เหตุระเบิดฆ่าตัวตายและยิงปะทะที่เกิดขึ้นใจกลางย่านธุรกิจของกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการก่อการร้ายสไตล์ “โจมตีปารีส” ที่สร้างความหวาดผวาไปทั้งภูมิภาค และเป็นสัญญาณเตือนว่ากลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่คุกคามตะวันออกกลางและโลกตะวันตกอาจไม่ใช่ภัยไกลตัวอีกต่อไป แต่กำลังแผ่ขยายสาขามาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รอบๆ บ้านของเรา
เหตุระเบิดและยิงต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เศษตามเวลาท้องถิ่น ใกล้กับห้างซารีนาห์ (Sarinah) บนถนน เอ็ม. เอช. ธัมริน ซึ่งเป็นศูนย์การค้าเก่าแก่ที่สุดในกรุงจาการ์ตา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย โดยเป็นคนร้าย 5 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราวๆ 20 คน
ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ได้ออกมาประณามการก่อเหตุครั้งนี้ว่าเป็น “การก่อการร้าย” ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มไอเอสที่ประกาศจัดตั้ง “รัฐคอลีฟะห์” ในอินแดนอิรักและซีเรีย ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในแดนอิเหนาซึ่งมีพลเมืองมุสลิมมากที่สุดในโลก
หลังเกิดเหตุระเบิดที่จาการ์ตาเพียง 2 วัน คอลิด อบูบาการ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซียก็ได้เปิดแถลงข่าวในวันเสาร์ (16 ม.ค.) กรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มติดอาวุธได้ที่สถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยชายคนดังกล่าวได้รับสารภาพว่า มีแผนก่อเหตุ “ระเบิดฆ่าตัวตาย” จริง
อบูบาการ์ เผยต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า ชายที่ถูกจับกุมเป็นชาวมาเลเซียวัย 28 ปี ซึ่งยอมรับว่ามีแผนระเบิดฆ่าตัวตายในแดนเสือเหลือง และกำลัง “รอคำสั่งจากสมาชิกไอเอสที่อยู่ในซีเรีย”
รายงานระบุว่า สถานีรถไฟฟ้าที่พบตัวคนร้ายอยู่ใกล้กับตึกแฝดเปโตรนาส (Petronas Twin Towers) ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ชาวต่างชาตินิยมไปเดินเที่ยว
อายูบ ข่าน มายดิน พิตเจย์ รองผู้อำนวยการหน่วยต่อต้านก่อการร้ายมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ของกลางที่พบภายในบ้านชายต้องสงสัยประกอบด้วยมีด และเอกสารที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์กับไอเอสในตะวันออกกลาง
สัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจเสือเหลืองยังได้จับกุมผู้ต้องสงสัยสนับสนุนไอเอสจำนวน 3 คนที่สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ โดยบุคคลทั้งสามถูกส่งตัวกลับมาจากตุรกี หลังพยายามลักลอบข้ามแดนไปยังซีเรีย
สื่อมาเลเซียยังรายงานข่าววัยรุ่นชายอายุ 16 ปี สวมเครื่องแบบคล้ายทหาร ใช้มีดจี้ตัวประกันในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งที่เมืองสุไหงเปตานี รัฐเกดะห์ ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติระบุว่า “จากการสอบสวนพบว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากไอเอสผ่านโซเชียลมีเดีย และต้องการพิสูจน์ว่าตนก็สามารถทำเช่นนั้นได้”
แม้ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ในมาเลเซียจะยึดหลักศาสนาอิสลามสายกลาง และไม่เคยมีเหตุก่อการร้ายรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การแพร่กระจายของค่านิยมสุดโต่งก็ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าแดนเสือเหลืองอาจกลายเป็น “แหล่งเพาะนักรบหัวรุนแรง” ในอาเซียน ขณะที่ทางการมาเลเซียเองก็ยอมรับว่า มีพลเมืองหลายสิบคนเดินทางไปจับอาวุธสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกไอเอสในซีเรีย
นักวิเคราะห์มองว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกซึ่งทำให้ไอเอสเริ่มสูญเสียดินแดนที่ยึดครองในอิรักและซีเรีย บีบให้พวกเขาต้องขยายสาขาออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ
