“บนทางเดินแห่งความฝันนี้ อาจไม่มีพรมแดงปูทาง...”
ธีมเพลงรายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังอย่าง Academy Fantasia ยังคงดังก้องในโสตประสาทของผู้สัมภาษณ์อยู่เสมอ เป็นเพราะว่าเพลงนี้กำลังบอกถึงเวทีแห่งความฝันของหลายๆ คนที่ได้ก้าวขึ้นไปบนเวที จับไมค์ และร้องเพลงให้กับผู้ชมได้ฟัง แต่ขึ้นชื่อว่าการประกวดร้องเพลงแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด บางคนยังเจิดจรัสและฉายแสดงอยู่ได้อย่างสวยงาม แต่อีกหลายคนก็หาทางเดินแห่งฝันใหม่ที่รออยู่ข้างหน้า เหมือนกับ เชฟตูน ธัชพล ชุมดวง ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นนักล่าฝัน V6 ในเวที AF มาก่อน
ครั้งนี้เขาเปิดตัวเองในเวทีใหม่ที่ใครหลายๆ คนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่น่าเชื่อ นักล่าฝันหนุ่มสุดหล่อคนนี้จะกลายมาเป็นสุดยอดเชฟมืออาชีพในที่สุด เปิดร้านของตัวเองในชื่อ Taper Restaurant & Bar แถมยังพ่วงหน้าที่ครูสอนทำอาหารในคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพอีก 1 ตำแหน่งด้วย
การร้องเพลงหน้าม่านของตูนอาจสิ้นสุดลงไปนานแล้ว แต่หลังม่านเวทีหลังจากนี้นี่สิ คือบทพิสูจน์ของจริงที่เชฟตูนต้องฝ่าฟันมาตลอดระยะเวลา 10 ปี พรมแดงชีวิตนี้กำลังจะคลี่ให้ท่านผู้อ่านเดินเข้าไปสำรวจชีวิตพ่อครัวหนุ่มผู้นี้แล้ว
ทันทีที่ผลักประตูกระจกใสเข้าไปร้านแห่งนี้ กลิ่นไม้จากโต๊ะและเก้าอี้ก็ดูตลบอบอวลไปทั่วทุกแห่ง ด้วยสไตล์ร้านที่จัดให้โมเดิร์น ดูสะอาดตา ทำให้ร้าน Taper Restaurant & Bar มีความโปร่ง สบายตา และน่านั่งเป็นที่สุด ภายในร้านมี 2 ชั้นให้ลูกค้าเลือกสรรที่นั่งได้ตามใจชอบ
เชฟตูนเดินมาจากหลังร้านหลังจากตรวจส่วนประกอบอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมเชิญชวนให้รับประทานอาหารของที่ร้านก่อนการสัมภาษณ์ โดยเขาเป็นผู้ลงมือทำด้วยตัวเอง
อย่างแรกที่นำมาเสิร์ฟเป็น World Famous Congee โจ๊กสบายท้องเพื่อสุขภาพ ข้าวที่นำมาทำเป็นโจ๊กได้สัมผัสนุ่มละมุนลิ้น ใครได้ชิมต่างต้องติดใจ ต่อไปเป็น Duck & Waffle เป็ดพะโล้เสิร์ฟกับวาฟเฟิล และซอสเคียง ไม่น่าเชื่อว่า จะเข้ากันได้เป็นอย่างดี บอกให้อีกนิดว่า วาฟเฟิลนุ่มมาก ขอบอก และสุดท้ายกับ Squid & Salted Egg พาสต้าปลาหมึกไข่เค็ม ใครที่ชอบปลาหมึกผัดไข่เค็มเป็นทุนเดิม รับรองคุณจะฟินยิ่งกว่าใคร
กว่าจะเป็นเชฟ
เมื่อพูดถึงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำครัว เชฟตูนหัวเราะก่อนยอมรับตรงๆ ว่า ความคิดนี้มีมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ใช่ว่าหลังประกวดร้องเพลงเสร็จ ถึงเพิ่งจะมานั่งคิดถึงอาชีพนี้
