xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรับปีใหม่แบบคนญี่ปุ่น (2)

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


คืนวันสิ้นปีที่ญี่ปุ่น

แม้ว่า ‘ใหม่’ อาจไม่ได้หมายความว่าดีกว่าเก่าเสมอไป แต่ใครๆ ก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่ปีใหม่กำลังจะมาเยือน และเป็นเหมือนกันทุกประเทศ สังเกตได้จากความครื้นเครง ร้องเพลงจุดพลุฉลองไล่เรียงพื้นที่กันมาตามเวลาที่โลกหมุนเข้าสู่วันแรกของปี ญี่ปุ่นหรือไทยก็ฉลองกันไปตามแบบของใครของมัน แต่ถ้าพูดถึงความหลากหลาย ผมรู้สึกว่าปีใหม่ของแดนอาทิตย์อุทัยมีอะไรให้คนทำมากกว่า

ในปีแรก ด้วยความใหม่ต่อญี่ปุ่น แม้ประสบหลายเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่รู้สึกว่าพลาดไป ไม่เป็นไร...รอได้ อีกแค่ปีเดียว กะว่าจะเก็บเกี่ยวให้ครบถ้วนตามแบบญี่ปุ่นในคราวต่อไป และแล้วปลายปีก็เวียนมาถึงอีกครั้ง ในปีที่ 2 ความยุ่งยังมีเหมือนเดิม แต่เนื่องจากเสริมทักษะบริหารเวลาจนแก่กล้า กี่ปาร์ตี้ก็มาเถอะ ขอให้บอก สับหลีกไปได้ครบทุกงาน ปีนั้นผมจึงมีโบเน็งไกกับชินเน็งไก...นับได้ เก้าปาร์ตี้ที่มีทั้งกินฟรีและเสียเงิน ทั้งที่ได้รับเชิญและ “พรีเซ้นต์-เฟซ” ไปเองด้วยความสะ (-หมัก)ใจ!

หลังจากปีแรกๆ ผ่านไป ไม่ใช่ปาร์ตี้อย่างเดียวแล้วที่ผมทำตัวกลมกลืน แต่ยังคลุกคลีกับอย่างอื่นเชิงประเพณีตามที่คนญี่ปุ่นทำกันด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฮะสึโมเดะ, โมะชิสึกิ, โอะเซะชิเรียวริ, ฮะสึอุริ และฟุกุบุกุโระ ...ซึ่งเป็นหลายคำที่ไม่คุ้นเมื่อแรกได้ยิน แต่อยู่ๆ ไปก็ชินหูและน่าสนุกทุกปี
รายการประชันเพลงขาว-แดงของ NHK
วันที่ 31 ธันวาคมซึ่งเป็นวันสิ้นปี ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอมิโซะกะ” (大晦日;ōmisoka) ในคืนสิ้นปี คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่เข้านอนเร็ว แต่จะอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว รอคอยการเคานต์ดาวน์เปลี่ยนปี ผมไม่แน่ใจว่าการเคานต์ดาวน์ในเมืองไทยเริ่มมีตั้งแต่เมื่อไร จำได้ว่าตอนเด็กๆ ยังไม่คึกคักเฮฮากันอย่างในปัจจุบัน แต่ของคนญี่ปุ่นนั้น มีมานานมากแล้ว ระหว่างที่ผู้คนรอการเคานต์ดาวน์ โทรทัศน์ช่องต่างๆ ก็จะออกอากาศรายการพิเศษ รายการที่กลายเป็นประเพณีประจำวันสิ้นปีมาหลายทศวรรษตั้งแต่ปี 1951 คือ “การประชันเพลงขาว-แดง NHK” ซึ่งเป็นรายการเพลงที่ออกอากาศโดยบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งญี่ปุ่น หรือ NHK ศิลปินมากหน้าหลายตาจะมารวมตัวกันและแบ่งเป็นฝ่ายขาวกับฝ่ายแดง ชายอยู่ฝ่ายขาว หญิงอยู่ฝ่ายแดง ผลัดกันออกมาร้องเพลงของตนโดยมีผู้ชมในโรงคอนเสิร์ตลงคะแนนว่าฝ่ายไหนแสดงได้ถูกใจกว่ากัน รายการนี้ออกอากาศ 4 ชั่วโมงครึ่งตั้งแต่ทุ่มสิบห้าจนถึงห้าทุ่มสี่สิบห้า จากนั้น ในช่วง 15 นาทีสุดท้ายก่อนขึ้นวันใหม่ NHK จะตัดภาพไปที่วัดหรือศาลเจ้าแห่งต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นภาพการรอเคานต์ดาวน์ของประชาชนซึ่งเป็นบรรยากาศแบบขรึมๆ ไม่เอะอะมะเทิ่งเท่าไรแม้จะมีการกินเหล้าเพิ่มความอบอุ่นอยู่บ้างก็ตาม
คนญี่ปุ่นกินโซะบะในวันสิ้นปี
คนญี่ปุ่นกินโซะบะในวันสิ้นปี
ระหว่างที่สมาชิกครอบครัวพากันรอรับปีใหม่อยู่นั้น มักจะทำกิจกรรมอย่างหนึ่งคือ “กินโซะบะ” โซะบะคืออาหารประเภทเส้นชนิดหนึ่งของญี่ปุน คนไทยคงคุ้นชื่อ “ยะกิโซะบะ” กันดีอยู่แล้ว แต่โซะบะที่คนญี่ปุ่นกินในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ไม่ใช่ประเภทก๋วยเตี๋ยวผัด แต่เป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ และเรียกว่า “โทะชิโกะชิ โซะบะ” (年越し蕎麦;toshikoshi soba) หรือ “โซะบะส่งท้ายปี (เก่า)” กินเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะเชื่อว่าจะทำให้อายุยืนยาวเหมือนเส้นโซะบะที่ลีบๆ ยาวๆ เวลาที่แน่ชัดสำหรับการเริ่มกินนั้นไม่มีขนบตายตัว แต่ส่วนใหญ่มักจะกินตอนกลางคืนและกินให้เสร็จก่อนขึ้นวันที่ 1 มกราคม

