จิตแพทย์ชี้ อ่าน “หนังสือฆาตกรรม” มีส่วนช่วยก่อความรุนแรง แม้แต่คนปกติ ชี้ กลุ่มเสี่ยงเคยมีประวัติก่อความรุนแรง ยิ่งกระตุ้นการลงมือ
จากกรณีคดี นายอาเธอร์ เซการ์รา ปรินเซป หรือ อาร์ตูร์ ผู้ต้องหาฆ่าหั่นศพ นายดาวิด เบอร์นาร์ด อายุ 43 ปี สัญชาติสเปน ที่ปรึกษาบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนนำชิ้นส่วนศพโยนทิ้งในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบหนังสือเกี่ยวกับวิธีชำแหละศพภายในห้องพักของนายอาเธอร์ที่คอนโดมิเนียมย่านพระราม 9
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการลอกเลียนแบบฆาตกรรมจากหนังสือต่าง ๆ ว่า หนังสือหรือนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง หากเป็นคนกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติก่อความรุนแรง คนที่อยู่ในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงมานาน หนังสือนวนิยายเหล่านี้จะมีผลต่อพฤติกรรมการการแสดงออกด้วย ทำให้ได้เห็นวิธีการก่ออาชญากรรม และกระตุ้นเกิดการลอกเลียนแบบได้ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน เช่น บางคนมีความแค้นกันมา บางคนมีความประสงค์ในทรัพย์สินของคนอื่น ๆ จะมีผลให้ลงมือกระทำความรุนแรงได้ ส่วนคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยงเรื่อครอบครัว หรือความเจ็บปวดในอดีตมาก่อน เมื่ออ่านหนังสือแนวนี้มาก ๆ ก็มีผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การลอกเลียนแบบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเด็กวัยประถมศึกษา ซึ่งกระบวนการคิด วิเคราะห์ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้กระทำการบางอย่างโดยไม่ได้คาดการณ์ผล เพียงแค่ต้องการลอกเลียนแบบเท่านั้น
“กรณีผู้ที่มีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรงนั้น หากยังรู้ตัวจะต้องหาทางออกเพื่อบำบัดพฤติกรรมของตัวเอง คนรอบข้างต้องช่วยเหลือ ถ้ายังรู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้ต้องมาพบแพทย์เพื่อช่วยเรื่องการปรับพฤติกรรม” พญ.พรรณพิมล กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่