“เห็นคุณแม่ทำกับข้าวมาตั้งแต่เด็กแล้ว และผมเองชอบทำ โดยเฉพาะเวลาอยู่บ้านคนเดียวก็จะทำกับข้าวรับประทานเองแบบง่ายๆ ข้าวผัด มาม่าผัด ไข่เจียว ตามประสาเด็ก ด้วยความที่เป็นเด็ก ผมก็เลยคิดว่า ทำกับข้าวเป็นเรื่องง่าย หมูมากๆ สบาย ประกอบกับเป็นคนชอบกิน เลยยิ่งประจวบเหมาะกันใหญ่
“คือผมอยู่ในโลกของตัวเอง อยู่ในบ้านของตัวเอง ทำอาหารรับประทานเองคนเดียว และรสชาติอาหารก็ออกมาเข้าท่า เลยน่าจะลองเป็นเชฟดู รู้สึกแบบนั้นจริงๆ เวลาได้รับประทานอาหารหรือทำกับข้าว น่าจะสนุก และเป็นคนชอบรับประทานอยู่แล้วด้วย จึงลงล็อคหมดทุกอย่าง
“พอเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยจริงๆ ผมเลือกเรียนสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุด คือการโรงแรมและการท่องเที่ยว ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งถ้าอยากเป็นเชฟจริงๆ น่าจะไปเรียนที่อื่นมากกว่า แต่ผมมีความคิดว่า ให้ได้ปริญญาตรีจากที่นี่ก่อน จะได้รู้ว่าตัวเองชอบสิ่งนี้หรือเปล่า”
ช่วงใกล้จะจบ เชฟตูนฝึกงานที่โรงแรมสุโขทัย ตัดสินใจอยู่นานว่าจะฝึกแผนกไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความคิดของการเป็นเชฟก็ผุดขึ้นมาในตอนนั้นอีกครั้ง จึงได้โอกาสฝึกในตำแหน่งคนครัว และดูเหมือนว่า เขาจะชอบมันเสียด้วย
“ตอนฝึกงาน เขาบังคับว่าต้องไปฝึกที่โรงแรม แต่แผนกไหนก็ได้ ผมเลยตัดสินใจฝึกแผนกครัว จะได้รู้กันไปเลยว่า รอดหรือไม่รอด แต่ฝึกไปฝึกมา ผมกลับชอบมันมากๆ ถึงขนาดที่ปีสุดท้ายของการเรียน ผมบินไปหาเพื่อนที่นิวยอร์ก ไปดูโรงเรียนสำหรับการเป็นเชฟเอาไว้เลย แต่สุดท้ายชีวิตก็มาจับผลัดจับผลูติดเวทีการแข่งขัน Academy Fantasia เสียก่อน”
สภาพแวดล้อมในวงการบันเทิงใช่ว่าจะสวยหรูเสมอไป เมื่อเชฟตูนต้องเจอกับภาวะรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับหรือรุ่นน้องร่วมวงการ ทำให้เขาตัดสินใจค่อยๆ ถอยห่างจากวงการมากขึ้น และทุ่มเทกับการเป็นเชฟแบบเต็มกำลัง
“ตอนแรกๆ ที่อยู่มันสนุกมาก แต่พอหลังๆ มาความสนุกเริ่มหายไป คือผมไม่ชอบอะไรที่ยุ่งยากกับชีวิตมากนัก อย่างมีการรวมรุ่นเกิดขึ้น ผมก็เริ่มไม่อยากไป หรือแฟนคลับเข้ามาจู้จี้กับผม เช่น ไม่ใส่เสื้อที่ซื้อให้ เขาก็มาชี้หน้าว่าผม โดยเหตุการณ์ดังกล่าวกัดกร่อนหัวใจผมเรื่อยมา จึงพานให้เบื่อการร้องเพลงและวงการนี้ไปโดยปริยาย และค่อยๆ ถอยห่างออกมาในที่สุด