ทันทีที่ถึงเที่ยงคืนซึ่งกลายเป็นวันที่ 1 มกราคม ทางวัดจะตีระฆัง ทีแรกที่ผมได้ยินเสียงจากวัดใกล้บ้าน ก็ไม่ทันได้นับว่ากี่ครั้ง นึกว่าพระจะตีระฆังตามใจชอบ เหนื่อยเมื่อไรก็หยุด แต่คนญี่ปุ่นบอกว่า จำนวนครั้งของเสียงระฆังคือ 108 ครั้ง เรียกว่า “โจะยะโนะกะเนะ” (除夜の鐘;joya no kane) ตีเพื่อขับไล่ “บนโน” (煩悩;bonnō) 108 อย่าง หรือ กิเลสร้อยแปด ตามคำสอนทางพุทธของญี่ปุ่น
ศาลเจ้าเมจิในช่วงเวลาปกติ
เมื่อเข้าสู่ปีใหม่ คนญี่ปุ่นเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่าจะต้องไป “ฮะสึโมเดะ” (初詣;hatsumōde) หรือ การไปสักการะศาลเจ้า (ชินโต) หรือวัด เป็นครั้งแรก ซึ่งนิยมไปในช่วง 3 วันแรกของปี หรือไม่เกินเดือนมกราคม สถานที่ที่มีคนไปฮะสึโมเดะมากที่สุดคือศาลเจ้าเมจิในกรุงโตเกียว อยู่ในย่านฮะระจุกุ เป็นศาลเจ้าที่ขึ้นชื่อมากเรื่องความแน่น...ไม่ใช่แม่น...ในช่วงฮะสึโมเดะ ครั้งแรกที่ผม “เสี่ยง” ไปกับเพื่อน เราไปถึงประมาณตี 1 ของวันขึ้นปีใหม่ เดินเข้าไปไม่กี่ก้าว พอได้เห็นหางแถวแล้วต้องผงะ เพราะยาวเป็นกิโล กว่าจะเข้าถึงตัววิหารได้คือตี 3 เจอแบบนี้เข้าไป ทีเดียวเข็ดเพราะหนาวเหลือทน แทนที่จะได้สุขะพละจากฮะสึโมเดะ พานจะฮัดชิ่วได้ทุกขะกับโรคะแทน สามปีให้หลัง ผมลองไปตอนกลางวันของวันที่ 5 มกราคม ปรากฏว่าแถวก็ยังยาวอีก อยู่เมืองญี่ปุ่น ย่อมอยากทำตัวให้กลมกลืนกับคนญี่ปุ่น แต่เมื่อเห็นอย่างนี้ ผมจึงจรลีไปศาลเจ้าใกล้บ้านแทน
ศาลเจ้าเมจิในช่วง “ฮะสึโมเดะ”
อาหารและการช้อปช่วงปีใหม่

