xs
xsm
sm
md
lg

“โรคเดือนห้า”...พาย้อนความหลัง ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


อัตราฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากจนน่าตกใจ ข่าวของ BBC รายงานว่า อัตราของญี่ปุ่นสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยสูงกว่าอังกฤษ 3 เท่า ตัวอย่างสถิติชี้ว่า คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายในปี 2557 เฉลี่ยวันละ 70 คน!

หลายคนมองว่านอกจากปัจจัยส่วนตัวแล้ว ปัจจัยด้านวัฒนธรรมก็มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ในสมัยโบราณ วิถีปฏิบัติของซะมุไรเชื่อว่าการฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้องถือว่าเป็นเรื่องน่ายกย่อง หรือแม้แต่สมัยนี้ ในภาพยนตร์ก็ยังมีตัวละครที่ปลิดชีวิตตัวเองเพื่อหนีปัญหาให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่ในปัจจุบัน การฆ่าตัวตายไม่ใช่เกียรติยศแต่อย่างใด และกลับกลายเป็นปัญหาสังคมที่น่าเป็นห่วง
ภาพวาดพิธีคว้านท้องสมัยเอะโดะ
ภาพวาดการเผาศพสมัยเอะโดะ
จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมสถิติการฆ่าตัวตาย พบว่า ในช่วง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2521-2540 แต่ละปีมีคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายประมาณ 20,000 คน ปี 2541 เป็นปีแรกที่มียอดเกิน 30,000 คน และเป็นเช่นนั้นมาสิบกว่าปี อย่างปี 2549 มีคนฆ่าตัวตาย 32,155 คน ปี 2551 มี 32,249 คน เพิ่งจะเริ่มต่ำกว่า 30,000 คนติดกัน 4 ปีเมื่อปี 2555 นี้เอง คือ 27,258 และในปี 2558 มี 24,025 คน ซึ่งก็ยังเยอะอยู่นั่นเอง

จำนวนนี้สูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติหตุจราจรทั้งปีเสียอีก ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ละปีมีไม่ถึง 10,000 ราย สาเหตุใหญ่ที่สุดของการฆ่าตัวตายคือปัญหาสุขภาพ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะปัญหาทางกาย แต่มีปัญหาทางจิตอันเกิดจากโรคซึมเศร้าด้วย สหประชาชาติก็ระบุว่า 90% ของการฆ่าตัวตายเกี่ยวข้องกับความป่วยไข้ทางจิต

ผมเคยได้ยินคำว่าซึมเศร้ามานาน แต่เพิ่งใส่ใจเมื่ออยู่ในญี่ปุ่นเพราะตัวเองเจอสภาพแบบนั้นบ่อยขึ้นและมีเพื่อนญี่ปุ่นที่เป็นโรคนี้ พอความซึมเศร้ากลายเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงหาความรู้ไว้จัดการกับตัวเองและเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เพื่อนที่เป็น

ทุกปีเมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูเรื่อยไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ผมมักไม่สบายบ่อยและซึมเศร้าได้ง่าย แต่ก็วินิจฉัยตัวเองได้ว่า ความหดหู่ที่ก่อตัวสะสมมาช่วงหนึ่งจะสลายไปโดยเร็ว จนกระทั่งมีครั้งนั้น...ครั้งที่ประสบความเศร้ารุนแรงเมื่อได้รับโทรศัพท์จากมะซะฮิโระ...เป็นความเศร้าที่ทำให้ผมซึมนานกว่าปกติ

ไปลาเค็นผู้ซึมเศร้า

พอได้รับโทรศัพท์จากมะซะฮิโระแล้ว ผมจำต้องลงใต้ เพื่อนร่วมทางคือทะไกซึ่งเพิ่งรู้จัก เรามีเป้าหมายร่วมกันคือจะไปหาเค็น ในยามนี้ ระยะเวลาราวห้าชั่วโมงบนรถไฟชิงกันเซ็งที่นั่งสบาย กลับกลายเป็นเวลาที่ยาวนานยิ่งนักในความรู้สึกผม

