เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด หากแต่ราคาสินค้าในแต่ละสถานที่ในญี่ปุ่นแตกต่างกัน “โต๊ะญี่ปุ่น” ได้รวบรวมเคล็ดไม่ลับในการหา ”ของดีราคาสุดคุ้ม?” เพื่อช่วยให้การช็อปปิ้งที่ญี่ปุ่นคุ้มค่ายิ่งขึ้น
การช็อปปิ้งที่ญี่ปุ่นจะว่าง่ายก็ง่ายเพราะมีร้านค้าอยู่แทบทุกมุมถนน สินค้าแทบทุกอย่างหาซื้อได้อย่างง่ายดาย แต่ราคาสินค้าในแต่ละสถานที่ของญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน ดังนั้น “ซื้อถูกที่” จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการได้ของดีราคาสุดคุ้มที่ญี่ปุ่น
ราคาสินค้าในญี่ปุ่นไม่เพียงแตกต่างกันตามเมืองต่างๆ เช่น กรุงโตเกียวราคาสินค้าแพงกว่าเมืองอื่นๆ, ร้านขายของในสถานที่ท่องเที่ยวแพงกว่าในย่านชุมชน แต่ที่สำคัญคือ สินค้าชนิดเดียวกันยังมีราคาแตกต่างกันตามสถานที่ซื้อ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านขายยา, ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งซื้อจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติด้วย
ตัวอย่างเช่น น้ำดื่มที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อราคาขวดละ 130 เยน แต่หากซื้อที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตอาจมีราคาเพียงแค่ 80 เยนเท่านั้น ส่วนต่างราคาอาจแค่ 50-200 เยน แต่หากเทียบกับราคาของ 100-500 เยนแล้ว จะพบว่าแพงกว่าถึง 20-50% ทีเดียว
“ซื้อถูกที่” ของเหมือนกัน ประหยัดสตางค์
1. ที่ญี่ปุ่นไม่มี “ร้านเดียวที่ราคาถูกทุกอย่าง” โดยร้านแต่ละประเภทจะขายสินค้าราคาถูกเฉพาะอย่าง เช่น เครื่องสำอางค์ซื้อที่ร้านขายยาจะถูกกว่า, ขนมซื้อที่ร้านขายส่งจะราคาถูก, เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ควรซื้อที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารควรซื้อที่ซุปเปอร์มาเก็ต การซื้อสินค้าในร้านผิดประเภท บางกรณีอาจได้ราคาที่แพงกว่าถึง 20-30%
2. ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11, Lawson, Family mart สินค้าแทบทุกอย่างจะแพงกว่าร้านอื่น ยกเว้นสินค้ายี่ห้อของร้านเองจึงจะราคาถูกกว่า
3. ขนมและอาหารที่ร้านสะดวกซื้อ (ตามความเห็นของคนญี่ปุ่น) 7-11 อร่อยและหลากหลายที่สุด ส่วน Lawson, Family mart อาจลดราคาขนมปังและข้าวกล่องในช่วงเย็น แต่ 7-11 ไม่มีนโยบายลดราคาแม้ว่าจะใกล้หมดอายุก็ตาม
4. ตู้จำหน่ายอัตโนมัติในแต่ละสถานที่ราคาไม่เท่ากัน ตามสถานีรถไฟและย่านท่องเที่ยวราคาจะแพงกว่า ราว 30-70 เยน
5. สินค้าของที่ระลึกซึ่งขาย ณ แหล่งท่องเที่ยวมักมีราคาแพง และไม่ได้ดีเด่นอะไร เป็นเพียงสินค้าที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น
6. แหล่งช็อปปิ้งชื่อดังที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกัน บางครั้งไม่ได้มีสินค้าที่ดีจริงหรือราคาคุ้มค่าจริง เพียงแต่มีความสะดวกในการสื่อสาร หากมีโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นช่วยพาไปสถานที่ที่ชาวญี่ปุ่นจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวันจริงๆ จะช่วยให้ได้ของที่เป็นเอกลักษณ์ญี่ปุ่นจริงๆ
7. ร้านค้าบางแห่งสามารถให้ “ส่วนลดพิเศษ” เพิ่มเติมจากราคาที่ติดป้ายไว้ในบางกรณี ส่วนลดพิเศษนี้ไม่ใช่การ “ต่อราคา” หากแต่พนักงานขายจะช่วยหาโปรโมชั่นบางอย่างที่ลูกค้าไม่ทราบ เช่น ราคาจากอินเตอร์เน็ต, ราคาขายส่ง หรือ ราคาพิเศษสำหรับลูกค้าเฉพาะราย
อย่างไรก็ตาม การลดราคาพิเศษเช่นนี้จะไม่สามารถใช้ร่วมกับการคืนภาษีได้อีก จึงต้องเปรียบเทียบว่าส่วนลดพิเศษที่ได้กับส่วนลดจากการคืนภาษีอย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน นอกจากนี้การขอร้องให้พนักงานขายช่วยหาส่วนลดพิเศษนั้นจำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับที่ดีพอสมควร
8. ทำความเข้าใจกับมาตรการคืนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว โดยหลายพื้นที่ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้นักท่องเที่ยวสามารถรวมใบเสร็จจากการซื้อสินค้าหลายร้านได้ แต่บางที่ยังจำเป็นต้องซื้อจากร้านเดียวกันเท่านั้น
อ่านรายละเอียดได้จากข่าวย้อนหลัง พลิกคู่มือช็อปปิ้งปลอดภาษีที่ญี่ปุ่น
9. ร้านค้าหลายแห่งนอกจากจะสามารถคืนภาษีในอัตรา 8% แล้ว ยังให้ส่วนลดเพิ่มอีก 5-6% จากบัตรเครดิต ซึ่งจากการสำรวจพบว่าบัตร VISA จะให้ส่วนลดมากกว่า นอกจากนี้ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเยนที่ดีกว่าบัตร Mastercard
10. ปกติแล้ว ญี่ปุ่นไม่สามารถ “ต่อราคา” ได้ แต่นักท่องเที่ยวสามารถทดลองขอให้ลดราคาได้ หากบางร้านอาจให้ส่วนลดเล็กน้อย หรืออาจได้รับของแถมเล็กๆน้อยๆ
นอกจาก “ซื้อที่ไหน?” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการได้ของดีราคาสุดคุ้มที่ญี่ปุ่นแล้ว “เลือกอย่างไร?” และ "ซื้อเมื่อไร?" ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะญี่ปุ่นมีสินค้าที่หลากหลายมาก และเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ติดตามได้ในตอนที่ 2 เร็วๆนี้.