ปีใหม่ญี่ปุ่นมีบรรยากาศที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนญี่ปุ่นใส่ใจเป็นพิเศษ นอกจากโซะบะในช่วงสิ้นปีแล้ว พอขึ้นปีใหม่จะถึงเวลาของโมะชิด้วย เสียงของคำนี้ถือว่าเป็นมงคลเพราะพ้องกับคำที่มีความหมายว่า “(มั่ง) มี” (โมะชิที่ว่านี้ไม่ใช่ขนมโมจิอย่างที่คนไทยรู้จัก แต่เป็นแป้งล้วนๆ ไม่มีไส้ครีม ไส้ถั่ว หรืออะไรทั้งสิ้น) การเตรียมโมะชิจะเริ่มตั้งแต่ก่อนสิ้นปีแล้ว และกว่าโมะชิจะกลายมาเป็นแป้งเหนียวๆ ปั้นเป็นรูปได้ ต้องผ่านการตำเมล็ดข้าวที่หุงแล้วให้แหลกเหนียวติดกัน เรียกการตำนั้นว่า “โมะชิสึกิ” (餅つき;mochi-tsuki) ซึ่งไม่ใช่งานเบา ถ้าใครเคยเห็นการตำข้าวเปลือกด้วยครกที่ได้จากการนำลำต้นของไม้ใหญ่มาคว้านไส้ให้เป็นหลุม แล้วใช้สากที่เป็นท่อนไม้ตำคงนึกภาพออก แต่การตำโมะชิต่างจากการตำข้าวเปลือก เพราะสิ่งที่อยู่ในครกคือแป้งเหนียวซึ่งจะหนืดและหนักขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ข้าวกลายเป็นแป้ง
การตำโมะชิ
ตอนนั้น ผมยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวาเซดะอยู่ มหาวิทยาลัยคงรู้ดีว่านักศึกษาต่างชาติเป็นพวกชอบลองของ ก่อนสิ้นปีจึงจัดกิจกรรมโมะชิสึกิขึ้นเพื่อให้ไปลองตำแล้วก็ให้กินกันตรงนั้นเลย ผมยกสากได้ไม่กี่ทีก็...พอกันที เพราะหนักเหลือกำลัง ส่วนนักศึกษาชาติรายอื่นที่ทำท่าดี...ก็ดีแต่ท่าเหมือนกัน วันนั้นจึงมีแต่คนนั่งรอกิน ไม่มีใครนั่งรอตำ เจ้าหน้าที่คงขำเพราะเห็นมองมาหลายทีแล้วส่งยิ้มให้ มหาวิทยาลัยมองการณ์ไกลอีกว่า พวกชอบลองมักเป็นพวกชอบหลบด้วย จึงติดต่อไหว้วานให้นักปล้ำซูโม่มาช่วยตำ เขามากันสองคน แต่ละคนสูงกว่าผมราว 10 เซนติเมตร ใหญ่ยักษ์พร้อมพรักด้วยกำลังขนาดที่ยกผมขึ้นทั้งตัวได้ด้วยมือเดียว สองคนนั้นยกสากโขลกพรวดๆ เสียงสากกระทบแป้งดังป้าบๆ ได้ยินเสียงแล้วนึกสงสารแป้ง แต่นึกไปนึกมาสงสารท้องตัวเองมากกว่า จึงรอท่าจนเขาตำเสร็จแล้วลิ้มลองโมะชิที่ตัวเองมีส่วนช่วย (ให้กำลังใจ) ทุกวันนี้แม้ประเพณีโมะชิสึกิยังมีอยู่ แต่เอาเข้าจริง ครอบครัวญี่ปุ่นที่ตำโมะชิเองมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ซื้อแบบสำเร็จรูปมากินกันทั้งนั้น

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังเตรียมอาหารชุดพิเศษสำหรับกินในช่วงปีใหม่ด้วย นี่เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ นานจนคนญี่ปุ่นมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับช่วงเวลานี้และยังนึกสงสัยอีกว่าประเทศอื่นจะทำเหมือนกันหรือไม่ ผมถึงได้ถูกถามว่า