ในสถานที่จัดงานซึ่งเรียกว่า “ไซโจ” (斎場;saijō) มีรูปเค็นจัดเป็นซุ้มให้แขกดู เค็นผู้มีความเป็นมิตรและตั้งใจไปเรียนเพื่อหาความรู้ในออสเตรเลีย ตอนนี้ได้กลับแดนเกิดของตัวเองแล้ว ก่อนไปออสเตรเลีย ผมช่วยเค็นเตรียมตัวสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เรามีความสนใจคล้ายกัน เค็นคือคนที่ถ่ายรูปลงหนังสือเล่มแรกในโลกการเขียนของผม ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากเค็น เค็นก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากผม ด้วยลักษณะของเค็นที่ผมและเพื่อนๆ สัมผัสได้ ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะไม่สบายหนักเมื่อไปออสเตรเลีย เค็นไม่มีทีท่าว่าจะเป็นคนอ่อนแอ แต่การที่เขาไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ และฟังภาษาอังกฤษไม่เข้าใจ ทำให้สภาพจิตใจเริ่มย่ำแย่และไม่สบายในที่สุด จนกระทั่งพ่อกับแม่ต้องไปรับเขากลับมา

ผมเข้าไปทักทายพ่อแม่ของเค็นและเพื่อนๆ ที่มาก่อนหน้า เพื่อนๆ ที่มารวมตัวกันวันนี้มีทั้งคนที่ผมรู้จักและไม่รู้จัก นอกจากคำทักทายเพียงไม่กี่คำแล้ว ทุกคนมีคำพูดคุยต่อกันไม่กี่มากน้อย จากนั้นผมเดินเข้าไปทักทายเค็น แล้วกลับมานั่งอยู่ระหว่างมะซะฮิโระกับทะไก กลิ่นธูปตรลบไซโจ ผ้าเช็ดหน้าสีดำของผมชื้น บางขณะ บทสนทนาแจ้งข่าวผ่านโทรศัพท์จากมะซะฮิโระยังผุดขึ้นมาในใจตอนที่ผมนั่งมองเจ้าของเรื่องซึ่งแน่นิ่งอยู่เบื้องหน้า

“มีเรื่องอะไรไม่ดีล่ะ?”
“เรื่องเค็น” มะซะฮิโระเอ่ยชื่อออกมา
“ทำไม? เค็นทำไมเหรอ?”
“เค็นเสียแล้วนะ”

ความตายคือความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ผมนิ่งอั้นอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะละล่ำละลักยืนยันกึ่งตำหนิ
“เฮ้ย เรื่องอย่างนี้อย่าทำเป็นล้อเล่นนะ”
“เค็นเสียแล้วจริง ๆ”
“ทำไม เป็นอะไร? อุบัติเหตุเหรอ? เกิดอะไรขึ้น?” จำไม่ได้ว่าถามคู่สายด้วยคำถามแบบนี้ไปกี่ครั้ง แต่ความจริงก็คือความจริง และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผมต้องไปฟุกุโอะกะเพื่อร่ำลาเพื่อนเป็นครั้งสุดท้าย...ไปลาร่างไร้วิญญาณของเค็นที่พ่อแม่เพิ่งไปรับกลับมาจากออสเตรเลีย
ภาพตัวอย่างอาคารฌาปนกิจในปัจจุบัน (ภาพจาก Toda Sōsaijō  http://www.toda-sousaijyo.co.jp)
งานสวดศพแบบญี่ปุ่นมีพระเพียงรูปเดียวมาสวด เมื่องานสวดสองคืนผ่านพ้นไป ผมยังอยู่ร่วมพิธีเผาซึ่งจัดในวันรุ่งขึ้น คนญี่ปุ่นปัจจุบันไม่จัดพิธีฌาปนกิจที่วัด ดังนั้น วัดของญี่ปุ่นจึงไม่มีเมรุ การเผาศพจะมีสถานที่ต่างหาก เมื่อถึงวันเผา รถสีดำพาร่างเค็นไปยังอาคารฌาปนกิจ ราวสองชั่วโมง ร่างเค็นสลายเหลือแต่เถ้าถ่าน ญาติและเพื่อนของเค็นซึ่งยืนล้อมรอบฐานตั้งศพซึ่งตอนนี้มีแต่เถ้ากระดูกกองอยู่ ใช้ตะเกียบคีบผงกระดูกส่งให้แก่กันแบบปลายตะเกียบต่อปลายตะเกียบ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น ผมไม่อยากอยู่ในฟุกุโอะกะอีกต่อไป จึงมุ่งหน้ากลับโตเกียวโดยเร็วพร้อมกับความรู้สึกในใจคือ ‘ชีวิตคนเราก็เท่านี้’ แต่ยังอดนึกไม่ได้ว่า เค็นไม่น่าคิดสั้นเลย

