายุคือ จะต้องปรับตัวเข้ากับผู้สูงอายุด้วย อาจจะต้องทำความเข้าใจต่อธรรมชาติของผู้สูงอายุว่าเขาเป็นเช่นไร เอาใจเขามาใส่ใจเรา นึกถึงจิตใจของผู้สูงอายุบ้าง ที่สำคัญคือ ต้องสื่อสารกันให้มากขึ้น เพราะบางครอบครัวลูกหลานกับผู้สูงอายุก็แทบไม่ได้พูดคุยกัน ซึ่งการสื่อสารความต้องการกันแต่ละฝ่ายมากขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหาลงได้ อย่างเทศกาลสงกรานต์นี้ ซึ่งวันที่ 13 เม.ย.ถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย จึงอยากให้แต่ละครอบครัว ทั้งผู้สูงอายุ และลูกหลานสื่อสารกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกหลานเอาใจใส่ผู้สูงอายุให้มาก

ประเด็นสำคัญคือ ไม่ใช่ใส่ใจแค่วันที่ 13 เม.ย.เท่านั้น แต่ขอให้เป็นวันเริ่มต้นที่จะเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ และทำไปตลอด เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ ขอให้ให้วันดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ เห็นคุณค่าในตัวเอง ทิ้งความปวดร้าว ความเหงา ความซึมเศร้าที่มี แล้วมาเป็น “ผู้เฒ่า” ที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดไปจะดีกว่า

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




นางรัชนี แมนเมธี
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น