“ช่วงปีใหม่คนไทยกินอะไรกันเหรอ” ครอบครัวอุปถัมภ์และเพื่อนญี่ปุ่นถามผมหลายครั้งเพราะนึกเทียบกับโอะเซะชิเรียวริของญี่ปุ่น
โอะเซะชิเรียวริ” อาหารปีใหม่ของญี่ปุ่น
โอะเซะชิเรียวริ (お節料理;o-sechiryōri) คือ อาหารชุดสำหรับปีใหม่ มีอาหารอยู่หลายอย่างในสำรับ แต่ละอย่างสื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น เช่น โซนิ (雑煮;zōni; โมะชิในน้ำซุป หมายถึง ความมั่งมี), กุ้ง (อายุยืน), ถั่วดำ (สุขภาพแข็งแรง), สาหร่ายคมบุ (ความปรีดา) เป็นต้น คนญี่ปุ่นเคยบอกผมด้วยว่า นอกจากเรื่องความเป็นมงคลแล้ว โอะเซะชิเรียวริยังมีประโยชน์ในแง่ที่ว่าเป็นการเตรียมอาหารล่วงหน้าไว้สำหรับ 4-5 วัน พอขึ้นปีใหม่ แม่บ้านจะได้ว่างและไม่ต้องทำอาหาร

ผมยังจำได้ว่าโอะเซะชิเรียวริมื้อแรกที่ได้กินนั้นอร่อยมาก เป็นฝีมือของคุณแม่อุปถัมภ์ที่ทำเองเกือบทุกอย่างในสำรับซึ่งเป็นเรื่องที่หาได้ค่อนข้างยากในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน ตอนนี้มีอาหารปีใหม่แบบสั่งทำสำเร็จรูปออกขายแพร่หลาย และผู้หญิงญี่ปุ่นที่ทำเองได้ทั้งหมดนั้นหายากมาก สำหรับตัวผมเอง คงเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปอยู่กับครอบครัวญี่ปุ่นที่มีคุณแม่บ้านเป็นครูสอนทำอาหาร เรื่องความอร่อยจึงรับประกันได้
โซนิ
ประเพณีการกินโอะเซะชิเรียวริมีมาตั้งแต่สมัยเฮอัง (平安;Heian; พ.ศ. 1337-1728) และคนญี่ปุ่นก็ยังกินอยู่ ถึงได้ถามผมว่าคนไทยทำอะไรแบบนั้นบ้างไหม แล้วผมจะตอบว่ากระไรในเมื่อไม่เคยฉุกคิดมาก่อนเลยว่าช่วงปีใหม่คนไทยกินอะไร ที่แวบขึ้นมาทีแรกคือกระยาสารท...เอ๊ะ แต่นั่นเป็นช่วงสารทไทย ไม่ใช่ปีใหม่อยู่ดี อ้ำอึ้ง...อยู่หลายนาที จะตอบว่าไม่มีก็ใช่ที่ จึงตอบไปว่า “ปีใหม่คนไทยกินเค้ก”

มีหรือที่คนญี่ปุ่นจะไม่งง ซักไซ้กันใหญ่ว่าทำไมต้องกินตอนปีใหม่ คนไทยไม่กินเค้กกันวันธรรมดาหรอกหรือ

“ไม่ใช่อย่างนั้นครับ วันปกติคนไทยก็กินเค้ก แต่ไม่รู้ยังไง พอใกล้ปีใหม่ ใกล้คริสต์มาส เค้กจะขายดิบขายดีเป็นพิเศษ อ้อ...อีกอย่างหนึ่งคือ ปีใหม่คนไทยกินเหล้า”

“โอะโมะชิโระอิ เนะ (面白いね;omoshiroi ne) – (เป็นเรื่องที่) น่าสนใจดีเนอะ” ...คือปฏิกิริยาที่ผมได้รับจากคนญี่ปุ่น เรื่องเหล้าคงเป็นที่เข้าใจได้ แต่เค้กกับเทศกาลปีใหม่เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นสงสัยว่ามันมาเกี่ยวกันได้ยังไง
โอะเซะชิเรียวริ” อาหารปีใหม่ของญี่ปุ่น
เทศกาลปีใหม่ของผมในญี่ปุ่นผ่านมาแล้วหลายหน ได้ลองมาแล้วหลายอย่างทั้งอาหารและบรรยากาศ จนได้ลองทำเรื่องที่ไตร่ตรองอยู่นาน...นานเพราะการที่จะทำเรื่องนี้ได้ต้องใช้งบประมาณ