“จนกระทั่งวันหนึ่ง มีเพื่อนที่รู้จักกันมาเป็น 10 ปีแล้ว โทรศัพท์มาชวนไปเรียนที่ Culinary Institute of America หรือ CIA ในใจตอนนั้นผมคิดว่า จะเข้าได้เหรอ เพราะเขาต้องการคนมีประสบการณ์พอสมควร แต่ผมไม่มีเลย เคยแค่ผ่านการฝึกงานมาประมาณหนึ่ง แถมยังเป็นนักร้องอีก (หัวเราะ) คือไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการทำอาหารเลย ส่วนเพื่อนเป็นผู้หญิง เปิดร้านสลัด แต่ทำเป็นแค่น้ำสลัด ตอนนั้นคิดอยู่นานมาก จนสุดท้ายก็ตัดสินใจลองดู แล้วเขาเกิดรับเข้าเรียนขึ้นมา ตอนนั้นเริ่มไม่ขำล่ะ (หัวเราะ)”
นักเรียนเชฟ
‘Welcome to the CIA approved’
ประโยคนี้เป็นเหมือนประโยคประกาศิตที่เชฟตูนจะต้องเลือกว่า จะอยู่หรือจะไป หลังจากคิดอยู่นาน ในที่สุดเขาก็ได้คำตอบ
“ไป ตอนนั้นไม่รู้ว่า ไปเมื่อไหร่ แต่ใจผมไปอยู่ที่นั่นแล้ว พอได้จดหมายตอบรับมา ผมก็ลงไปบอกพ่อและแม่ว่า เขารับแล้วนะ และเขาก็เห็นด้วยที่จะให้ผมไป เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พ่อถามตลอดว่า เมื่อไหร่ลูกจะไปเรียน เนื่องจากคุณพ่อเป็นห่วงในความไม่มั่นคงของวงการบันเทิง พูดง่ายๆ คือ ถ้าเพื่อนไม่โทรศัพท์มาชวน ป่านนี้ผมก็อาจจะไม่ได้ยืนอยู่ตรงจุดนี้ก็ได้”
ชื่อเสียงและความดังของเชฟตูนตอนนั้น เรียกได้ว่า กำลังได้ที่เลย แต่เขาไม่นึกเสียดายแต่อย่างใดที่จะต้องสละตัวเองออกจากวงการบันเทิงไป
“ผมคิดว่า ถ้าทู่ซี้อยู่ไป มันก็มีแต่จะลงไปเรื่อยๆ เพราะอย่าลืมว่า เวทีการแข่งขัน Academy Fantasia มีอยู่ทุกปี ผมเป็นคนหนึ่งที่ร้องเพลงไม่ได้เก่งมาก ละครก็แสดงพอไปได้ ทำรายการอาหารก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับอาหารอีก คือจับฉ่ายและไม่สุดสักทางเสียที ทุกอย่างครึ่งๆ กลางๆ ไปหมด ประกอบกับเพื่อนชวนด้วย ก็เลยคิดว่า มุ่งมาทางนี้แหละ อย่างน้อยก็ยังพอมองเห็นอนาคตของตัวเองว่า จะทำอะไรต่อไป”
เชฟตูนตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง ขายรถ ขายทรัพย์สมบัติส่วนตัว เพื่อนำไปเป็นทุนเรียนทำอาหารที่นิวยอร์ก แต่พอไปเรียนจริงๆ ความรู้สึกแรกที่ชายหนุ่มคนนี้เจอ กลับเป็นความรู้สึกหลอนอย่างประหลาด
“คือผมห่างจากภาษาอังกฤษมานานมาก ต้องไปเรียนตั้งแต่คลาสพื้นฐานเลย แถมที่นี่มีคลาสเรียนเลขอีก แต่เป็นเลขที่ไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคิด เป็นเลขเกี่ยวกับอาหารล้วนๆ เป็นการคิดต้นทุน ราคา วัตถุดิบ เป็นการบวกลบแบบอาหาร ซึ่งผมรู้สึกไม่คุ้นชินเท่าไหร่ อย่างเช่น ซื้อแครอทมา ปอกเปลือกเรียบร้อยแล้ว เขาถามว่า น้ำหนักจากเปลือกที่เสียไป เป็นจำนวนเท่าไหร่ ผมนี่งงเลย (หัวเราะ) แต่ที่จะยากจริงๆ ก็คือ การเข้าครัวและทำงานแบบ Professional Kitchen