เราจากกันครั้งแรกหลังจากดูซูโม่ จากกันเกือบจะเป็นครั้งสุดท้ายในงานเลี้ยงส่งเค็นไปเรียนที่ออสเตรเลีย และจากกันครั้งสุดท้ายจริงๆ ที่ฟุกุโอะกะขณะที่ร่างของเค็นกลายเป็นเถ้ากระดูก...เถ้ากระดูกของคนที่ผจญกับโรคซึมเศร้าเพียงลำพังจนถึงขั้นผูกคอตาย

หน้ากระดาษแห่งเวลาของผมในช่วงนั้นเป็นสีดำ แต่เมื่อมองลึกลงไป ภายใต้สีดำนั้นมิตรภาพและความทรงจำที่คนญี่ปุ่นคนหนึ่งกับคนไทยคนหนึ่งมีร่วมกันยังแจ่มชัดอยู่ ชีวิตเค็นหรือชีวิตใครก็คงหนีไม่พ้นวัฏจักรการเกิดดับ

ที่ญี่ปุ่น ผมได้เห็นทั้งดอกซากุระและชีวิตของคนซึ่งสิ้นสุดลงอย่างคาดไม่ถึง จึงทำให้ตอนนี้จิตใจสามารถตั้งรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้อย่างมีสติมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีหรือโศกเศร้า ดีใจเมื่อไรก็รู้ตัวว่าความรู้สึกแบบนี้จะอยู่กับเราไม่นาน หรือซึมเศร้าเมื่อไรก็รู้ตัวว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป เสียดายอยู่อย่างเดียวที่เค็นเพื่อนผมรู้ไม่เท่าทันความไม่เที่ยงของความรู้สึกเหล่านี้ จนถลำตกไปอยู่ใต้อิทธิพลของจิตใจที่เศร้าหมอง และตัดสินใจจากโลกนี้ไปอย่างขาดสติ

ชีวิตคนก็เหมือนดอกซากุระ ผลิดอก แย้มบาน ถูกลม ถูกฝน ร่วงหล่น แต่แม้กระนั้น ร่องรอยแห่งความงามของชีวิตก็มักได้รับการกล่าวถึง เช่นเดียวร่องรอยแห่งความงามของดอกซากุระที่ยังมีคนนึกถึงอยู่ตลอดเวลา ระยะนี้ผมก็หวังว่า เมื่อเข้าสู่เดือนหก ความซึมเศร้าเหงาหงอยจากโรคเดือนห้าจะผ่านพ้นไปกับเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของฤดูใบไม้ผลิ และหวังว่าจะไม่มีโรคเดือนหก เดือนเจ็ด หรือเดือนไหนๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อมั่นคือ รอยอาลัยในใจที่มีต่อชีวิตคนที่ได้พานพบและต่อความงามของดอกซากุระซึ่งถึงแม้จะเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิแต่ก็ไม่ยั่งยืนนั้น จะลึกซึ้งและสว่างไสวอยู่ในใจเมื่อหวนนึกถึง...ไม่ว่าจะเดือนไหนๆ

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น