ถ้าไม่นับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่แพงกว่าของไทย แต่ถ้าใครอยากได้ของถูกและดีต้องรอตอนปีใหม่ เพราะร้านค้าทั้งหลายจะขนของดีๆ ออกมาขายแบบสมนาคุณให้ลูกค้าเป็นครั้งแรกของปี เรียกว่า “ฮะสึอุริ” (初売り;hatsu-uri) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 หรือ 3 มกราคม และจัดรายการราวหนึ่งสัปดาห์ สินค้าที่นำออกมาขายจะบรรจุอยู่ในถุงปิดผนึกอย่างดีเรียกว่า “ฟุกุบุกุโระ” (福袋;fukubukuro) หรือ “ถุงโชคดี” โดยปกติคนซื้อจะไม่สามารถแกะออกมาดูได้ว่าในนั้นมีอะไร ใครซื้อไปก็จะได้ลุ้นกันว่ามีอะไรอยู่ข้างใน แต่ระยะหลังๆ ทางร้านต้องบอกลูกค้า ไม่งั้นอาจขายไม่ได้ โดยเฉพาะเสื้อผ้า ซึ่งจำเป็นต้องรู้ขนาด หรือสี สำหรับของบางอย่าง ไม่ต้องบอกคนก็ซื้อ เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าของที่ญี่ปุ่นค่อนข้างไว้ใจได้ จะไม่มีการนำแมวมาย้อมขายให้เสียชื่อ สินค้าดีๆ ของห้างดังก็จัดรายการกันทั่วญี่ปุ่น มีทั้งกล้องดิจิทัล เสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องประดับ เป็นต้น มูลค่าสินค้าที่อยู่ในถุงแพงกว่าเงินที่จ่ายไปอย่างแน่นอน ที่ร้านบางแห่งจึงมีคนไปตั้งแถวรอตั้งแต่กลางคืน คนต่างจังหวัดพากันมากรุงโตเกียวเป็นครอบครัวเพียงเพื่อมาซื้อถุงโชคดีก็มีไม่น้อย

ปีนั้นผมลงทุน 10,000 เยนซื้อถุงโชคดีที่มีเสื้อผ้า นั่นคือครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเพราะสินค้าข้างในได้ใจเหลือเกิน มีเสื้อแจ็กเก็ตฤดูหนาวดีๆ 2 ตัว, เสื้อเชิ้ต 1 ตัว, เสื้อนอกลำลอง 1 ตัว, เสื้อยืด 1 ตัว การจ่ายราคา 10,000 เยนในคราวเดียวอาจจะดูว่าแพงก็จริง แต่เมื่อประเมินสินค้าแล้ว ห้าตัวนี้รวมกันไม่น่าจะต่ำกว่า 20,000 เยน จึงเป็นการลงทุนสำหรับของขวัญปีใหม่ให้ตัวเองที่คุ้มค่า
“ถุงโชคดี” ในช่วง “ฮะสึอุริ”
“ถุงโชคดี” ในช่วง “ฮะสึอุริ”
“ถุงโชคดี” ในช่วง “ฮะสึอุริ”
ในระยะปีสองปีนี้ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาญี่ปุ่นมากมาย หลายคนจ้องจะมาดูดอกซากุระ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ผมเชื่อว่านอกจากช่วงซากุระบานแล้ว ปีใหม่ของญี่ปุ่นน่าจะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยชอบ โดยเฉพาะขาช้อปทั้งหลาย จึงขอแนะนำไว้ตรงนี้ว่าปีใหม่คือช่วงที่จะซื้อของได้อย่างสะใจและสบายกระเป๋ากว่าช่วงอื่น ถ้ามาโตเกียวก็จะเดินสะดวก ผู้คนเบาบางเพราะคนต่างจังหวัดกลับไปเยี่ยมครอบครัวกันมาก

ผมผ่านเทศกาลปีใหม่ของญี่ปุ่นมาสิบกว่าครั้ง ยังจำความตื่นเต้นของการรับโอะโตะชิดะมะครั้งแรกที่เป็นเงิน 7,000 บาทได้ เชื่อว่าต่อๆ ไป ก็จะมีอะไรที่เป็นสีสันให้ตั้งตารอทำในช่วงปีใหม่อีกแน่นอน และที่จะทำแน่ๆ สำหรับปีที่ 16 ในญี่ปุ่นเหมือนเช่นทุกปีคือ “Forget the past, start a new .....” สำหรับช่องว่าง คงจะปล่อยค้างไว้ เพราะยังไม่ได้ตัดสินใจ รอให้ถึงวันที่ 1 มกราคม แล้วผมจะเติมให้ครบครับ

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น