“เมื่อก่อนผมทำงานในโรงแรม ทำกับข้าวอยู่กับบ้านก็จริง แต่พอได้มาเรียนจริงๆ สู้ไม่ได้เลยกับที่ผมเคยเจอมาที่เมืองไทย เพราะเมืองนอกมีมาตรฐานที่ต่างกันมากๆ โดยเชฟที่นั่นคือของจริง ทำงานจริง โหดจริง”
เป็นระยะเวลา 2 ปีเต็มที่เชฟตูนตั้งใจเรียนทำอาหารอย่างเต็มที่ ประกอบกับได้วีซ่าทำงานถูกต้องตามกฎหมายอีก 1 ปี จึงทำให้พ่อครัวคนนี้ยังไม่เลือกที่จะบินกลับไทย แต่ขอใช้โอกาสตรงนี้ในการฝึกปรือฝีมือ
“เขาให้ผมหาที่ฝึกงานเอง ผมจึงตระเวนหาร้านฝึกงานในนิวยอร์ก เลือกอยู่หลายที่มาก จนไปเจอเข้ากับร้านหนึ่งที่ชิมอาหารของเขาแล้วโดนใจผมมาก เลยไปขอฝึกกับเขา ซึ่งเจ้าของเป็นเชฟมิชลินสตาร์ มีตำแหน่งรับประกันความอร่อย เขาบอกกับผมว่า ให้มาลองฝึกงานดู 1 วัน แล้วจะบอกว่า ไหวหรือไม่ไหว ได้หรือไม่ได้
“1 วันนั้นของผมเต็มไปด้วยความเหวอ เพราะว่าลูกค้าในร้านเยอะมาก พ่อครัวมีอยู่ 10 คน แต่ไม่เพียงพอสำหรับลูกค้า เพราะฉะนั้นความเร็วในการทำงานจึงจัดอยู่ในระดับนรก และในขณะเดียวกัน เชฟก็โหดมากในเรื่องของความสะอาดและระเบียบวินัย ผมมักจะโดนเชฟเอ็ดอยู่หลายครั้ง เพราะเผลอวางถาดอาหารไว้บนพื้น เชฟมาเห็นเข้า และไล่ผมกลับบ้านทันที”
ในใจคิดว่า เชฟตูนคงกลับแล้วกลับเลยไม่มาอีก แต่ผิดคาด วันรุ่งขึ้นเขากลับมาที่เดิม โดยชายหนุ่มเล่าว่า ระบบการทำงานภายในครัวของต่างประเทศไม่สามารถดื้อได้ สั่งอะไรคือ Yes Chef! คำเดียวเท่านั้น เป็นระบบแบบทหาร เขาบอกให้กลับก็คือกลับ วันรุ่งขึ้นก็มาทำงานเหมือนเดิม แต่อย่าลืมบอกขอโทษและย้ำกับเขาว่า จะไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก แล้วค่อยทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป
เชฟตูนบอกว่า นอกจาการทำอาหารแล้ว การทำงานที่เป็นระบบ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้มาจากการเรียนและการทำงานในต่างประเทศ
“เขาค่อนข้างแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน โดยเวลาทำงาน เขาจะสอนผมทั้งหมด ความสะอาด ความเร็วก็ต้องมีควบคู่กันไป และอีกอย่างก็คือ อย่าทำอย่างเดียว ในหัวต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่า จะทำอะไรต่อไป ซึ่งเป็นระบบการทำงานที่ฉลาดมาก”
ร้านของตูน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อนาคตเป็นเรื่องที่ทุกคนคิดถึงเวลาทำงานไปได้พักหนึ่ง เชฟตูนเองก็เช่นเดียวกันที่ทำงานต่างประเทศไปได้สักพัก ก็เริ่มคิดถึงอนาคตของตัวเองขึ้นมา