นอกจากจะมีเครือข่ายนักรบพันธมิตรอยู่ในลิเบียและไนจีเรียแล้ว ไอเอสยังมุ่งขยายอิทธิพลต่อไปยังประเทศมุสลิม เช่น เยเมน โซมาเลีย และอัฟกานิสถาน โดยใช้รูปแบบการโจมตีที่โหดเหี้ยมเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อ และดึงแนวร่วมมาจากกลุ่มติดอาวุธคู่แข่งอื่นๆ เช่น ตอลิบาน เป็นต้น
เมื่อปลายปีที่แล้ว จอร์จ แบรนดิส อัยการสูงสุดออสเตรเลีย ก็ได้ออกมาเตือนว่า ไอเอสกำลังเล็งเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็น “รัฐอิสลาม” นอกดินแดนตะวันออกกลาง
“ยุทธศาสตร์ของไอเอสกำลังเปลี่ยนไป... พวกเขาต้องการตั้งสาขาของไอเอสขึ้นในดินแดนทั่วโลก ไม่ว่าจะฝรั่งเศส ยุโรป แอฟริกา ตุรกี รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย” ติโต การ์นาวิยัน ผู้บัญชาการตำรวจจาการ์ตา และอดีตผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านก่อการร้ายอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์
ทางการอิเหนาเชื่อว่า เหตุโจมตีกรุงจาการ์ตาน่าจะเป็นแผนของเครือข่ายนักรบไอเอสชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกตนเองว่า “กาตีบะห์ นูซันตารา” (กองกำลังแห่งหมู่เกาะ) ซึ่งมี บาห์รุม นาอีม เป็นหัวหน้า
เป้าหมายของ กาตีบะห์ นูซันตารา คือการเป็นตัวแทน “สาขา” ของไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นาอีม ซึ่งเวลานี้พำนักอยู่ในซีเรียถูกทางการอิเหนาเพ่งเล็งมาตั้งแต่ปี 2010 เป็นอย่างน้อย และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ อบู วัรดะห์ ซันโตโซ หัวหน้ากลุ่มมุญาฮิดีนอินโดนีเซียตะวันออก (MIT) ที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอเอส
ตำรวจอิเหนายังเชื่อว่า นาอีม ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเอ็มไอทีซึ่งมีฐานบนเกาะสุลาเวสี กับไอเอสในตะวันออกกลาง
สมาชิกส่วนใหญ่ของ กาตีบะห์ นูซันตารา เป็นชาวอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน บทบาทของนักรบกลุ่มนี้เริ่มเด่นชัดขึ้นในปี 2015 จากการช่วยพวกไอเอสบุกตีดินแดนในอิรักและซีเรีย
ทั้งนี้ หากพบหลักฐานยืนยันว่าเหตุระเบิดที่จาการ์ตาเป็นฝีมือ กาตีบะห์ นูซันตารา จะถือเป็นครั้งแรกที่นักรบกลุ่มนี้ได้ลงมือก่อการร้ายในบ้านเกิด
อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก เคยเผชิญเหตุระเบิดโจมตีโดยมุสลิมหัวรุนแรงหลายระลอกระหว่างปี 2000-2009 โดยเฉพาะเหตุระเบิดไนต์คลับบนเกาะบาหลีเมื่อปี 2002 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 202 ศพ ทว่าปฏิบัติการกวาดล้างอย่างจริงจังของตำรวจอินโดนีเซียก็ทำให้เครือข่ายนักรบหัวรุนแรงอ่อนกำลังลงไปมาก
ซิดนีย์ โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรก่อการร้ายในภูมิภาค ได้เขียนไว้ในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ กาตีบะห์ นูซันตารา เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้อินโดนีเซียแคล้วคลาดปลอดภัยตลอดช่วง 5 ปีมานี้ ก็เพราะกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่นมักวางแผนก่อการแบบเล็กๆ... แต่วันนี้ บาห์รุม นาอีม กับพวกของเขากำลังคิดการใหญ่”
แม้การถือกำเนิดขององค์กรก่อการร้ายระดับภูมิภาคจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลในอาเซียนต่างหวั่นวิตก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงชี้ว่า โอกาสที่อิสลามิสต์ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะรวมกลุ่มปฏิบัติการภายใต้องค์กรเดียวกันนั้นยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความแตกต่างในด้านแนวคิดและอุดมการณ์
“การตั้งเครือข่ายก่อการร้ายขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่อต้านก่อการร้ายจากกองทัพฟิลิปปินส์ให้สัมภาษณ์ พร้อมระบุว่ากลุ่มติดอาวุธมุสลิมในภาคใต้แดนตากาล็อกส่วนใหญ่ก็ยังคงเน้นลักพาตัวบุคคลเพื่อเรียกค่าไถ่เท่านั้น
“อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับพวกเขาก็คือ จะหาอามีร์ (ผู้นำ) ที่ทุกกลุ่มให้การยอมรับนับถือได้อย่างไร”