ญี่ปุ่นเดินหน้าสู่การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ปี 2020 อย่างเต็มตัว โดยคาดหวังว่ามหกรรมกีฬานี้จะช่วยเสริมแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังอาจช่วยญี่ปุ่นกอบกู้ภาวะซบเซาที่ยาวนานกว่า 10 ปี ที่ถูกเรียกขานว่า “ทศวรรษที่สูญหาย” อีกด้วย
หลังจากเผชิญอุปสรรคสารพัดเรื่องงบประมาณก่อสร้างสนามกีฬาที่แพงมหาศาล ไปจนถึงข้อครหาเรื่องการลอกเลียนแบบโลโก้การแข่งขัน ทำให้การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของกรุงโตเกียวต้องนับหนึ่งใหม่หลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็สามารถเดินหน้าสู่การเตรียมพร้อมรับโครงการใหญ่ ที่ไม่เพียงเป็นแค่มหกรรมกีฬา แต่ยังเดิมพันถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและชื่อเสียงของแดนอาทิตย์อุทัยด้วย
การได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ปี 2020 ของกรุงโตเกียว อาจเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดของชาวญี่ปุ่น ที่แทบจะสูญสิ้น “แรงบันดาลใจ” ในชีวิตหลังจากติดหล่มภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมานานกว่า 10 ปี
ชาวญี่ปุ่นเปรียบเปรยการที่กรุงโตเกียวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกว่า เป็นเสมือนดั่งประตูน้ำที่เปิดกว้างและกระแสน้ำปริมาณมหาศาลเริ่มไหลเข้ามาที่ญี่ปุ่น ซึ่งผืนดินกำลังแห้งผากและผู้คนไม่มีความเชื่อมั่นอีกต่อไป ทั้งจากเศรษฐกิจที่ซบเซา และยังถูกซ้ำเติมด้วยเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ทางภาคตะวันออกเมื่อ 6 ปีก่อน รวมทั้งการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์สาเหตุที่ กรุงโตเกียวจึงได้รับเลือกว่า กรุงโตเกียวได้วางแผนอย่างพิถีพิถัน โดยใช้บทเรียนจากความพ่ายแพ้ในความพยายามครั้งก่อนหน้า
ขณะเดียวกันโตเกียวก็เป็น “ตัวเลือกที่เหมาะที่สุด” เพราะ สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล มีความกังวลเกี่ยวกับสองคู่แข่ง คือมีความไม่แน่นอนทางการเงินที่รุมเร้ากรุงมาดริดของสเปน ขณะที่นครอิสตันบูลของตุรกีนั้นก็มีความเสี่ยงเรื่องการก่อการร้าย และมักมีกรณีนักกีฬาใช้สารกระตุ้นด้วย
คนที่ดีใจที่สุดในชัยชนะของกรุงโตเกียว น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ เพราะโอลิมปิก 2020 ได้เข้ามาเติมเต็มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “อะเบะโนมิกส์” ของเขาอย่างราวกับถูกรางวัลแจ็คพ็อต
ในวันที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลประกาศผลนั้น ดัชนีหุ้นนิเคอิปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 1 เดือน มีคำสั่งกว้านซื้อหุ้นในกลุ่มบริษัทก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์อย่างคึกคัก จากการคาดการณ์ว่าการลงทุนด้านสาธารณูปโภคจะขยายตัว ขณะที่มูลค่าหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทางการกรุงโตเกียว ประเมินว่าการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าราว 3 ล้านล้านเยน หรือ 1 ล้านล้านบาท ทั้งในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค และการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่มากกว่าโอลิมปิกที่กรุงลอนดอนและกรุงปักกิ่ง
นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ กล่าวว่า ผลดีจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก อาจเป็นเสาหลักต้นที่ 4 นอกเหนือจากเสาหลัก 3 ต้นของ "อะเบะโนมิกส์" ซึ่งก็คือ การลดค่าเงินเยน อย่างมหาศาล , นโยบายการคลังที่ยืดหยุ่น และยุทธศาสตร์กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เพราะ “อะเบะโนมิกส์” ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะส่งผลทางเศรษฐกิจต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงปี 2020
อย่างไรก็ตาม สโลแกนของญี่ปุ่นที่ว่า “โอลิมปิกที่ปลอดภัย” นั้นถูกท้าทายอย่างหนักจาก การรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
นายกรัฐมนตรีอะเบะ เคยยืนยันกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลว่า กรุงโตเกียวไม่ได้รับ “ผลกระทบแม้เพียงเล็กน้อย” จากการรั่วไหลของสารกัมมันภาพรังสี และรัฐบาลสามารถจำกัดการรั่วไหลอยู่ภายใน 0.3 ตารางกิโลเมตรของท่าเรือในโรงไฟฟ้า แต่จนถึงทุกวันนี้ การรั่วไหลของสารรังสีที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะยังเป็นกรณีอื้อฉาวที่จบไม่ลง แล้วผู้นำญี่ปุ่นจะให้ความมั่นใจกับนักกีฬาและนักท่องเที่ยวอย่างไร ถึงความปลอดภัยของอาหารและสภาพแวดล้อมในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ?
ขวากหนามอีกอย่างหนึ่งในการเป็นเจ้าภาพ “กีฬาแห่งมิตรภาพของมวลมนุษยชาติ” คือ ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้าน โดยหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ซื้อเกาะเซ็นกากุ หรือเตี้ยวอี๋ว์ มาเป็นของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน ญี่ปุ่น รวมทั้งเกาหลีใต้ ได้ตึงเครียดอย่างหนัก
ทุกวันนี้เรือลาดตระเวนของจีนได้รุกล้ำเข้ามายังน่านน้ำใกล้พื้นที่พิพาทเป็นประจำ กองทัพจีนได้ส่งเครื่องบินไร้คนขับ บินเข้าใกล้น่านฟ้าญี่ปุ่นเหนือทะเลจีนตะวันออก ทำให้ญี่ปุ่นต้องส่งเครื่องบินไอพ่นขับไล่ขึ้นบินเพื่อเฝ้าสังเกตเส้นทางบินที่ไม่ปกติของเครื่องบินจีน
รัฐบาลญี่ปุ่นยัง “เติมเชื้อไฟ” โดยบอกว่า พร้อมจะสอยเครื่องบินจีนลงมาหากรุกล้ำจากน่านฟ้าของญี่ปุ่น ทำให้กองทัพจีนเดือดดาลอย่างมาก ขณะที่แม้แต่นักกฎหมายของญี่ปุ่นเอง ก็ยอมรับว่าญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายรองรับให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารได้
ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างรุดหน้าภายหลังสงครามโลก ทำให้ไม่มีใครสงสัยใน “ศักยภาพทางเศรษฐกิจ” ของญี่ปุ่นที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่การกอบกู้ “ทศวรรษที่สูญหาย” ของญี่ปุ่นนั้น ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เพียงเพราะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์
สิ่งที่ญี่ปุ่นต้อง “กอบกู้” ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความไว้วางใจของเพื่อนบ้าน รวมทั้งความมั่นใจและภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่นเองด้วย.