“อยู่ที่โน้นมันสนุก ได้ทำอาชีพที่ชอบ แต่ยอมรับว่า ไม่มีอนาคตเลย ทำงานไปก็ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน เพราะค่าครองชีพที่นั่นสูงมาก ถามว่ามีความสุขไหม มีความสุข ได้รับประทานอาหารดีๆ ตลอด แต่ผมมองไม่เห็นอนาคตเลย ผมจะใช้เงินเดือนชนเดือนแบบนี้ไปจนแก่ตายเหรอ ก็ไม่อยากนะ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมกลับมาที่เมืองไทย ซึ่งที่บ้านก็ตื่นเต้นมาก ไม่คิดว่าจะกลับ เพราะพ่อและแม่รู้ว่า ปล่อยเสือเข้าป่าไปแล้ว มันไม่กลับมาแน่ๆ (หัวเราะ)”
อนาคตของเชฟตูนจึงถือกำเนิดขึ้นกับร้าน Taper Restaurant & Bar ที่เป็นร้านอาหารสไตล์เอเชียผสมกับกลิ่นอายตะวันตกนิดๆ เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของอาชีพเชฟ แต่ใช่ว่าร้านนี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแค่การก่อตั้งร้าน ก็เป็นอุปสรรคชิ้นแรกให้ชายหนุ่มคนนี้ต้องรับมือกับมันเสียแล้ว
“มันเริ่มตั้งแต่ตอนก่อสร้างร้านเลย คือช้า ยาก และบานปลาย กว่าร้านนี้จะพร้อมให้บริการได้ตกประมาณครึ่งปี แล้วตอนนั้นก็ออกจากร้านเดิมแล้วด้วย ผมลอยแพอยู่ประมาณครึ่งปีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าตกงานเสียทีเดียว ก็ยังมีงานสอนหนังสือ และถ่ายรายการอยู่บ้างประปราย ยังพออยู่ได้
“พอเปิดร้านจริงๆ ก็จะมีปัญหาพื้นฐานเลยคือ ลูกน้องบางคนไม่ถูกกัน ไม่พอใจกัน ก็พยายามปรับๆ กันไป หรืออย่างเดือนนี้ฝนตกบ่อย ลูกค้าน้อย ก็ต้องพยายามรับมือกันไป อาจจะมีขึ้นมีลงบ้าง แต่ผมมองว่า เป็นเรื่องปกติ และผมโชคดีอีกอย่างคือ ไม่เคยเจอลูกค้าด่าหรือว่าอาหารรสชาติไม่ดีเลย”
อาชีพเชฟน่าจะเต็มไปด้วยความเครียดและความกดดัน ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง เมื่อสอบถามถึงเชฟตูนหลังจากทำร้านอาหารมาได้ระยะหนึ่ง เขาบอกว่า การคิดเมนูถือเป็นเรื่องที่เครียดที่สุด
“หลายคนบอกว่า ความพึงพอใจของผู้รับประทานน่าจะทำให้เครียดมากกว่า แต่ต้นสายปลายเหตุของมันที่แท้จริงคือ เมนู ผมจะขายอะไรดี เรื่องนี้คือเรื่องเครียดสำหรับผมเลย เมนูคือสิ่งที่จะต้องก้าวต่อไป เปลี่ยนต่อไปเรื่อยๆ ผมไม่อยากให้ร้านนี้เป็นร้านอาหารที่มีเมนูเดิมอยู่ตลอด อาจจะมีคงไว้บ้าง แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ มีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอให้กับลูกค้าบ้าง ตรงนี้แหละที่เครียด แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ลูกค้าจะชอบมันหรือเปล่า นั่นคืออีกเรื่อง
“อย่าลืมว่า รสนิยมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ทุกอย่างที่ผมทำออกไป คือชื่อเสียงของร้าน เป็นหน้าตาของผม ถ้าทำอะไรไม่ดีออกไป ชื่อเสียงก็จบลงเพียงเท่านั้น แถมยังโดนว่ากลับมาอีก ไม่คุ้มหรอก ทำให้ดี คิดให้รอบถ้วนตั้งแต่ต้นดีกว่า”
เก็บความเครียดไว้กับตัวนานๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่ แต่เชฟตูนกลับบอกว่า เรื่องนี้ที่เป็นเรื่องที่ผ่อนคลายยาก และบางทีอาจจะระบายออกมาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
“ทำอาชีพนี้ยอมรับว่า ค่อนข้างโรคจิตนิดๆ คือเห็นอะไรแล้วจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่า นำสิ่งนี้มาทำอะไรดี หรือนำมาทำดีไหม คือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความคิดอยู่ตลอด อย่างสปาเก็ตตี้น้ำพริกอ่อง ก็ใช้เวลาคิดอยู่นานเหมือนกันกว่าจะได้ออกมา ฉะนั้นทางแก้ที่ดีที่สุดคือ พยายามไม่คิด แต่ก็อดคิดไม่ได้อยู่ดี (หัวเราะ)”
ครูตูน
ในบทบาทเชฟ ต้องส่งต่ออาหารที่ดีไปยังผู้รับประทาน แต่บทบาทของครู ต้องส่งต่อความรู้ที่ดีไปยังเหล่านักศึกษา ซึ่งครูตูนบอกว่า หมวกใบนี้เป็นอะไรที่หนักหนานัก
“เมื่อผมมองย้อนตัวเองไปถึงสมัยก่อน ยอมรับเลยว่า เห็นสิ่งที่ตัวเองทำกับครูนั้นช่างสาหัสนัก และเมื่อได้มาเป็นครูแล้ว น่าปวดใจยิ่งกว่ากับสิ่งที่นักศึกษาได้ทำลงไป เป็นเหมือนกรรมเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อก่อนผมคิดว่า อาจารย์คงไม่รู้ไม่เห็นจริงๆ แต่แท้จริงแล้ว เขารู้ เขาเห็นนะ แต่เขาไม่พูด พอได้มาทำหน้าที่นี้ เหมือนเห็นตัวเองในวัยเด็กอย่างไรอย่างนั้นเลย ผมเลยเข้าใจบทบาทของครูมากขึ้น”
“ด้วยสไตล์การสอนของผม ทุกคนต้องอยู่ในพื้นฐานและกฎระเบียบ แต่ก็จะมีการคุยเล่น เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นมิตรมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเล่นกับนักศึกษาจนเกินไป มันต้องมีขีดจำกัดของหน้าที่ที่ทำอยู่”
สอนมาได้ 3-4 เทอมโดยประมาณ เป็นประสบการณ์การเป็นครูที่ไม่น้อยเลยทีเดียว และครูตูนก็มักจะสำรวจผลตอบรับของเหล่านักศึกษาเสมอ และนักศึกษาทุกคนพุดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“หลายคนบอกผมโหด ดูไม่น่าเชื่อว่าจะโหด แต่ถ้าอยู่ในการสอนเมื่อไหร่ ผมจะเป็นอีกคนเลย อย่างถ้าเด็กทำความสะอาดเสร็จแล้วพูดว่า เชฟคะ เสร็จแล้วค่ะ ผมจะเดินสำรวจก่อน แล้วถ้าผมเห็นอะไรที่ไม่เรียบร้อย ผมจะถามเขาว่า แน่ใจนะ ถ้าเขาตอบกลับมาว่า แน่ใจเมื่อไหร่ ผมจะโมโหทันที และถามเขาเลยว่า นี่อะไร รวมถึงตักเตือนเขาเดี๋ยวนั้นเลย เพราะผมอยากให้ทุกคนมีระเบียบวินัย และเป็นคนที่มีคุณภาพจริงๆ”
เป็นทั้งครูสอนนักศึกษา เป็นทั้งเชฟร้านอาหาร นี่ยังไม่รวมถึงงานอื่นๆ ที่รอจ่อคิวกันมาอีกมากมาย ดูท่าพลังของเชฟผู้นี้จะไม่มีวันหมดลงง่ายๆ
“เหนื่อยแต่คิดว่ายังไหวอยู่ ทุกวันนี้ก็หาทำเลเปิดร้านเพิ่ม ทำกิจการที่บ้าน หุ้นกับเพื่อนทำธุรกิจ ซึ่งผมคิดว่า ตัวเองยังไหวอยู่ ยังมีแรงก็ทำต่อไปเรื่อยๆ คือสมัยนี้คนเราไม่ได้ทำงานเพียงอาชีพเดียวแล้ว บางคนก็ทำอะไรหลายๆ อย่างควบคู่กันไป อย่างตอนนี้ นักศึกษาปิดเทอมอยู่ ผมก็ทำงานที่ร้านไป เดี๋ยวเดือนสิงหาคม นักศึกษาเปิดเทอมแล้ว ผมก็ไปสอนต่อ
“รายการก็มีทำประจำอยู่ หรือถ้ามีรายการอะไรเพิ่มเติม แล้วมีเวลา ผมก็ทำนะ มีอีเว้นท์ให้ไป ผมก็ไปหมด คือต้องทำให้ได้ ถามว่า เหนื่อยไหม เหนื่อยนะ แต่ผมมีความสุขที่ได้ทำ”
เชฟคือความฝันของเด็กรุ่นใหม่ใน พ.ศ.นี้ อยากมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง อยากมีธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเชฟตูนมองว่า ทำได้ทุกคน แต่สิ่งที่น้อยคนนักจะมี นั่นคือ ความเสียสละ ตั้งใจ และความทุ่มเท
“อยากบอกว่า ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับความเหนื่อยก่อน เพราะเชฟไม่ใช่แค่ทำอาหารให้อร่อย ไม่ใช่ว่าบ้านรวย ไปเรียนคอร์สมา 3-4 เดือน แล้วมาเปิดร้าน คุณต้องผ่านอะไรหลายๆ อย่าง การทำงาน ประสบการณ์ ถึงจะเรียกว่า คุณคือเชฟ มันไม่ใช่ว่า คุณเรียกตัวเองฝ่ายเดียว แต่ต้องให้คนอื่นยอมรับในตัวคุณให้ได้ ดังนั้นคุณต้องทำได้ทุกอย่าง และยอมที่จะเสียสละเพื่องานของคุณเอง เพราะฉะนั้นคิดให้ดีก่อนตัดสินใจเดินทางนี้”
“ผมบอกกับลูกศิษย์หลายๆ คนอยู่ตลอด ถ้าคิดว่าเป็นเชฟ แล้วจะได้ทำอาหารสวยๆ เก๋ๆ นี่ เลิกฝันไปได้เลย ถ้าคิดอย่างนั้น ไปทำกับข้าวรับประทานอยู่บ้านน่าจะดีกว่า เพราะนั่นคือหน้าที่แม่บ้าน แต่คนเป็นเชฟ ต้องทำได้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ทำอาหารเพียงอย่างเดียว ทำเอกสาร สั่งของ จ่ายบิล คุณก็ต้องทำให้เป็น”
ท่วงทำนองของเชฟตูนบรรเลงใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ลูกค้าคนใหม่เดินเข้ามาภายในร้าน
ผู้สัมภาษณ์เดินออกนอกร้านไป ด้วยความอิ่มใจจากการสัมภาษณ์ และอิ่มกายจากอาหารที่ได้รับประทาน
Taper Restaurant & Bar
LOCATION
44/11 (1st Floor and mezzanine)
Soi Akkaphat (Thong Lor 13)
Bangkok, 10110
Tel : 099-929-5464
Email : info@taperbkk.com
Facobook : fb.com/taperbkk
Instgram : Taper_Restaurant
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Feel Good
เรื่อง : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช